จีที 200 เอาผิดแค่คนขาย แต่คนซื้อลอยนวล?
ช่วงนี้มีข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ คือคำพิพากษาของศาลในคดีที่ "กรมราชองครักษ์" ฟ้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวก ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก "จีที 200" กระทั่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ กรรมการบริษัท เป็นเวลา 9 ปี และปรับอีก 18,000 บาท
สาเหตุที่สังคมให้ความสนใจคดีนี้ ก็เพราะเรื่องราวสะเทือนวงการความมั่นคงของ "จีที 200" เงียบหายไปนาน หลังจากตัวเครื่องถูกทดสอบในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งยืนยันชัดเจนว่า "ใช้งานไม่ได้จริง" มีค่าความแม่นยำน้อยกว่าการเดาสุ่ม หลังจากนั้นคนไทยทั้งประเทศก็ตั้งตารอว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ 15 แห่งที่จัดซื้อ "จีที 200" และอุปกรณ์แบบเดียวกันแต่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น อัลฟ่า ซิกส์ (Alpha 6) รวมๆ แล้วมากกว่า 1,300 เครื่อง
ฉะนั้นพอมีคดีที่ศาลตัดสินลงโทษเป็นคดีแรก (ที่เป็นข่าวดัง) ก็เลยมีคำถามต่อว่า แล้วคดีอื่นๆ ล่ะไปถึงไหนกันแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ย.61 มีคำแถลงจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ยังมีคดีที่กรมสรรพาวุธทหารบก ฟ้องบริษัทผู้จัดจำหน่ายและผู้บริหารชุดเดียวกัน ในความผิดฐานฉ้อโกงขาย "จีที 200" เช่นเดียวกัน โดยศาลพิพากษาจำคุกไปแล้วก่อนหน้านี้่เป็นเวลา 10 ปี และปรับ 72,000 บาท แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่ขายเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า ซิกส์ ที่เรียกกันว่า "ไม้ล้างป่าช้า" มาอย่างต่อเนื่อง
ดีเอสไอยืนยันว่า ทั้งคดีของกรมราชองครักษ์ และกรมสรรพาวุธทหารบก เป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ภายหลังหน่วยงานราชการที่จัดซื้อเข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่าอุปกรณ์ใช้งานไม่ได้จริง และดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 16 คดี มีหน่วยงานรัฐเป็นผู้เสียหายรวม 15 หน่วยงาน
รายชื่อหน่วยงานที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งก็คือผู้จัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก ได้แก่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กรมสรรพาวุธทหารบก, จังหวัดพิษณุโลก, กรมศุลกากร, กรมการปกครอง, กรมราชองครักษ์, จังหวัดเพชรบุรี, จังหวัดภูเก็ต, ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดยะลา, ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพเรือ และจังหวัดสุโขทัย
โดยคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากคดีของกรมสรรพาวุธทหารบก และกรมราชองครักษ์ ยังมีคดีของ ศรภ.ด้วย แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์
เป็นที่น่าสังเกตว่า ความคืบหน้าของคดี "ไม้ล้างป่าช้า - เครื่องตรวจระเบิดลวงโลก" ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ เป็นความคืบหน้าเฉพาะคดีที่หน่วยงานรัฐในฐานะผู้จัดซื้อ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและดำเนินคดีกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายในข้อหาฉ้อโกงเท่านั้น แต่คดีที่หลายคนตั้งตารออยู่ คือ "คดีทุจริต" ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะเชื่อว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ น่าจะจัดซื้ออย่างไม่โปร่งใส
แต่ท่าทีของ ป.ป.ช. จากคำสัมภาษณ์ล่าสุดของ นายสุรศักด์ ศรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กลับมองว่ากรณีนี้เอาผิดยาก เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ใช้ "จีที 200" มีความเชื่อถือในคุณภาพของเครื่อง ทำให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนกับสวมพระเครื่องออกรบ
เมื่อพูดถึง "จีที 200" ในมิติของความเชื่อ ก็ต้องพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสาเหตุหลักๆ ในการจัดซื้อ "จีที 200" จำนวนมากตามที่หน่วยงานรัฐอ้างกัน โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบกที่จัดซื้อมากที่สุดในยุค "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.นั้น ก็เพื่อไปใช้งานในภารกิจ "ดับไฟใต้ที่ปลายด้ามขวาน" เฉพาะช่วงปี 51-52 เคยซื้อล็อตใหญ่ที่สุดถึง 571 เครื่อง
ความคึกคักในการจัดซื้อและนำ "จีที 200" ไปใช้งานในภาคใต้ต้องหยุดชะงักลง เมื่อมีการนำ "จีที 200" ไปตรวจหาระเบิดที่คนร้ายประกอบใส่ในรถยนต์ นำไปจอดหน้าโรงแรมเมอร์ลิน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.52 แต่ตรวจไม่เจอระเบิด ทว่าคล้อยหลังไปเพียงไม่กี่นาทีก็เกิดระเบิดอย่างรุนแรงจาก "คาร์บอมบ์" ลูกนั้น สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่อง จีที 200 และพบว่าเป็นเครื่องตรวจระเบิดเก๊ลวงโลก กระทั่งมีการดำเนินคดีกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายขนานใหญ่ดังกล่าว
ประเด็นที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตก็คือ การจัดซื้อมีความโปร่งใสจริงหรือไม่ เพราะเครื่อง "จีที 200" ที่แต่ละหน่วยงานจัดซื้อมีราคาไม่เท่ากัน ตั้งแต่ราวๆ 400,000 บาท ไปจนถึง 1,200,000 บาท ซึ่งไม่น่าเป็นได้ที่อุปกรณ์แบบเดียวกันจะมีราคาแตกต่างกันได้ขนาดนี้ แม้ชื่อเรียกจะต่างกันบ้างก็ตาม โดยราคา 400,000 บาทเป็นราคาเสนอขายให้หน่วยงานรัฐบางหน่วยในช่วงต้นๆ ที่อุปกรณ์นี้ยังไม่โด่งดังและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ขณะที่ราคาขายจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 200,000 บาทเท่านั้น ส่วนต้นทุนจริงๆ แค่หลักพัน!!!
นอกจากนั้นยังมีบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับมีการจัดซื้อน้อยกว่าฝั่งกองทัพมาก ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะผู้รับผิดชอบในขณะนั้นให้ข้อมูลกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่า เป็นอุปกรณ์ลวงโลก ไม่สามารถตรวจระเบิดได้จริง
คำถามก็คือ เหตุใดบางหน่วยงานจึงไม่หลงเชื่อตามคำโฆษณาเหมือนอีกหลายๆ หน่วยงาน แล้วอย่างนี้หน่วยงานที่จัดซื้อจะต้องรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยหรือไม่
ข้อมูลจากดีเอสไอระบุว่า หน่วยงานราชการไทยจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดลวงโลกทั้งสิ้น 1,358 เครื่อง มูลค่าความเสียหายราว 1,137 ล้านบาท บางคนเรียกความเสียหายนี้ว่า "ค่าโง่"
คำถามคือ ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ "ค่าโง่" กว่าพันล้านนี้เลยหรือ ฟังขึ้นหรือไม่ที่บอกว่าถูกหลอกขายอย่างเดียว
----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (2) “จีที 200-เรือเหาะ-สติ๊กเกอร์” เครื่องมือเพื่อความมั่นคงในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง