เปิดฟลอร์ก่อความดี ‘สตังค์’ จรงศักดิ์ รองเดช กับ 9 ต่อ Before After ‘จิตอาสาบริสุทธิ์’
“นี่คือยุทธศาสตร์ของกระบวนการทำ นี่คือนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก คือ เราจะทำความดีเดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันเสาร์สิ้นเดือน ทำไมต้องสิ้นเดือน เพราะเงินเดือนเราออก ในเมื่อไม่ต้องการจ้างใคร ไม่ต้องการให้ใครมาสนับสนุน เราก็ต้องออกเงินของเราเอง จากศุกร์เมา...เสาร์นอน...อาทิตย์ถอน...จันทร์ลา กลายเป็นศุกร์เดินทางไปสร้างความดี...เสาร์นั้นสุขีทำความดีร่วมกับกัลยาณมิตร...อาทิตย์กลับบ้านสำราญใจ...จันทร์ทำงานไปเบิกบาน”
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ‘สตังค์’ จรงค์ศักดิ์ รองเดช ในบทบาทของผู้ถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านรายการอาหาร ‘ภัตตาคารบ้านทุ่ง’ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส แต่ทราบหรือไม่ว่า ผู้ชายสุ้มเสียงสำเนียงทองแดงผู้นี้ยังถูกจัดให้เป็น 100 คนไทย หัวใจนวัตกรรม ของโลกศตวรรษที่ 21
‘9 ต่อ Before After’ เป็นหนึ่งในโครงการจากนวัตกรรมทางความคิดของสตังค์ ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ต.ค. 2561 ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
เจ้าตัวกล่าวกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ เป็นที่แรกด้วยน้ำเสียงอันมุ่งมั่นถึงการขับเคลื่อนโครงการฯ ว่า “9 ต่อ Before After เป็นโครงการจิตอาสาบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ได้ต้องการสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวาทกรรมหรือหลอกลวงใคร แต่เป็นการทำความดีโดยไม่มีใครจ้าง”
โดยใช้หลักบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) เชื่อมร้อยเรื่องราวต่าง ๆ นำร่องใน 3 ชุมชน (ชุมชนไทยประจัน จ.ราชบุรี ชุมชนไทยเบิ้ง จ.ลพบุรี และชุมชนบ้านนา จ.ตรัง) 1 วัด (วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก) และ 10 มหาวิทยาลัย ซึ่งมีองคาพยพกว้างกว่าระดับประถมศึกษา
เริ่มต้นโครงการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2560 หลังจากวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครบ 1 ปี
การทำความดีโดยไม่มีใครจ้างแตกต่างจากการทำความดีโดยมีใครจ้างอย่างไร สตังค์ อธิบายให้เห็นภาพชัดในประเด็นนี้ว่า การทำความดีโดยมีใครจ้าง คือ การทำ Corporate Social Responsibility (CSR) ขององค์กร ซึ่งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถูกกำหนดต้องคืนกำไรให้แก่สังคม 1-2% ต่อปี ทำให้บริษัทคิดคืนกำไรโดยมีกลยุทธ์อันแยบคายด้วยการทำ CSR เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร
ยกตัวอย่าง บริษัทเอกชนจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน “เราจะเห็นว่า หนึ่งในกิจกรรมจิตอาสา นึกไม่ออก บอกเลย ปลูกป่าชายเลน” มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีโอกาสได้พูดคุยกับแหล่งข่าวในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านถามว่า สตังค์รู้หรือไม่ว่า ทำไมที่นี่ปลูกป่าไม่เต็มเสียที คำตอบจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อปลูกแล้วถอน เพราะมีการจ้าง มี CSR จึงไม่มีอะไรถาวร
“ปลูกแล้วถอน เพราะพื้นที่ปลูกป่าชายเลนมีจำกัด บริษัท A เข้ามาทำ CSR ต้องการปลูกพันธุ์กล้า 3,000 ต้น ต้นละ 5 บาท ชาวบ้านได้รับค่าแรง บริษัท B เข้ามาอีก ต้องการปลูกพันธุ์กล้าอีก 3,000 ต้น จะเห็นว่า มีเงินสะพัด แต่ทำอย่างไร ในเมื่อพื้นที่มีจำกัด วิธีการจึงต้องถอนทิ้ง เมื่อมีความต้องการของลูกค้าที่เป็นองค์กรมาถึง แต่ชาวบ้านไม่โง่ เพราะได้รับทุน กล้าพันธุ์ล้วนต้องซื้อและจ้างชาวบ้านปลูก เรียกทฤษฎีนี้ว่า ‘สมคบคิด’ ชาวบ้านสมคบคิดกับบริษัท แต่ประเทศชาติบรรลัย เพราะการสร้างภาพหลอกลวง”
ด้วยเหตุนี้ สตังค์คิดว่า พอกันที! กับการทำความดีโดยมีใครจ้าง ดังนั้น เราจึงหันมาส่งเสริมการทำความดีโดยไม่มีใครจ้าง โดยมีนายจ้างคือ จิตสำนึก จากภายในของเรา และผลรางวัลที่นายจ้างผู้นี้จะได้รับ คือ ความภาคภูมิใจ “จิตสำนึกเตือนเรา เมื่อทำตัวเป็นประโยชน์แล้ว จะเกิดความรู้สึกทันทีว่า เรามีคุณค่า แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะไม่อยากตาย แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีคุณค่า ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งที่เขาสร้างประโยชน์ได้ จะไม่มีทางอยากตาย”
ส่วน ‘บริสุทธิ์’ อย่างไรนั้น โครงการฯ จะไม่มีการขอรับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนใด ๆ เลย แต่ถ้ามีข้อเสนอให้ เราจะบอกกลับไปว่า “ช่วยไปทำโครงการอะไรก็ได้ ที่คุณอยากจะทำ แล้วขอความร่วมมือจากเราดีกว่า แต่เราไม่ปฏิเสธทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากมีกฎว่า ไม่รับเงิน”
...เราไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการทำประโยชน์ การทำประโยชน์ไม่จำเป็นต้องรับเงินจากใคร ถ้าทำประโยชน์แล้วรับเงิน สังคมจะตีตราทันทีว่า “คุณทำเพราะได้ทุน” และไม่ขอเรี่ยไรรับเงินบริจาค เพราะเมื่อเงินบริจาคเข้ามา ย่อมต้องข้องเกี่ยวกับความโปร่งใส ถ้าแจกแจงรายละเอียดได้ก็รอดไป ถ้าแจกแจงไม่ได้จะเกิดปัญหาความโปร่งใสอีก เงินไม่เข้าใครออกใคร แต่ถ้าเข้าแล้วมักไม่ค่อยออก...
เขากล่าวอีกว่า จะไม่ขายเสื้อและหมวกด้วย แต่จะทำแจกตามที่มีกำลังทรัพย์ ย้ำจะไม่มีการขายสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น ทุนมีเท่าไหร่ ทำเท่านั้น เพื่อไม่ให้ใครมาตราหน้าว่า “ทำเพื่อเงิน” เพราะความจริงคือเราไม่ต้องทำเพื่อเงินและไม่ต้องการเงินเลย แต่เราสละเงินเสียด้วยซ้ำ
ยกเว้น อาจมีการจัดเดี่ยวโมโคโฟนการกุศลเพื่อหาทุนสำหรับขับเคลื่อนโครงการฯ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดมอบให้ ‘9 ต่อ Before After’ 100% เพราะบางครั้งจำเป็นต้องใช้งบประมาณในเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทุน ซึ่งใครมองไม่บริสุทธิ์ เขาบอกว่า ไม่เป็นไร!!!
“นี่คือยุทธศาสตร์ของกระบวนการทำ นี่คือนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก คือ เราจะทำความดีเดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันเสาร์สิ้นเดือน ทำไมต้องสิ้นเดือน เพราะเงินเดือนเราออก ในเมื่อไม่ต้องการจ้างใคร ไม่ต้องการให้ใครมาสนับสนุน เราก็ต้องออกเงินของเราเอง จากศุกร์เมา...เสาร์นอน...อาทิตย์ถอน...จันทร์ลา กลายเป็นศุกร์เดินทางไปสร้างความดี...เสาร์นั้นสุขีทำความดีร่วมกับกัลยาณมิตร...อาทิตย์กลับบ้านสำราญใจ...จันทร์ทำงานไปเบิกบาน”
โดยเราเดินทางไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัดในวันเสาร์สิ้นเดือน ซึ่งจะไม่กระทบกับการทำงาน เช่น กิจกรรมอาสาทำความสะอาดปางช้าง จ.เชียงใหม่ จะเห็นว่า ทุกคนทำได้ ดังนั้น นวัตกรรมนี้จึงคิดมาเพื่อช่วยให้คนทำความดี ส่วนคนไม่ทำ มีเหตุผลเดียว คือไม่อยากทำ
นอกจากนี้โครงการฯ ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน เกิดกิจกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้หญิง เขายกตัวอย่างว่า ผู้หญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ จ.ชุมพร ตามลำพัง ทำงานประจำ อยากสร้างฟาร์มเห็ดให้ชุมชน แต่เธอมีเงินเพียง 3,000 บาท ถามว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ จะสร้างฟาร์มเห็ดได้หรือไม่ แต่หากนำเรื่องราวเหล่านี้เข้ามาสู่แอพพลิเคชั่น 9 ต่อ Before After’ ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนา จะทำให้ผู้ริเริ่มกิจกรรมกับผู้มองหากิจกรรมสามารถเจอกันได้
สตังค์ ชี้ว่า ถ้าแอพพลิเคชั่นนี้เกิดขึ้นจะทำให้ผู้หญิงอีกหลายคนที่มีความคิดดี ๆ สามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศชาติได้ และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาถามว่าเคยเกิดขึ้นแบบนี้หรือไม่ การทำให้เป็นวาระเปลี่ยนประเทศชาติได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
“ผมเน้นผู้หญิง แต่ไม่ละเลยผู้ชาย เพราะเห็นว่าการขับเคลื่อนประเทศชาตินั้น ผู้หญิงคิดดีมีเยอะ แต่ขาดการสนับสนุน จึงสร้างโปรดักชั่นส์ที่เป็นหญิง 100% ขึ้นมา หลายคนมีศักยภาพทางความคิดที่ดีเลิศมากกว่าผู้ชายล้านเท่า แต่ไม่มีโอกาส โครงการฯ จึงอยากสนับสนุนและบอกว่าคุณเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก เราอยากเห็นผู้หญิงเปลี่ยนแปลงโลกอย่างแท้จริง ถ้าเราทำได้ เชื่อว่าผู้หญิงสามารถลุกขึ้นมาแสดงศักยภาพบนเวทีได้อีกมหาศาล”
เขากล่าวต่อว่า หากคนหนึ่งทำได้ คนอื่นก็อยากทำได้ กลายเป็น ‘นวัตกรรม’ การสืบทอด ความคิดดี ๆ จากรุ่นสู่รุ่นไม่หมดสิ้น เหมือนกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ส่งต่อจากปู่ย่าตายายมาสู่รุ่นเรา ความดีงามเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับโครงการฯ ที่ต้องการย้ำว่า “ความดีงามของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่มีวันหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เพราะทุกหย่อมหญ้าที่ก้าวย่างไป ล้วนต่างเห็นเรื่องราวของความดี”
โดยโครงการฯ สามารถทำได้ทุกแห่งบนโลก น้ำครำในคลองแสนแสบก็ทำได้ โดยทำกับ ‘กัลยาณมิตร’ ไม่ใช่ทำกับใครที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก่อนที่พระอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้า แสงทองแรกเปรียบเสมือนกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรคือแสงทองแรก ถ้าเราคบกับกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราย่อมมีโอกาสเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นหนทางสู่การหลุดพ้น
“การทำความดีสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเอง เหมือนเราเปิดร้านขายของ ทำไมเราไม่เปิดร้านขายขนมจีนเหมือนกัน แต่ทำไมเรามีขายพิซซ่า โรตี ทุกอย่าง เพราะความหลากหลายคือความงดงาม การทำความดีควรจะเป็นความหลากหลายที่มีความงดงามตามจริตที่ตนเองชอบ”
ทั้งนี้ การทำจิตอาสาไม่ใช่แค่เก็บขยะ เราถึงบอกว่า 1 นวัตกรรม จะเกิดเป็นล้าน ๆ นวัตกรรม แล้วไม่ได้เกิดเพียงในประเทศ แต่เราจะเป็นประเทศแรกของโลกที่มีนวัตกรรมนี้เกิดขึ้น ลองนึกภาพว่า โอกาสที่ทำความดี โดยไม่ใช้เงิน แล้วเปลี่ยนแปลงโลกได้ เชื่อมั่นว่า ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้
พร้อมกับย้ำว่า การทำความดีไม่ใช่แค่กระแส และทำได้ตลอดชีวิต แต่การทำความดีเป็นการเพิ่มพลังมีชีวิตอยู่ของคนนั้น พลังงานในตัวคุณลดลง เพราะไม่สามารถศรัทธาอะไรได้ แต่การทำจิตอาสาทำให้เกิดศรัทธาในตัวคุณได้ว่าคุณมีประโยชน์ ความเห็นแก่ตัวจะลดลงแทนที่ด้วยการสร้างประโยชน์กับกัลยาณมิตร
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต แต่ความดีของพระองค์ไม่ตายตาม เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน 2,560 ปีมาแล้ว แต่ถามว่าคุณธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ยังคงเดินทางต่อเป็นศาสดาแทนพระองค์ ความดีจึงไม่มีความตาย พระพุทธเจ้าบอกเป็นอกาลิโก กาลเวลาไม่สามารถกลืนกินมันได้
9 ต่อ Before After จึงเป็นโครงการจิตอาสาบริสุทธิ์ ที่สะท้อนภาพอย่างชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมเต็มไปด้วยความเมตตาเอื้อเฟื้อ สุดท้ายแล้ว “เมตตาธรรมจะเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” .