กกต.แจงพรรคแนวทางเลือกตั้งตามคำสั่ง คสช. ใช้ 53 วันแบ่งเขต-หาเสียงต้องแจ้งก่อน
พรรค-กลุ่มการเมืองพรึ่บ! ร่วมหารือ กกต. ชี้แจงแนวทางการเลือกตั้งตามคำสั่ง คสช. เพื่อไทย-ปชป.-รปช.-อนาคตใหม่-ประชาชาติ มาด้วย ปธ.กกต. แจงรายละเอียดให้พรรคทำตามประกาศ แบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จใน 53 วัน ให้เวลาสรรหาผู้สมัครถึงวันที่ 10 ธ.ค. เลขาฯยันถ้า พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศใช้ มีเสรีภาพหาเสียงในโซเชียลแน่ แต่ห้ามใส่ร้ายป้ายสี ชี้โทษหนัก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมือง และผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ครั้งที่ 3/2561 เรื่อง ชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเรื่องเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง
โดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้าร่วมอย่างคั่บคั่ง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคเพื่อไทย นำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล และนายภูมิธรรม เวชยชัย ส่วนพรรคขนาดกลาง เช่น ส่วนพรรคใหม่ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดยนายสุริยะใส ตกะศิลา นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง พรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคประชาชาติ มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นต้น นอกจากนี้มี พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาสังเกตการณ์ด้วย
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงแนวทางการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตอนหนึ่งว่า การเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง คือผู้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ชัดเจนอยู่แล้ว โดยสถานะล่าสุดเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง รวม 119 กลุ่ม กลุ่มเหล่านี้ยังไม่มีสถานะเป็นพรรคการเมือง ต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ให้ได้มาซึ่งสถานะความเป็นพรรคโดยสมบูรณ์ และมีกลุ่มการเมืองที่ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว 6 พรรค และจะพิจารณาเห็นชอบเพิ่มเติมอีก 2 พรรค เท่ากับว่าจะมีทั้งสิ้น 8 พรรค ส่วนพรรคเก่ามีทั้งสิ้น 74 พรรค
ส่วนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า วิธีการที่ทำได้ขณะนี้ คือพรรคการเมืองจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 ราย และตัวแทนที่เห็นชอบจากสมาชิกพรรค 7 ราย สรรหาผู้สมัครตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหากำหนด หลังจากนั้นเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบ หากเห็นชอบแล้ว ให้พรรคการเมืองออกหนังสือรับรองผู้ได้รับการสรรหาเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นการทั่วไป
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า กกต. เตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งไปแล้ว ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 โดยให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 10-12 ธ.ค. 2561 กกต. ออกระเบียบการแบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศจำนวนสมาชิก ส.ส. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีเขตเลือกตั้ง 350 เขต และจะใช้เวลาประมาณ 53 วัน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 53 วัน ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 10 พ.ย. 2561 เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือภายในวันที่ 10 ธ.ค. 2561
ส่วน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงพรรคการเมืองไทย มีอะไรที่ต้องปรับตัวตามกฎหมายใหม่ตอนหนึ่งว่า หลังจากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ทุกพรรคการเมืองจะมีเสรีภาพในการหาเสียงในโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่ต้องเป็นไปตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยก่อนพรรคการเมืองจะหาเสียงต้องแจ้ง กกต. ก่อน โดยข้อความดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบ ไม่ต้องรอการอนุมัติ เพื่อไว้สืบสวนสอบสวน หากมีกลุ่มบุคคลแอบอ้างชื่อพรรค ไปใส่ร้ายป้ายสีพรรคอื่น
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า การหาเสียงทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ถ้าข้อความนั้นต้องห้าม หรือกระทบกระเทือนผู้อื่น กกต. จะขอให้พรรคการเมืองลบออกเสีย ถ้าไม่ลบ จะมีวิธีลบ นอกจากนี้หากคณะกรรมการไต่สวน กกต. พบว่า ข้อความดังกล่าวทำให้คนอื่นเสียหาย จนทำให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยใบแดง ตามกฎหมายใหม่ถ้าศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง บุคคลนั้นจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจัดเลือกตั้งใหม่ด้วย โดยให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ชดใช้เองได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องศาลแพ่งเพิ่มเติม
“ปัจจุบันยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ยังอยู่ตามประกาศของ คสช. ที่คลายบางอย่าง แต่บางอย่างยังไม่คลาย ดังนั้นต้องไปวิเคราะห์เอาว่า มีเรื่องอะไรบ้าง” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ขอแจ้งจดทะเบียนจัดตั้งพรรคเกรียน พร้อมคณะ เดินทางมาเพื่อรับฟังคำชี้แจงดังกล่าวด้วย โดยใส่ชุดช่างสีส้ม พร้อมหมวดโจรสลัด อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ไม่อนุญาตให้เข้างาน ระบุว่า แต่งกายไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ (ดูภาพประกอบ)