มหากาพย์ กระทรวงคุ้มครองสุขภาพ กับ ธุรกิจทำลายสุขภาพ
5 ปี ผ่านไป 25 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ที่ 1886-1887/2561 ศาลพิพากษายกฟ้องบริษัทบุหรี่ หมายถึงให้กระทรวงสาธารณสุขชนะคดี
ปี 2556 บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ 3 ราย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการฯ ต่อศาลปกครองกลางอันเนื่องมาจากรัฐมนตรีได้ออกประกาศขยายภาพคำเตือนพิษภัยของบุหรี่ จากเดิมมีขนาดภาพคำเตือนบนหน้าซอง 55% มาเป็นขนาด 85%
นอกจากนี้ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้ขอระงับการใช้ประกาศไปก่อนจนกว่าศาลปกครองกลางจะตัดสิน แต่ 26 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ สรุปง่ายๆคือ ศาลสูงบอกให้ประกาศของรัฐมนตรีใช้ไปได้เลยระหว่างรอคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ดังนั้น บริษัทบุหรี่ทุกบริษัทจึงต้องจัดทำภาพคำเตือนมีขนาดใหญ่ 85% นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกคนรอฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางชี้ขาดว่า ประกาศให้ใช้ภาพคำเตือนขนาด 85% ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
5 ปีผ่านไป 25 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ที่ 1886-1887/2561 (เหตุที่เป็นแค่สองคดีเพราะบริษัทหนึ่งถอนฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้) ศาลพิพากษายกฟ้องบริษัทบุหรี่ หมายถึงให้กระทรวงสาธารณสุขชนะคดี โดยได้ให้เหตุผลในเนื้อหาของคดีทั้งสองคดีเป็นแบบเดียวกันซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ขยายภาพคำเตือนเป็นขนาด 85% ชอบด้วยกฎหมาย เพราะออกตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับเดิม) ที่วัตถุประสงค์ของประกาศมุ่งคุ้มครองสุขภาพประชาชนตามกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (FCTC) ที่ไทยเป็นภาคี โดย FCTC กำหนดให้ภาพเตือนควรมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และต้องขนาดไม่น้อยกว่า 30% และควรมีขนาด 50% หรือมากกว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากภาพคำเตือนขนาดใหญ่
2. ประกาศกำหนดภาพคำเตือนไม่เกินความจำเป็นและได้สัดส่วน เพราะ ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของ FCTC เหมือนกับปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ภาพคำเตือนขนาดใหญ่ทำให้สะดุดตาประชาชนให้ตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่มากขึ้น และมีรายงานการวิจัยพบว่าร้อยละ 62.6 คิดจะเลิกบุหรี่จากการเห็นภาพคำเตือน นอกจากนี้ประกาศไม่ได้กระทบสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า เพราะบริษัทบุหรี่ยังแสดงเครื่องหมายการค้าในพื้นที่ 15% เพื่อให้ผู้บริโภคแยกแยะความแตกต่างของสินค้าของตนกับรายอื่นได้อยู่
3. การออกประกาศภาพคำเตือน 85% โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีที่กำหนดให้โครงการที่กระทบส่วนรวมต้องฟังความเห็นประชาชนก่อนนั้นไม่ใช้กับประกาศฉบับนี้ เพราะประกาศฉบับนี้กระทบแค่ผู้ประกอบการซึ่งไม่ใช่ประชาชนส่วนรวม จึงไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนออกประกาศ นอกจากนี้ประกาศฉบับนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปฟังความเห็นอีก
4. ข้อกำหนดในประกาศเรื่องหนึ่งที่ให้บริษัทต้องจัดพิมพ์ภาพคำเตือน 10 แบบต่างกันใน 1 กล่องใหญ่ (carton) ก็ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นข้อกำหนดที่กระทบแค่กระบวนการผลิตบุหรี่แต่ไม่ได้กระทบตัวผลิตภัณฑ์ ประกาศก็ให้เวลาปรับตัวถึง 360 วันซึ่งเพียงพอแล้วและอยู่ในวิสัยที่บริษัทจะไปเปลี่ยนวิธีการผลิตได้ แม้จะเป็นภาระกับบริษัทที่จะต้องใช้เงินในการเปลี่ยนวิธีการผลิต แต่ก็เป็นเพียงระยะแรกและพอสมควรแล้วเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ประชาชนได้จากประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้
ผมมีข้อสังเกตบางประการจากคำพิพากษา
ศาลปกครองกลางทั้งสองคดีนี้
1. ศาลปกครองได้ชั่งน้ำหนักสุขภาพประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะกับสิทธิและประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจในเรื่อง health vs trade โดยให้น้ำหนักเรื่องสุขภาพประชาชนเหนือธุรกิจที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ trend ของโลกในปัจจุบัน ดังที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยคดี plain packaging ในเวทีระหว่างประเทศที่ WTO และเวทีภายในประเทศที่ศาลออสเตรเลีย ศาลอังกฤษ และศาลฝรั่งเศส ที่ไม่เคยให้บริษัทบุหรี่ชนะคดี plain packaging เลย
2. ศาลปกครองได้อ้างถึงกรอบอนุสัญญาควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (FCTC) หลายที่ในคำพิพากษา และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเมื่อไปลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศแล้วต้องปฏิบัติตามด้วยเหมือนกับการปฏิบัติตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งคนในกระทรวงการต่างประเทศของไทยบางท่านควรหาเวลามาอ่านคำพิพากษานี้
3. ศาลปกครองได้อ้างถึงงานวิจัยที่น่าเชื่อถือและนำมาเป็นเหตุผลหนึ่งในคำพิพากษาซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการให้เหตุผลในคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ
โดยทั่วไปการส่งเสริมการค้า (trade) เพื่อความมั่งคั่ง (wealth) และการคุ้มครองสุขภาพประชาชน (health) ผมว่าทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน แต่เมื่อถึงสถานการณ์ที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการสนับสนุนการค้าสินค้าบางประเภทเช่นบุหรี่ไปทำลายสุขภาพประชาชน เราควรเลือกการคุ้มครองสุขภาพประชาชนด้วยเหตุผลว่า “จริงอยู่ความมั่งคั่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่เหตุผลใดที่เราจะส่งเสริมความมั่งคั่ง ถ้าการส่งเสริมความมั่งคั่งในบางครั้งกลับไปทำลายสุขภาพประชาชน ท้ายสุด จะไม่เหลือใครได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งอีกต่อไป”
โปรดติดตามการแถลงอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ปกป้อง ศรีสนิท
26 กันยายน 2561
ขอบคุณภาพและสำเนาคำพิพากษาจากคุณจิระวัฒน์ อยู่สะบาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข