ผอ.บจธ.โชว์ผลงานใช้งบ 130 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ดินหลุดมือได้เกือบ 300 ราย
กรรมการ บจธ. ชี้การจัดตั้งธนาคารที่ดิน อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ต้องเป็นคำตอบแรก ยันสถานการณ์ วันนี้ เกิดการกระจุกตัวของที่ดินมีความรุนแรงมาก กลุ่มคนร่ำรวย 20% แรกถือครองที่ดินรวมกันมากเกือบ 80% ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ ย้ำชัด มีคนหนึ่งคนถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่
วันที่ 28 กันยายน สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.จัดเสวนาเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน หัวข้อ “ใครจะได้อะไรจากการตั้งธนาคารที่ดิน” ณ ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร โดยพลโทชาญชัย ภู่ทอง ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนา
นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการ สถาบันบริการจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า บจธ.มีหน้าที่หลักจัดตั้งธนาคารที่ดินและลดความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินในประเทศไทย และที่ผ่านมาได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เสร็จตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง
“บทบาทของ บจธ.เราทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารที่ดิน สามารถกู้เงิน และให้สินเชื่อได้ ซึ่งผลการดำเนินงานมีการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่จะสูญเสียสิทธิ์ที่เกิดจากการขายฝาก จำนอง เกือบ 300 ราย ใช้เงินไป 130 ล้าน และมีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชนทั้งที่ลำพูน และเชียงราย"
สำหรับแผนในปี 2562 นายขจรศักดิ์ กล่าวว่า บจธ.มีแผนงานหลัก ได้แก่ 1.แก้ปัญหาที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ให้จบภายในเดือนมีนาคมปี 2562 2.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่สูญเสียที่ดินทำกิน โดยการให้สินเชื่อ 3.โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดีแบบครบวงจร จัดหาที่ดินให้เกษตรกร โดยเข้าเจรจากับเจ้าของที่ดิน ซื้อที่ดิน หลังจากนั้นให้เกษตรเช่าในรูปแบบสหกรณ์ บจธ.จะเข้าไปช่วยดูแลตั้งแต่การแบ่งผังที่ดิน ดูแผนธุรกิจ และที่สำคัญมีการส่งเสริมอาชีพให้ดีขึ้น ท้ายสุดเป็นตัวกลางหาตลาดให้เกษตรกร
นายขจรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ บจธ.ยังมีแผนจะเข้าไปแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากนโยบายภาครัฐด้วย
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวประเทศไทยมีหน่วยงานทำงานเรื่องที่ดินถึง 7 กระทรวง แต่ไม่มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน แม้ปัจจุบันการช่วยเหลือคนไม่มีที่ดิน รัฐมีเครื่องมือ คือ สปก. ขณะที่ป่าไม้ ก็ช่วยเหลือคนบุกรุกไม่ให้ผิดกฎหมาย ถือเป็นมาตรการชั่วคราวทั้งสิ้น ฉะนั้นนอกเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินเอกชน ถามว่า ใครทำ มีคนถูกทิ้งอีกมากมาย ทำอย่างไรจัดการปัญหานี้ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาสถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 กำหนดให้ บจธ.เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เป็นธรรมและยั่งยืน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม และจัดตั้งธนาคารที่ดิน
"ตอนออกแบบ บจธ.นั้นให้อำนาจมากมาย ให้อิสระ สามารถทำได้ทุกอย่างในรูปแบบองค์การมหาชน"
ส่วนดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาที่ดินของประเทศไทย ได้แก่ 1.เกษตรกรไร้ที่ดินในภาคเกษตรกร 2.ปัญหาที่ดินกระจุกตัว ใช้ที่ดินเพื่อการเกร็งกำไร 3.ที่ดินถูกทิ้งร้าง ยิ่งคนมีที่ดินมาก การทิ้งร้างยิ่งสูง และ 4.การใช้ที่ดินผิดประเภท
ดร.บัณฑูร กล่าวต่อว่า จากปัญหาการใช้ที่ดิน 4 ด้านดังกล่าว นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง ทำให้คนเข้าไปอยู่ในป่า สังคมมีความเหลื่อมล้ำ ทุกเวทีการเมืองที่เข้ามาปิดกรุงเทพฯ จะพูดปัญหาเรื่องที่ดินตลอด และใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนมวลชน นี่คือปัญหาใหญ่
“รัฐบาลรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยเห็นได้จากการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เดิมอยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ก่อนจะย้ายมาอยู่ในหมวดปฏิรูปให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน และตรวจสอบกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน แต่กลับพบว่า การดำเนินการต่ำกว่าที่คาดหวังไว้”
ส่วนการจัดตั้งธนาคารที่ดินช่วยแก้ปัญหาได้แค่ไหนนั้น ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการออกแบบธนาคารที่ดิน และรัฐให้ความสำคัญ และใส่ทรัพยากรไปกับธนาคารที่ดินแค่ไหน
"ผมคิดว่าเราไม่สามารถถคาดหวังให้ธนาคารที่ดินแบกรับโจทย์เรื่องที่ดินทั้งหมดหรือแก้ได้ทุกเรื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น สปก. ผังเมือง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ร.บ. คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ร.บ.ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน กฎหมายเหล่านี้ก็จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง โดยใช้คู่กันและใช้อย่างผสมผสาน แล้วให้ธนาคารที่ดินเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เติมช่องว่างการจัดการที่ดินเอกชน
“ธนาคารที่ดินสำคัญ แต่เชื่อว่า ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด จำเป็นต้องใช้หลายเครื่องมือควบคู่ไปด้วย 40 ปี วันนี้เหมือนโค้งสุดท้าย หลุดจากนี้ไม่รู้จะไปทางไหน กรรมการที่ดินในประเทศไทยมีทั้งหมด 21 ชุดกลไกเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกันด้วย”
สุดท้ายนายประยงค์ ดอกลำไย กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน คณะกรรมการ สถาบันบริการจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า การจัดตั้งธนาคารที่ดิน อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ต้องเป็นคำตอบแรกของคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน
"สถานการณ์ที่ดิน ณ วันนี้ ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินมีความรุนแรงมาก กลุ่มคนร่ำรวยที่ดิน 20% แรกถือครองที่ดินรวมกันมากเกือบ 80% ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ ขณะที่ส่วนใหญ่อีก 80% ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 20% ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ และมีคนหนึ่งคนถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่ นี่คือความจริงมีงานวิจัยยืนยัน ฉะนั้นไม่กระจายการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้"
นอกจากนี้ นายประยงค์ ยังยกตัวอย่างชาวนาฉะเชิงเทรา 90% เป็นชาวนาเช่า มี 6% เท่านั้นมีที่ดินของตนเอง โฉนดส่วนใหญ่ติดจำนอง ธ.ก.ส. นี่คือสภาพความเป็นจริง ถามว่า 10 ปีที่ผ่านมารัฐมีนโยบายเรื่องการจัดการที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดินมาโดยตลอด ทุกรัฐบาลแถลง แต่ถามว่า ทำไมการดำเนินการถึงไม่มีความคืบหน้าเลย