ศาลฎีกาพิพากษายืนชาวบ้านไม่บุกรุกที่ดินถ้ำน้ำผุด จ.พังงา คดีพิพาท บ.กุ้ยหลินฯ
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชาวบ้านไม่บุกรุกที่ดินถ้ำน้ำผุด จ.พังงา คดีพิพาท บ.กุ้ยหลินฯ แม้คดีเอกชนชนะคดีอื่นแต่คนละแปลง ไม่ผูกพันกัน ไม่ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ พบแปลงหนึ่งขายให้ ก.คลัง ทำสถานีขนส่งผู้โดยสาร 29.6 ล. ขณะที่ บริษัทฯแจงก่อนหน้านี้ออกถูกต้อง
คดีพิพาทการถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดิน หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมืองพังงา จ.พังงา ของ บริษัท กุ้ยหลินพังงา จำกัด และเป็นโจทก์ร่วม แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน 4 คน ในข้อหาบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ เมื่อ 17 ก.พ. ปี 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2559 ว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) 3 แปลง (ฉบับ) ได้แก่ เลขที่ 21, เลขที่ 142 และ เลขที่ 144 รวมเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอน น.ส.3 เอากลับมาเป็นที่ของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ล่าสุดศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในประเด็นจำเลยไม่บุกรุกที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2561 สาระสำคัญว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่
โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อประมาณเดือน ธ.ค.2554 ถึงกลางเดือนมกราคม 2555 จำเลยทั้งสี่ใช้ตาข่ายสีดำขึงปิดล้อมที่ดินของโจทก์ร่วมด้านถนนเทศบำรุง และ จำเลยที่ 1 ที่2 นำรถแบ็คโฮไปขุดดินในที่ดินหลังตาข่ายเป็นร่องน้ำ ลักษณะกันไม่ให้โจท์ร่วมเข้าไปในที่ดินและนำป้ายมาติดมีขอความว่า “เป็นที่ดินส่วนบุคคลห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต” ทำประตูเหล็กด้านหน้าที่ดิน โจทกร่วมทำประโยชน์โดยการปลูกต้นมะพร้าวและต้นจากในที่ดินพิพาทแต่จำเลยทั้งสี่ร่วมกับบุกรุกเข้าไปในที่ดินแล้วก่อสร้างบ้านพัก แผ้วถางและฟันต้นไม้กับพืชผลอาสินของโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย
ส่วนจำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยทั้งสี่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งต่างแบ่งแยกกันครอบครองโดยปลูกตต้นมะพร้าว ต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นมะม่วง และต้นกล้วย ตั้งแต่ประมาณปี 2545 ตลอดมา ต่อมาปี 2548 โจทก์ร่วมขอออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสี่และชาวบ้านคัดค้าน โจทก์ร่วมจึงเจรจากับชาวบ้านเพื่อหาข้อยุติ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของชาวบ้านและทำบันทึกข้อตกลงโดยมีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมจะแบ่งที่ดินเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ ให้แก่ชาวบ้านที่ครอบครองที่ดิน แต่โจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยทั้งสี่จึงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิพิพาทตลอดมา ต่อมาวันที่ 26 พ.ค.2555 โจทก์ร่วมนำรถแบ็คโฮไปขุดต้นมะพร้าว ร่องน้ำ และรื้อตาข่ายสีดำในที่ดินที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ครอบครองทำประโยชน์
เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสี่ยังนำสืบโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ แม้ทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ) ที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ตามความหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา ลงวันที่ 21 ม.ค.2555 ว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงทำให้มีข้อสงสัยว่าที่ดินพิพาท มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาโดยชอบหรือไม่ แม้ศาลฎีกาจะเคยวินิจฉัยว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 138,140,142,143 และ144 เป็นไปโดยถูกต้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3280/2556 ระหว่างบริษัท กุ้ยหลินพังงา จำกัด โจทก์ นายสุจิต ชนะกิจ ที่ 1 นางเยาวภา ชนะกิจ ที่ 2 จำเลยก็ตาม แต่จำเลยทั้งสี่ ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งคดีดังกล่าวพิพาทกันในที่ดินแปลงอื่น ไม่ใช่ที่ดินพิพาท ทั้งไม่ปรากฎว่าข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าชายเลนหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง
นอกจากนี้การที่โจทก์ร่วมเคยตกลงที่จะแบ่งที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นก็แสดงว่าโจทก์ร่วมยอมรับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเช่นกัน ดังนี้ จึงยังไม่ได้ความชัดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมหรือไม่ กรณีเป็นเรื่องทางแพ่ง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยมีเจตนาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเขนว่าโจท์ร่วมขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ) ที่ดินพิพาทมาชอบหรือไม่ โจทก์ร่วมย่อมขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน แต่ไม่ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดพังงา โจทก์ บริษัทกุ้ยหลินพังงา จำกัด โจทก์ร่วม ฟ้องชาวบ้าน 4 คน ได้แก่ นายกุศล ค้าไกล นายพีระวัฒน์ พงศ์สิริเดช หรือนายวิทฑูรย์ หมายดี นายบัญชา ถิ่นลิพอน และ นายแสงอรุณ ทองมี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในข้อหาบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ ที่ดินพิพาท 60 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมืองพังงา จ.พังงาที่มีชื่อบริษัท กุ้ยหลินพังงา จำกัด เป็นผู้ถือครอง ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษากลับว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่มีชื่อบริษัท กุ้ยหลินพังงา จำกัด ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจเพิกถอนเสียได้
“เชื่อว่าที่ดินพิพาทรายนี้ยังเป็นที่ดินของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ประกอบประมวลหมายที่ดิน มาตรา 2 ที่บัญญัติว่าที่ดินซึ่งไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ ซึ่งที่ดินพิพาทนี้ยังไม่มีบุคคลใดรวมทั้งโจทก์ร่วมได้สิทธิในที่ดินมาตามกฎหมายที่ดิน จึงไม่อาจมีการกระทำความผิดฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องได้ โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสิ้น จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย”
และมีคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้น
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในห้วงคดีอยู่ระหว่างพิพาท เอกชนได้นำ น.ส.3 จำนวน 3 แปลง ไปยื่นรังวัดออกเป็นโฉนด และได้รับแจกเป็นโฉนดจำนวน 6 แปลง (ฉบับ) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2557 ต่อมา เอกชน นำโฉนด 1 แปลง ได้แก่โฉนดเลขที่ 18630 และโฉนดแปลงอื่น เลขที่ 18633 ไปขายต่อให้กระทรวงการคลัง ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2558 ในราคา 29.6 ล้านบาท ซึ่ง โฉนดเลขที่ 18630 ดังกล่าวออกมาจาก น.ส.3 เลขที่ 21 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า เป็น น.ส.3 ฉบับที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนโฉนดเลขที่ 18633 ที่ขายให้กระทรวงการคลังอีกหนึ่งแปลงนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตรวจสอบพบว่าออกโดยมิชอบ เป็นการออกโฉนด โดยไม่มีหลักฐานเดิม และไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เป็นพื้นที่เขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2530 และวันที่ 22 ส.ค. 2543 ขอให้กรมที่ดินใช้อำนาจหน้าที่เพิกถอนโฉนดที่ดินตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฏหมายที่ดิน ส่งเรื่องให้กรมที่ดินใช้อำนาจหน้าที่เพิกถอน และอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 6 แปลง
นอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ยื่นร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ให้เข้ามาตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งกรณีเอาที่ดินไปขายให้กระทรวงการคลังทำสถานีขนส่งผู้โดยสาร 29.6 ล้านบาทด้วย
ขณะที่ทางบริษัท กุ้ยหลินฯชี้แจงว่า น.ส.3 ของบริษัทฯ ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ในคดีแพ่งที่บริษัทฯเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ นายสุกิจ และนางเยาวภา ชนะกิจ จำเลย บุกรุกที่ดินของบริษัทฯแปลงในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ น.ส.3 เลขที่ 138 หมู่ที่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมืองพังงา เนื้อที่ 33 ไร่ 60 ตารางวา ศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2556 ให้ผู้บุกรุกออกไปจากพื้นที่ และยังระบุว่า น.ส.3 เลขที่ดังกล่าวของบริษัทออกถูกต้องตามแบบแผน ขั้นตอนของทางราชการ รวมทั้ง น.ส.3 แปลงอื่น ๆด้วย
อ่านประกอบ:
ถึงมือดีเอสไอสอบปมออกโฉนดถ้ำน้ำผุด พังงา-ขาย ก.คลังทำสถานีขนส่ง 29.6 ล.
ปมพิพาทที่ดิน จ.พังงา! บ.กุ้ยหลินฯแจง น.ส.3 ออกถูกต้อง อ้างคำพิพากษาฎีกาคดีแพ่ง
กรมทรัพยากรฯส่งหนังสือจี้อธิบดีที่ดินเพิกถอนโฉนด จ.พังงา ฉบับทำสถานีขนส่งฯ
ดูชัดๆ ปมซื้อที่ดินถ้ำน้ำผุด พังงา ทำสถานีขนส่ง 29.6 ล. - น.ส.3 มิชอบ ใครเอี่ยว?
รองปลัด มท.ปัดแจงปมซื้อที่ดิน 29.6 ล.ถ้ำน้ำผุด พังงา-บิ๊ก ขรก.โยน ก.ขนส่ง ชง
สัญญามัด 29.6 ล.! ค่าซื้อขายที่ดิน ถ้ำน้ำผุด จ.พังงา ทำสถานีขนส่งฯ ก่อน นส.3 มิชอบ
โฉนดถ้ำน้ำผุด จ.พังงา ออกจาก น.ส.3 ฉบับมิชอบ ถูกขาย ก.คลัง ทำสถานีขนส่ง
เปิด ส.ค.1 เจ้าปัญหา! ขีดฆ่า-แก้ไขตำบลใหม่ ใช้ออก น.ส.3 คดีที่ดิน จ.พังงา
ภาพโฉนด 6 ฉบับ ถ้ำน้ำผุด จ.พังงา บ.อสังหาฯใหญ่ ออกจาก น.ส.3 มิชอบ
เผยโฉม น.ส.3 ถ้ำน้ำผุด พังงา ออกมิชอบ บ.อสังหาฯใหญ่ ก่อนเป็นโฉนด 6 ฉบับ
เปิดภาพชุดที่ดิน ถ้ำน้ำผุด จ.พังงา โฉนดโผล่ 6 แปลง อยู่ในเขตป่าชายเลน
โผล่อีก จ.พังงา!ศาลอุทธรณ์สั่งเพิกถอน น.ส.3 บ.อสังหาฯใหญ่พันล.ออกมิชอบ