นักวิชาการ ชง กสทช.ตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเองวิทยุทีวี คุ้มครองผู้บริโภค-ส่งเสริมวิชาชีพ
สื่อมวลชนชี้โฆษณาเกินจริงเกิดจากธุรกิจเห็นแก่ได้ เสนอตั้งองค์กรดูแลกันเองในสื่อทุกประเภท ประธานสภาวิชาชีพมองเทคโนโลยีเปิดกว้างทุกคนเป็นนักข่าวได้ ต้องออกกติควบคุมความเป็นมืออาชีพ
วันที่ 31 พ.ค. 55 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธีฟรีดริค เอแบร์ท จัดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การกำกับดูแลกันเอง ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า อาชีพทุกประเภทล้วนมีองค์กรวิชาชีพกำกับดูแล แต่สื่อมวลชนไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้การกำกับดูแลกันเองสามารถแบ่งเป็น 1.สภาวิชาชีพที่เป็นนิติบุคคล มีกฎหมายรองรับ โดยแต่ละสาขาควบคุมกันเอง 2.ไม่มีการรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพ แต่มีการกำกับดูแลกันเอง และ 3.สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ มีคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพกันเอง
ประธานสภาวิชาชีพฯ กล่าวต่อว่าการจะเป็นองค์กรวิชาชีพที่ดีได้ต้องอาศัยองค์ประกอบคือมีกระบวนการองค์กรควบคุมกัน และมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ทั้งนี้การกำกับดูแลเพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้รับบริการและส่งเสริมคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพ จะเป็นแนวทางกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในวิชาชีพและสร้างศรัทธายอมรับจากประชาชน
“มวลชนในอนาคตอาจไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักวิชาชีพ เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เปิดกว้างให้ทุกคนเป็นนักสื่อสารได้ แต่สิ่งที่จะพิสูจน์การทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีคือความเป็นมืออาชีพ”
น.ส.สุวรรณา ยังกล่าวว่า กสทช.จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยต้องมีลักษณะขององค์กรที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย พร้อมสร้างความเท่าเทียมระหว่างการปกป้องวิชาชีพและผู้บริโภค เพราะขณะนี้ยังพบความเหลื่อมล้ำมากระหว่างสื่อประเภทธุรกิจ สาธารณะ และสื่อชุมชน ทั้งด้านการคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์คนในวิชาชีพและผู้รับข่าวสาร แต่องค์กรกำกับดูแลกันเองต้องไม่เป็นอิสระมากเกินไป มิฉะนั้นระบบอาจล้มเหลว จำเป็นต้องมีเกณฑ์และประยุกต์ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกระตุ้นจิตสำนึกจริยธรรมสื่อมวลชนในวิชาชีพ
นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ อดีตกรรมการฝ่ายจริยธรรม สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง กล่าวว่า ปัจจุบันการโฆษณาเกินจริงในสื่อชนิดต่างๆมีมากขึ้นโดยเฉพาะเคเบิลท้องถิ่น ทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชน ซึ่งล้วนแต่ริดรอนสิทธิผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบวิชาชีพหวังเพียงรายได้ การกำกับดูแลกันเองโดยผ่านองค์กรหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะสำเร็จหากมีเงินทุนและมีหน่วยงานหลักขับเคลื่อน แม้ปัจจุบันกลุ่มวิชาชีพต่างๆจะมีองค์กรกำกับดูแลกันเองแล้วก็ตาม
“คงมีผู้ประกอบวิชาชีพที่หวังรายได้อย่างเดียวออกมาโต้แย้งไม่ยอมรับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเอง ต้องค่อยๆขับเคลื่อนให้สื่อมวลชนยินดีที่จะโดนกำกับภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน” นายสุทธิพงษ์กล่าว