เครือข่ายเลิกเหล้า ฉะบริษัทน้ำเมา ทำการตลาดชวนวัยรุ่นติดแฮชแท็กประชันแข่งกันดื่ม
เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จวกบริษัทน้ำเมา ทำการตลาดชวนวัยรุ่นติดแฮชแท็กประชันแข่งกันดื่ม แทบทุกแบรนด์หันมาเล่นแนวนี้กันหมด ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เตรียมรวบรวมหลักฐานยื่นรอง ผบช.ทท.เช็คบิล
วันที่ 22 กันยายน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณี บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่ง ทำการตลาดกับกลุ่มวัยรุ่นและนิสิต นักศึกษา ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการใช้แฮชแท็กสีของกระป๋อง ที่เป็นคำเรียกของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า) 7% ผสมสารจากกัวรานา รสชาติคล้ายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยมีวัยรุ่นโพสภาพประชันการดื่มและติดแฮชแท็กจำนวนมาก ว่า สิ่งที่ปรากฏในโลกออนไลน์ขณะนี้ สะท้อนว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายช่องทาง หลายๆเพจ หลายๆรีวิว รวมไปถึงการตั้งกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ยี่ห้อเดียว เป็นความพยายามสื่อสารการตลาดหลบเลี่ยงกฎหมาย แบบมีการจัดการ มีผู้อยู่เบื้องหลัง ที่รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นการโฆษณา ซึ่งโดยนิยามให้ตีความไปถึงการสื่อสารการตลาดด้วย
นายชูวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้แทบทุกแบรนด์หันมาเล่นแนวนี้กันหมด จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังก่อนจะไปไกลกว่านี้ และกรณีนี้ทำให้ได้ยินได้เห็นผ่านโลกออนไลน์จึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น ปรากฏภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อความชักชวนให้ดื่ม โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกปรับรายวันวันละ 50,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง กฎหมายใช้คำว่าผู้ใด ดังนั้น คนที่ปรากฏในเพจ เจ้าของเพจ โดนหมด และเท่าที่ได้ติดตามกรณีดาราโพสภาพขวดเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่เป็นข่าวดัง พบว่าส่วนใหญ่ยอมถูกเปรียบเทียบปรับ คนละ 50,000 บาท แต่ที่น่าสนใจคือ หากกระทำผิดซ้ำอีก เรื่องอาจไปถึงศาลและอาจถูกจำคุกได้ เพราะถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก แต่ที่น่าห่วงคือ ความผิดยังไปไม่ถึงผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตและนำเข้า มักถูกตัดตอนไปที่เอเย่นต์ สายส่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ในชั้นศาลรอผลว่าจะไปถึงผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือไม่
“ยอมรับว่าเห็นใจสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพราะมีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คน งบประมาณก็น้อย ไม่สามารถจับตาสถานการณ์ความฉ้อฉลของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทั่วถึง อีกทั้งตำรวจไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงอยากวิงวอนให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในสัปดาห์หน้าเครือข่ายฯจะนำเรื่องนี้เข้าร้องเรียนต่อพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว(รอง ผบช.ทท.) ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการประจำศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการกระทำผิดทางอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปอส.ตร.)” นายชูวิทย์ กล่าว