ศาลปค.เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ‘ทรู’ ไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตคืน ‘ทีโอที’ 1,200 ล้าน
ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ ให้บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ไม่ต้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน ขยายบริการโทรศัพท์คืนแก่ บ.ทีโอที
วันที่ 26 ก.ย.2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1615/2557, และคดีหมายเลขดำที่ 489/2559 กรณีที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ที่ชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนเพื่อขยายบริการโทรศัพท์ฯ แก่ผู้คัดค้าน
กรณีสืบเนื่องมาจากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง ได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนเพื่อขยายบริการโทรศัพท์ฯ กับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ต่อมา มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม
คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2546 และเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2546 ให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินการหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องชำระให้แก่คู่สัญญาภาครัฐ ผู้คัดค้านจึงหักเงินจากส่วนแบ่งรายได้ของผู้คัดค้านส่งให้ผู้ร้องเพื่อนำไปชำระภาษีสรรพสามิตตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 1,479,621,120.89 บาท
แต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2550 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2546 และวันที่ 11 ก.พ.2546 โดยกำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามจำนวนรายรับที่แต่ละฝ่ายได้รับ ผู้คัดค้านจึงเรียกร้องให้ผู้ร้องคืนเงินดังกล่าว ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องคืนเงินจำนวน 1,217,505,724.17 บาท แก่ผู้คัดค้าน
ศาลปกครองกลางเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2546 และเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 มิใช่มติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาแก่ผู้คัดค้าน จึงเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญาพิพาท และการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 34 วรรคสี่ และมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว .