ตรวจการบ้าน 7 วันมาตรการควบคุมพิเศษที่หนองจิก ปัตตานี
ผ่าน 7 วันไปแล้ว ตามประกาศของแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกส่งกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ 2 ตำบลของ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นกรณีพิเศษ
ห้วงเวลาของมาตรการคือระหว่างวันที่ 17-23 ก.ย.61 เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์คนร้ายซุ่มยิงทหารพราน สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4303 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 เสียชีวิต 2 นาย ได้รับบาดเจ็บอีก 4 นาย เมื่อค่ำวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา
ผลของมาตรการพิเศษ ด้านหนึ่งฝ่ายทหารออกมาแถลงก่อนหน้านี้ว่าสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 8 คน ในจำนวนนี้ยอมรับสารภาพ 4 คนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบยิงทหารพราน โดยเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่จัดหายานพาหนะ และดูต้นทาง
ส่วนมาตรการอีกด้านหนึ่ง มีการสั่งการให้ชาวบ้าน 2 ตำบลในพื้นที่ควบคุม คือ ต.บางเขา กับ ต.ท่ากำชำ นำอาวุธปืน เครื่องกระสุน และยานพาหนะ ทั้งรถ เรือ รถจักรยานยนต์ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
2 ตำบลมีปืนเกือบ 150 กระบอก
ผลการปฏิบัติในส่วนนี้ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยอาวุธปืน มีการเปิดจุดตรวจปืน ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก ปรากฏว่าในพื้นที่ ต.ท่ากำชำ มีอาวุธปืนที่มีทะเบียนถูกต้อง และอนุญาตให้ใช้ได้ในพื้นที่ อ.หนองจิก ทั้งปืนสั้น ปืนยาว ปืนลูกซอง รวมทั้งหมด 55 กระบอก นอกจากนั้นยังมีอาวุธปืนที่มีทะเบียนแต่เป็นทะเบียนนอกพื้นที่อีก 11 กระบอก
ขณะที่ ต.บางเขา มีอาวุธปืนยาวและปืนสั้นที่มีทะเบียน และได้รับอนุญาตให้ครอบครองในพื้นที่นี้จำนวน 71 กระบอก มีปืนนอกพื้นที่อีก 9 กระบอก โดยอาวุธปืนที่ชาวบ้านนำมารายงานทั้ง 2 ตำบล ยังไม่พบความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องยานพาหนะ ทั้งเรือ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์นั้น เจ้าหน้าได้เข้าไปขึ้นทะเบียนตามจุดบริการต่างๆ ซึ่งเปิดให้บริการหลายจุดในพื้นที่ ส่วนใหญ่ที่พบปัญหาคือ "เรือ" เพราะชาวบ้านไม่ได้ต่อทะเบียน โดยทั้ง 2 ตำบลมีเรือพาย เรือมีเครื่องยนต์ และเรือไฟเบอร์ รวมประมาณ 300 ลำ
นายอำเภอยันชาวบ้านได้ประโยชน์
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก ซึ่งได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหา และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการพิเศษ ยืนยันว่า ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี
"การปฎิบัติตามยุทธการครั้งนี้ทำให้ได้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น และพบว่ามีอาวุธจากนอกพื้นที่เข้ามา อีกด้านหนึ่งที่ทำไปพร้อมกันคือการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน และเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้เสียหาย ส่วนเรื่อการตรวจเรือ รถยนต์ และยานพาหนะต่างๆ ก็ได้แนะนำให้ประชาชนดำเนินการให้ถูกต้อง สร้างความเข้าใจและคลี่คลายความหวาดระแวง ให้ทราบในความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถออกเรือทำมาหากินได้ตามปกติ" นายอำเภอหนองจิก กล่าว
นายเอก กล่าวต่อว่า การกำหนดให้ 2 ตำบลเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ถือว่าเป็นผลดีกับชาวบ้าน เช่น บ้านตันหยงเปาว์ เรือส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่า เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดให้มาลงทะเบียนไว้ เมื่อเข้าออกปากอ่าว มีการตรวจตรา ก็สามารถดูได้ว่ามีหมายเลขกำกับในแต่ละลำแล้ว ส่วนที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ ก็ให้ชาวบ้านไปอุทธรณ์เพื่อให้ได้ทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าจนถึงสิ้นเดือนนี้ และกำลังประสานให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่ามารับเรื่องที่อำเภอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวประมง เมื่อถึงปีหน้าที่รัฐบาลบอกว่าจะเปิดขึ้นทะเบียน จะได้พร้อมไปได้ทันที
เตือนอย่าให้ใครใช้พื้นที่ทำความชั่ว
"ใครที่เอาเรือไปใช้ด้วยวัตุประสงค์ผิดๆ ถือเป็นการทำร้ายชุมชนและสังคม อย่าใช้สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ชาวบ้านและชุมชนต้องปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ ซึ่งสำคัญกว่าตำรวจ ทหาร เพราะไม่ได้ดูแลตลอดเวลา ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่างหากที่จะช่วยป้องกันเหตุร้ายได้ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาก็สามารถตรวจสอบได้ ไม่ให้ใครมาใช้พื้นที่ทำความชั่วร้าย เป็นเรื่องของชาวบ้านที่ต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง" นายอำเภอหนองจิก กล่าว
ชาวบ้านยืนยันทำมาหากินได้ตามปกติ
ด้านเสียงจากชาวบ้านพื้นที่ นายดอเลาะ อาแว ชาวบ้านตันหยงเปาว์ หมู่ 4 ต.ท่ากำชำ บอกว่า ในตันหยงเปาว์มีเรือประมงทุกประเภทประมาณ 100 ลำ จดทะเบียนถูกต้องกับกรมเจ้าท่าจำนวน 33 ลำ ฉะนั้นเมื่อมีการให้นำเรือมาตรวจสอบ จึงเป็นผลดี และชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
"เมื่อมีการแจ้งข่าวสารเรื่องการตรวจทะเบียนเรือตามที่ประกาศ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือนำเรือมาจอดและทำประวัติ ลงทะเบียนกันใหม่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของทางเจ้าหน้าที่ เมื่อลงทะเบียนเสร็จ ก็จะมีการพ่นสีที่ตัวเรือแต่ละลำเป็นตัวย่อ เช่น ท 4016 ความหมายตามลำดับคือ ต.ท่ากำชำ หมู่ 4 เรือลำดับที่ 16 เวลาตรวจสอบตอนเข้า-ออกปากอ่าวจะได้ง่าย และรู้ว่าเรือลำนี้ผ่านการตรวจทะเบียนมาแล้ว" ดอเลาะ กล่าว
สำหรับการใช้ชีวิตในห้วง 7 วันที่ผ่านมา ดอเลาะ บอกว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ออกเรือไปทำประมงได้ มีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบบ้าง ก็คือชาวบ้านที่ใช้เรือพายหาปลาในคลอง เพราะหวาดกลัว เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่พายเรือลาดตระเวนไปมา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาทั้งวัน มาเป็นช่วงเวลา ฉะนั้นอย่าไปสร้างกระแสว่าทำมาหากินอะไรไม่ได้ วิถีประมงยังออกเรือทำมาหากินได้ทุกวัน" ชาวประมงจากบ้านตันหยงเปาว์ ย้ำ
บ่นเป็นจำเลยทั้งหมู่บ้าน
นายประเสริฐ เจะหยาง ชาวประมงอีกราย บอกว่า สามารถออกเรือทำมาหากินได้ตามปกติ เมื่อไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมายก็ไม่เดือดร้อน เจ้าหน้าที่ทำตามหน้าที่ ชาวบ้านก็ทำมาหากิน
"เหตุเกิดที่อื่น แล้วมาตั้งกฏเกณฑ์กับที่นี่ ถูกมองว่าที่นี่เป็นพื้นที่สีแดงไปด้วย เราก็พูดไรไม่ได้ ตกเป็นจำเลยสังคมทั้งหมู่บ้าน คนที่ทำมาหากินตามคลอง ตามป่า ไม่ใช่เป็นคนไม่ดี แต่เมื่อพบเจ้าหน้าที่ ถูกซักถาม พูดภาษาไทยไม่ได้ก็ตอบคำถามกันยาก" เขาเล่าถึงข้อจำกัดที่ต้องพบเจอ
มองรัฐยังสร้างเงื่อนไข
นายอับดุลเลาะ (สงวนนามสกุล) กล่าวว่า การเปิดยุทธการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงครั้งนี้ถือว่าหนักกว่าครั้งไหนๆ เหมือนในพื้นที่เกิดสงคราม ช่วง 2-3 วันแรกชาวบ้านเครียดมาก ไม่กล้าออกไปหาปลาในทะเล แต่วันหลังๆ สถานการณ์ก็ดีขึ้น
"เจ้าหน้าที่เข้ามาเยอะ บางกลุ่มก็ซุ่มอยู่ในป่า ในน้ำ และเฝ้าเป็นจุดๆ ชาวบ้านบางคนก็กลัว ไม่กล้าทำอะไร บางคนที่กล้าหน่อยก็ใช้ชีวิตปกติ ตอนที่เขาให้เอาปืน เอารถ เอาเรือออกมาลงทะเบียน เพราะอะไรก็ไม่เข้าใจนะ แต่ในความรู้สึกของขาวบ้าน ทำแบบนี้มันยุงยาก ทำให้เสียเวลาทำมาหากิน จริงๆ จะว่าไปพื้นที่นี้ก็มีเหตุรุนแรงไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ การประกาศใช้มาตรการพิเศษจะสามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ หรือเป็นการพยายามผลักชาวบ้านให้ไปร่วมกับคนที่คิดต่างจากรัฐ ส่วนตัวมองว่าทำแบบนี้เหมือนเข้าทางกลุ่มขบวนการ รัฐยังคงสร้างเงือนไข"
อับดุลเลาะ บอกด้วยว่า สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลบเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้างเป็นช่วงๆ ชาวบ้านก็รู้ แต่ใครบ้างที่กล้าไปห้าม เพราะพวกเขาเข้ามาอยู่กับชาวบ้านตลอดเวลา แต่เจ้าหน้าที่มาเดี๋ยวเดียวก็ไป แถมยังมองว่าชาวบ้านเป็นโจร แล้วจะให้ชาวบ้านทำอย่างไร
ทหารชื่นใจชาวบ้านร่วมมือดี
เจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในบ้านตันหยงเปาว์ เล่าว่า 7 วันที่ผ่านมาไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่มีการปิดล้อมตรวจค้น มีแต่การตรวจสอบเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านบางรายชี้แจงว่าไม่มีรถจักรยานยนต์มารายงาน เพราะให้ลูกนำไปใช้ในพื้นที่ที่อื่น เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร ก็บอกให้เอาคู่มือประจำรถและเล่มทะเบียนมาเพื่อตรวจสอบให้ถูกต้อง
"บางบ้านมีหลายคันก็เอามาจดแจ้งทั้งหมด คู่มือหายก็เอาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านมาแทนได้ การขึ้นทะเบียนแบบนี้สามารถทราบยอดได้ดีกว่าขอข้อมูลจากกรมการขนส่งททางบก เพราะเป็นยอดเฉพาะพื้นที่ ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก เช่น การจดทะเบียนเรือ ก็นำเรือมาจดกันมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ชื่นใจที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี" เจ้าหน้าที่ทหาร ระบุ
รู้จักท่ากำชำ บางเขา ณ หนองจิก
สำหรับสาเหตุที่ อ.หนองจิก ตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของฝ่ายความมั่นคง นอกเหนือจากเหตุการณ์ซุ่มยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อ.หนองจิก ยังถูกมองว่าเป็นแหล่งกบดานและฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะ "ทีมปัตตานี" ที่เชี่ยวชาญการประกอบระเบิด และวางระเบิดคาร์บอมบ์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีชื่อเกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรมครั้งสำคัญๆ หลายครั้ง แต่ระดับแกนนำก็หลบหนีไปได้ทุกที โดย "ทีมปัตตานี" จะเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก และ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ.59 ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้บุกทลายฐานฝึกและฐานประกอบระเบิดในป่าโกงกางริมทะเล บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก สามารถยึดอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่คาดว่าสามารถนำไปผลิตระเบิดได้กว่า 30 ลูก ถือเป็นการทลายฐานประกอบระเบิดและซูกซ่อนอุปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ นอกจากนั้นกลุ่มแกนนำที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.หนองจิก และใกล้เคียง ยังถูกออกหมายจับในคดีลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์หลายครั้ง ตั้งแต่คาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 55 คาร์บอมบ์หน้าห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อเดือน พ.ค.60 และเหตุการณ์ปล้นรถกระบะ 7 คันเพื่อทำคาร์บอมบ์ เมื่อเดือน ส.ค.ปีเดียวกัน
ขณะที่ ต.ท่ากำชำ 1 ใน 2 ตำบลที่ถูกประกาศมาตรการควบคุมพิเศษ มีหมู่บ้านทั้งสิ้น 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านท่ากำชำ หมู่ 2 บ้านปรัง หมู่ 3 บ้านท่ายามู หมู่ 5 บ้านบางราพา หมู่ 6 บ้านเกาะหม้อแกง และ หมู่ 7 บ้านปาแด มีประชากร 6,115 คน 859 หลังคาเรือน ชาวบ้านมีอาชีพหลักทำประมง และทำสวน มีพื้นที่ทั้งหมด 20,924 ไร่ ทิศใต้เป็นเขตติดต่อกับ ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สว่นทิศตะวันตกติดต่อกับ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา
ส่วน ต.บางเขา มี 9 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านบางไร่คลองขุด หมู่ 2 บ้านโคกจันทร์ หมู่ 3 บ้านบากง หมู่ 3 บ้านบางทัน หมู่ 4 บ้านตันหยงเปาว์ หมู่ 4 บ้านดอนยาง หมู่ 5 บ้านดอนนา หมู่ 6 บ้านสายหมอ และหมู่ 7 บ้านแคนา มีประชากร 10,990 คน 1,999 ลังคาเรือน มีพื้นที่ติดต่อกับทะเลฝั่งอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. 3 และ 4 บรรยากาศการขึ้นทะเบียนเรือที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
2 นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก
5 การตั้งด่านตรวจในพื้นที่ช่วงประกาศมาตรการพิเศษ
อ่านประกอบ :
หนุน-ค้านอัยการศึก...เกมลึกวัดพลังที่ชายแดนใต้
อัยการศึกคุมพื้นที่หนองจิกพ่นพิษ ชาวบ้านร้อง จนท.กวาดจับไม่ตั้งข้อหา