พระมหากษัตริย์กับ “ด้ามขวานทอง” แผ่นดินใต้
ถ้าถามผมว่า นอกจากภาคกลางที่อยู่ล้อมรอบอยุธยาแล้ว ภาคไหนของไทยที่จัดเป็น “ส่วนใน” หรือ “แกนใน” ของสยามได้ด้วย ผมจะตอบว่าภาคใต้ ทั้งคาบสมุทรภาคใต้นั่นแหละครับ
พระมหากษัตริย์ของไทย เกือบห้าสิบพระองค์ ต่อเนื่อง กว่าหกร้อยปีทรงเลือกที่จะให้เมืองหลวงอยู่ใกล้ทะเล ไม่ว่า 417 ปี ของอยุธยา 15 ปี ของกรุงธนฯ และกว่า 235 ปี ของกรุงเทพฯ ก็ล้วนอยู่บริเวณเดียวกัน คือ ใกล้ทะเล หรือ เกือบติดทะเล แม้อยุธยาจะล่มลง พระมหากษัตริย์ต่อ ๆ มา ก็มิได้ย้ายเมืองหลวงให้ห่างทะเล ตรงข้าม กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ กลับอยู่ใกล้ทะเลขึ้นไปอีก
บุรพมหากษัตริย์ของเราทรงกำหนดให้ประเทศของเราใกล้โลก ชิดโลก และรู้ทันโลก กล่าวโดยรวมพระองค์ท่านเหล่านั้น ทรงปรีชาญาณ เหลือล้น ด้วย “ตำแหน่งที่ตั้ง” เมืองหลวงเช่นนี้แหละ ทำให้สยามเป็นทั้งเมืองบกและเมืองทะเล ความเป็น “บก” นั้นเป็นที่มาของเกษตรกรรมและประชากร แต่ความเป็น “ทะเล” เป็นสื่อหรือเป็นสะพานให้อารยธรรม ความก้าวหน้า ศิลปวิทยาการ ภูมิปัญญา จากแดนไกล เช่น อินเดีย เปอร์เซีย จีน อิสลาม และฝรั่ง เข้ามาสู่สยามอย่างง่ายดาย มีเมืองหลวงโบราณของเอเชียไม่กี่แห่งอยู่ชิดทะเลเช่นนี้ อังวะ ตองอู พุกาม มัณฑะเลย์ ห่างทะเลมาก บางเมืองห่างเป็นพันกิโลเมตร
จากอยุธยาหันหน้าออกสู่ทะเลและโลกกว้าง นี่คือมรดกสยาม-ไทยที่บุรพมหากษัตริย์มอบไว้ให้ลูกหลาน และกล่าวได้ด้วยว่า พระองค์ท่านทั้งหลายทรงตระหนักว่าสยามยึดโยงกับโลกผ่านสองทะเลสองสมุทรเสียด้วย ที่ตั้งของราชธานีแต่โบราณนั้นทำให้สยามกุมอ่าวไทยได้แน่นอน กำกับดูแลการเดินเรือและการค้าทางไกลไปจนถึงเขมร ญวน จีน ได้
ไม่เพียงเท่านี้ แต่จากเมืองหลวงสามเมืองนี้ เรายังข้ามไปกุมอิทธิพลได้จนถึงเมืองทะวาย (ข้ามไม่ไกลไปจากกาญจนบุรี) มะริด ตะนาวศรี (ไม่ไกลจากเพชรบุรี) ซึ่ง ก็ หมายความว่าสยามกุมฝั่งอันดามันตอนบนได้เกือบหมด พระมหากษัตริย์ของเราแต่เก่าก่อนนั้น พินิจให้ดี ท่านทรง “ไม่โบราณ” เอาเสียเลย ทรง”ทันสมัย” มากกว่า ทรง “รู้ทันโลก” มานานแล้ว ทรงนำสยามประเทศไปผูกสัมพันธ์กับมหาอำนาจจากตะวันออกและตะวันตก และส่วนใหญ่รับเอาของดี ความคิดดี สถาบัน-กลไกดี ของต่างชาติต่างอารยธรรมมาใช้อยู่เสมอ และเป็นเช่นนี้มาตลอดหกศตวรรษที่เมืองหลวงเราอยู่ชิดทะเลเช่นนี้
ในบรรดาภาคทั้งหลาย ภาคใต้เป็นส่วนที่แนบชิดราชธานีที่สุด เพราะทะเล เพราะอ่าวไทย พาเอากำลังจากอยุธยาและเพชรบุรีแผ่ลงไปถึงนครศรีธรรมราช ไชยา สงขลา ปัตตานี ได้ ค่อนข้างสะดวก รวดเร็ว สมัยโบราณ หากจะยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปเชียงใหม่ ลำปาง หรือ ข้ามดงพญาไฟ ไปจนถึงนครพนม อุดรธานี หนองคาย น่าจะใช้เวลาหลายเดือน ส่วนใหญ่หกเดือน และกองทหารจำนวนมาก จะล้มตายระหว่างทาง ตายจากไข้ป่าที่ชุกชุม แต่การเดินเรือเลียบชายฝั่งด้านอ่าวไทยไปจนถึงปัตตานีน่าจะใช้เวลาหลายอาทิตย์แต่ไม่ใช่หลายเดือน และไม่มีไข้ป่ามาผลาญชีวิตทหาร
คาบสมุทรภาคใต้ของเรายังแคบมาก กว้างไม่เกินร้อยกิโลเมตรเป็นส่วนใหญ่ บางช่วงไม่กี่สิบกิโลเมตร สามารถเดินข้ามได้ไม่ยาก ย้ายจากการเดินเรือฝั่งอ่าวไทย ไปเดินเรือฝั่งอันดามัน ไม่ยาก สยามจึงกุมดินแดนใต้ได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและกุมฝั่งอันดามันด้วย และโดยทั่วไปจะต้องกุมให้ได้ทั้งสองฝั่ง จึงจะกุมการค้าจากตะวันตก คือ เปอร์เซีย อินเดีย กับการค้าจากตะวันออกคือจีน ญี่ปุ่น และ ราชธานีสยาม อันมีที่ตั้งล้ำเลิศเช่นนี้ ก็ย่อมจะเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากสองข้างสองทิศรอบตัวเช่นนี้ไว้ด้วยกัน สยามยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองขึ้นมาได้เรื่อย ๆ ใช่เพียงเพราะรบพุ่งกับพม่า เขมร ญวน ลาว เป็นสามารถเท่านั้น แต่เป็นเพราะสยามกุมสองทะเลสองสมุทรได้ และภาคใต้ ด้ามขวานทอง ที่อยู่ติดสองทะเลสองสมุทร และไปถึง หรือ ไปกุม จากราชธานี ได้สะดวก
เหตุนี้เอง จึงเอื้อให้พระเจ้ากรุงสยามดำเนินพระราโชบายทางภูมิ-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาตร์ ที่นำประเทศมาสู่ความรุ่งเรืองทันโลกทันยุคตลอดมา แม้ในยุคฝรั่งล่าอาณานิคมทั้งโลก เราก็ฟันฝ่าวิกฤตมาได้ ด้วยเหตุว่าเรามีพื้นฐานในการ “เปิดประเทศ” และ”รู้จักใช้โลก” ให้เป็นประโยชน์มาช้านาน
พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีแทบทุกพระองค์หวงแหน “ปักษ์ใต้” พระเจ้าตาก และ รัชกาลที่ 1 เสด็จไปรบที่ดินแดนด้ามขวานทอง รัชกาลที่ 3 มีพระราชมารดา ที่สืบเชื้อสายจากสุลต่านสุไลมานที่เคยปกครองเมืองสงขลาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทรงมี เลือดเนื้อจาก “แดนใต้” รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสปักษ์ใต้ รัชกาลที่ 5 เสด็จทางเรือทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้อยู่เนืองนิตย์ ทรงโปรดให้ตั้งราชนาวีสมัยใหม่ขึ้นมาก็เพื่อจะรักษา “ด้ามขวานทอง” เป็นสำคัญ ลองคิดดูหากสยามในสมัยฝรั่งล่าอาณานิคมจำตัองเสียภาคใต้หรือภาคตะวันออกไปเสียแล้ว เราจะเหลือแต่ “บก” กลายเป็นประเทศ “ ทางบก” เกือบจะสิ้นเชิง มรดกกว่าหกร้อยปีของสยามที่เป็นประเทศ”ทะเล” ด้วย จะหายไป ความเป็นไทยที่ใกล้โลกใกล้ทะเลชิดทะเล ชิดสองมหาสมุทร จะสิ้นสูญลง พระมหากษัตริย์ของเราไม่ทรงยินยอมให้เหตุเช่นนั้นเกิด ดินแดนใต้อันเป็น “แก่นใน” ของสยาม จึงดำรงอยู่มาถึงทุกวันนี้
รัชกาลที่ 5 ไม่เพียงรักษาปักษ์ใต้และหัวเมืองมลายูจำนวนหนึ่งไว้กับสยามได้เท่านั้น ยังสืบสายเลือดใต้ มลายู ไว้ต่อจากรัชกาลที่ 3 ด้วยพระราชมารดาของพระองค์ทรงเป็น “หลานปู่” ของ รัชกาลที่ 3 ด้วย มิพักต้องกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ต่อจากนั้น ย่อมมีสายพระโลหิตที่มาจากด้ามขวานทองจากมลายูมุสลิม ที่มาจากสุลต่านสุไลมานแห่งเมืองสงขลาด้วย เป็นอะไรที่ชาวภาคใต้ ชาวไทยมลายู ควรภาคภูมิใจ ควรปลื้มปิติหาที่สุดมิไดั
กล่าวเพื่อความภูมิใจและความภักดีของคนใต้ ในยามที่รัชกาลที่ 7 อยู่ในภัยคับขัน เพราะกบถบวรเดชล้อมพระนครอยู่ ปี 2476 ทวงถามรัฐบาลคณะราษฎรว่าจะคืนพระราชฐานะและพระเกียรติยศให้พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญได้เพียงใด รัชกาลที่ 7 ทรงพะว้าพะวังมาก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะวางพระองค์เป็นกลาง แต่ย่อมทราบกันในขณะนั้นว่ารัฐบาลระแวงสงสัยว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจอยู่ข้างกบถบวรเดช ในยามที่สถานการณ์เหมือนฟ้ามืดครื้ม ทรงตัดสินพระทัยเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งลำเล็กเรียบอ่าวไทยไปประทับที่ปักษใต้ ทรงเลือกเอาเมืองสงขลาเป็นที่หลบภัย ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ อยู่ถึงสี่สิบกว่าวัน ในยาม “ร้อนร้าย” ยิ่ง ของสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ทรงเลือกดินแดนใต้เป็นที่ “หลบภัย” และชาวใต้โดยเฉพาะชาวสงขลา ได้ยืนหยัดมุ่งมั่นถวายความอารักขา สนองพระเดชพระคุณเท่าที่จะทำได้ อย่าลืมว่าในยามนั้นสถานการณ์ไม่แจ่มชัดว่าใครผิดใครถูก ใครแพ้ ใครชนะ แต่ชาวใต้ น่าจะส่วนใหญ่ คงไม่ผิดที่จะกล่าวเช่นนั้น เลือกจะพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ของพวกเขา
ความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับ”ด้ามขวานทอง” นั้น ลึกซึ้ง หนักแน่น แนบแน่น และย้อนหลังกลับไปไกลมากครับ