จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 9 ปี ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯ ทำสัญญาขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์ ด้านทนายความยื่นหลักทรัพย์ 9 แสนขอประกันตัว อุทธรณ์สู้ต่อ ชี้บริษัทเป็นแค่นายหน้า ไม่เคยทดสอบผลิตภัณฑ์มาก่อน เลยไม่รู้ว่าใช้ไม่ได้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 ศาลแขวงดอนเมืองนัดอ่านคำพิพากษาในคดีอาญา ระหว่างกรมราชองครักษ์ ที่มีอัยการคดีพิเศษที่ 1 เป็นโจทก์กับบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-4 จากกรณีบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และสารเสพติด หรือเครื่อง GT200 แต่ปรากฎว่าไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งกรมราชองครักษ์ซื้อเครื่อง GT200 รวม 3 สัญญา รวมวงเงิน 9 ล้านบาท
ศาลพิพากษาให้นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 2 รับโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 3 กรรมคงจำคุก 9 ปี ปรับกรรมละ 6,000 บาท รวมปรับ 18,000 บาท ตามความผิดมาตรามาตรา 347 ประกอบ มาตรา 83 ต่อมานายสุทธิวัฒน์ก็ได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเพื่อจะขออุทธรณ์คดีด้วยเงินสดจำนวน 9 แสนบาท
ส่วนจำเลยอื่นได้แก่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ จำเลยที่ 3 และ นางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ 4 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาของศาลได้ระบุคำให้การของตำรวจ จ.ปัตตานี ที่ระบุว่า ทหารเคยใช้เครื่อง GT 200 ตรวจรถต้องสงสัย และแจ้งว่า 'ไม่พบระเบิด' แต่เมื่อตำรวจเข้าไปตรวจสอบ กลับพบว่า มีระเบิดทำงานอยู่ และเกิดระเบิดขึ้น ส่วนคำให้การของพยานจำเลย 3 ปาก ที่ยืนยันกับศาลว่า เครื่องใช้งานได้จริงนั้น เป็นเพียงคำกล่างอ้างไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงถือว่า 'ฟังไม่ขึ้น'
ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 อ้างไม่ทราบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ว่าใช้การได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายของ บริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด บริษัทผู้ผลิตที่อังกฤษนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่ใส่ใจในการซื้อขายสินค้า เพราะเครื่อง GT 200 มีราคาสูงมาก ในฐานะผู้ขายจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติและประสิทธิภาพของสินค้าก่อนส่งมอบเสมอ หรืออาจรู้ก่อนแล้วว่า เครื่อง GT 200 ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังขายให้หน่วยงานของรัฐ ศาลจึงเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเป้าหมายแสวงหาผลประโยชน์ มีความผิดฐานฉ้อโกง
ต่อมาภายหลังจากคำพิพากษาของศาล นายวรอรรถ สุนทรอภิชาติ ทนายความของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลโดยสรุปนั้นศาลวินิจฉัยว่าบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ควรจะทราบว่าสินค้านั้นไม่สามารถใช้งานได้ดันั้นเมื่อบริษัทนำสินค้ามาขายก็มีความผิดฐานฉ้อโกง แต่ในความเป็นจริงแล้วเครื่อง GT200 มีการซื้อขายกันในหลายประเทศ อีกทั้งยังเป็นเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหาร บริษัทเอกชนไม่สามารถจะครอบครองได้ ดังนั้นเมื่อบริษัทไม่มีสิทธิครอบครอง เลยไม่สามารถตรวจสอบรู้ได้ว่าเครื่อง GT200 มีปัญหา อีกทั้งการตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 1 เครื่อง ต้องใช้ห้องแล็ปและใช้เวลาอีก 1 วันในการตรวจสอบ ซึ่งบริษัทไม่มีศักยภาพในการตรวจสอบ แต่แค่ทำหน้าที่เป็นแค่ธุรการตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้บริษัทก็คงต้องต่อสู้เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไปในชั้นอุทธรณ์
เมื่อถามต่อถึงผลตัดสินของศาลว่ามีการสั่งจำคุกอย่างไรบ้าง นายวรอรรถกล่าวว่าทางอัยการได้ฟ้องตัวบริษัทและพนักงานของบริษัท ในส่วนของพนักงานบริษัทนั้นศาลได้ยกฟ้องเพราะถือว่าทำแทนบริษัท ในส่วนของกรรมการบริษัท ศาลได้ลงโทษพร้อมกับบริษัท และได้ยกฟ้องในส่วนแพ่งเนื่องจากเป็นกระบวนการพิจารณาตามที่กรมราชองครักษ์ได้เคยฟ้องแพ่งไปแล้ว
เมื่อถามถึงการดำเนินคดีกับนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ กรรมการบริษัทในฐานะจำเลยที่ 2 นายวรออรรถกล่าวว่า ศาลพิพากษาเพิ่มเติมว่าจะต้องรับผิดชอบร่วม ซึ่งกรณีนี้นายสุทธิวัฒน์จะต้องต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไปเพราะว่านายสุทธิวัฒน์ก็ค้าขายสินค้าหลายอย่าง และไม่ทราบว่าของใดมีการค้าขายอย่างไร และสามารถใช้งานได้หรือไม่ เพราะถ้าต้องตรวจสอบของที่บริษัทขายทุกชนิดว่าใช้งานได้หรือไม่ได้ ก็จะต้องเสียงบประมาณในการจ้างบุคลากรมากขึ้นปอีกซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
“เรื่องเดิมก็คือกองทัพอากาศได้ซื้อเครื่องนี้มาใช้ก่อนแล้ว โดยการซื้อตรง เมื่อเห็นว่าเครื่องนี้มันได้ผล หน่วยราชการอื่นก็เลยซื้อตามมา พอมีหน่วยราชการให้ความสนใจมาซื้อเยอะๆทางบริษัทโกลบอล ผู้ผลิต เขาก็ไม่สะดวกที่จะมาติดต่อหน่วยงานราชการไทย เขาก็เลยให้ทางราชการไทยหาตัวแทนมาเป็นผู้ดำเนินการทางธุรการ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเราโชคไม่ดีที่มาเป็นตัวแทนทางธุรการเพราะเคยค้าขายกับหน่วยงานทางราชการมาก่อน” นายวรอรรถ กล่าว
นายวรอรรถกล่าวอีกว่า การซื้อขายเครื่อง GT200 สำหรับกรมราชองครักษ์ ในสัญญาแรกมีการซื้อเครื่องละ 9 แสนบาท ส่วนสัญญาที่ 2 มีการซื้อเครื่องละ 1.2 ล้านบาท ซึ่งสัญญาที่ 2 ที่มีราคาเพิ่มเติมนั้นก็เนื่องมาจากกรมราชองครักษ์ได้ซื้ออุปกรณ์พวกการ์ดไปเพิ่มเติมด้วย
เมื่อถามถึงการดำเนินคดี GT200 ระหว่างบริษัทกับหน่วยงานอื่น ทนายความกล่าวว่า มีอีกหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันนิติวัทยาศาสตร์ที่ฟ้องอยู่ และนอกนั้นเชื่อว่าหน่วยงานอื่น ๆ น่าจะเข้าใจว่าบริษัทไม่มีเจตนาจะหลอกลวงอะไร เชื่อว่าเขารู้ว่าบริษัทไม่ได้ไปหลอกลวงอะไรเขา
เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่ต่างประเทศได้มีการเปิดโปงว่า GT200 ใช้การไม่ได้ ทางบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยังคงขายเครื่อง GT200 ต่อหรือไม่ นายวรอรรถกล่าวว่า เมื่อมีข้อกล่าวหาว่า GT200 ใช้การไม่ได้ในช่วงปลายปี 2552 การซื้อขายนั้นถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว บริษัทก็ไม่ได้ไปซื้อขายเครื่อง GT200 ต่อแต่อย่างใด ถือว่าสัญญาสุดท้ายนั้นสิ้นสุดไปเมื่อตอนปี 2552 นี้เอง
เมื่อถามถึงการต่อสู้คดีระหว่างกรมสรรพาวุธซึ่งเป็นคู่สัญญาจำนวน 600 กว่าล้านบาทกับบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด นายสรอรรถกล่าวว่า ข้อต่อสู้ก็คงเป็นแบบเดียวกับที่ใช้กับกรมราชองครักษ์ โดยในช่วงที่มีการซื้อขายเครื่อง GT200 กรมสรรพาวุธได้ส่งบุคลากรมาทดสอบด้วยตัวเอง ขณะนี้การต่อสู้คดีของทางบริษัทยังอยู่ในระหว่างการแก้ข้อกล่าวหากันอยู่
อ่านประกอบ:
เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์