สวัสดิการสังคมด้านสุขภาพทำให้คนไม่ดูแลตนเอง...จริงไหม?
"...เรื่องการส่งเสริมให้คนในประเทศสามารถดูแลตนเองได้นั้น สมควรทำอย่างยิ่ง การจะทำให้เค้าดูแลตนเองได้ มิใช่แค่ร้องกันปาวๆ แต่จำเป็นที่จะต้องทำสามเรื่องไปพร้อมกันคือ พัฒนาสภาพแวดล้อมในสังคมให้เอื้อต่อการดูแลตนเองของประชาชน, พัฒนากลไกสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม, และแน่นอนคือรัฐบาลควรพิจารณาประกาศนโยบายสาธารณะในเรื่องนี้ โดยยืนบนพื้นฐานความจริง มิใช่บนภาพฝันที่ผลักไปอยู่บนบ่าของคนทำงานในระบบใดระบบหนึ่ง..."
วันก่อนผมนั่งประชุมอยู่อย่างเคร่งเครียด จู่ๆ ก็มีคนโทรศัพท์มาหาเอื้อนเอ่ยว่า อยากให้ช่วยแสดงความเห็นต่อประเด็นอันลือลั่นของบุรุษสุดแกร่งที่ห้ามเอ่ยนาม...He who should not be named ผมฟังแล้วขนหัวลุก นึกในใจว่า "อย่า...อย่าเอ่ยชื่อเค้าออกมา แฮร์รี่ พอตเตอร์เค้ากล้าเอ่ย เพราะเค้ามีพลังและความสามารถสูสี แต่ผมไม่มี Elder wand ไม้เท้ากายสิทธิ์ที่ทรงพลัง หนึ่งในสามของ Deathly hallows นะ" ป่าวๆ ผมไม่ได้หมายถึงลอร์ดนะ เดี๋ยวกองเชียร์ทั้งหลายจะโกรธผม ผมหมายถึงคนอื่นนะ เอาใครดีหนอ เอาสเนปละกัน อิอิ นึกอยู่ในใจได้แว่บเดียว คุณนักข่าวก็ปลุกผมจากภวังค์ ด้วยการบอกว่า "อาจารย์คะ ช่วยให้ความเห็นหน่อยเถอะค่ะ"
ประเด็นที่อยากให้ช่วยให้วิเคราะห์เชิงวิชาการคือ การที่ท่านกล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งในหลากหลายโอกาสว่า "การมีหลักประกันสุขภาพทำให้คนไม่รู้จักดูแลตัวเอง" ฟังแล้วคนก็น่าจะคล้อยตาม เพราะดูจะเป็นไปได้ว่า พอมีระบบรักษาฟรี คนก็ทำตัวอิลุ่ยฉุยแฉก ไม่กังวลว่าจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย แถมมาใช้บริการดูแลรักษากันอย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น สร้างภาระงานอันหนักหน่วงให้แก่บุคลากรในระบบสุขภาพ แถมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศก็จะพุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง...ก็เพราะระบบฟรีนี่แหละ ที่สปอยล์คนในประเทศจนทำให้ไม่ดูแลตัวเอง
โอ...ข้อกล่าวหานี้หนักหนาเอาการ ผมคงไม่กล้าที่จะบอกว่าถูกหรือผิด เพราะกลัวท่านจะเรียกไปปรับทัศนคติ ได้แต่ค้น และควักหนังสือจากกระเป๋าวิเศษของเฮอร์ไมโอนี่ มาอ่านแล้วอ่านเล่าเฝ้าแต่อ่าน จนได้ประเด็นต่อไปนี้มาเล่าให้ฟังกัน
หนึ่ง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน "ไม่มีข้อมูลวิจัยใดเลยที่ฟันธงบอกว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพ หรือส่งเสริมให้เข้าถึงการรักษาฟรีหรือค่าใช้จ่ายน้อย แล้วจะทำให้ประชาชนไม่ดูแลตนเอง"
เมื่อปีก่อน สำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER) ก็เพิ่งมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยที่ติดตามประชากรกว่าล้านคนในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าหลังจากประกาศนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้ ในชื่อนโยบายที่เราคุ้นเคยกันดีว่า Affordable Care Act (ACA) และการพัฒนาต่อยอดระบบ Medicaid ที่ช่วยเหลือคนยากไร้นั้นจะส่งผลต่อประเทศและคนในประเทศเค้าอย่างไรบ้าง ผลที่พบก็เป็นไปตามที่เราพอคาดเดาได้คือ มีปริมาณการมารับบริการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ตั้งแต่การตรวจสุขภาพ (check up) และการไปพบแพทย์ และอัตราการใช้บริการทางการแพทย์และตรวจทดสอบต่างๆ ที่มากขึ้น
แต่ที่น่าสนใจคือ หากดูพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย (คือตัวแปรที่ใช้ประเมินว่าคนคนนั้นน้ำหนักเกินหรืออ้วนไหม คำนวณโดยการใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสู่งเป็นเมตรยกกำลังสอง) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สะท้อนถึงการดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล พบว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ การส่งเสริมให้คนเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้ง่ายขึ้นนั้นมิได้ทำให้คนดูแลตนเองแย่ลง (แม้จะไม่ได้ทำให้ดูแลตนเองดีขึ้นก็ตาม)
ในขณะเดียวกัน กลับพบว่า การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบดูแลรักษาได้ง่ายขึ้นนั้น มีประชากรวัยกลางคนขึ้นไป ที่มิใช่คนสูงอายุที่ประเมินสถานะสุขภาพตนเองว่า นโยบายเช่นนี้ช่วยให้สถานะสุขภาพโดยรวมของเค้าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังเคยมีคนพยายามทบทวนงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลก เพื่อหาคำตอบว่า มีรูปแบบการจัดรัฐสวัสดิการแบบใดบ้างไหม ที่จะส่งผลทำให้เกิดผลเสีย หรือทำให้คนดูแลตนเองแย่ลง แต่สุดท้ายก็สรุปกันว่า ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะสนับสนุนถ้อยความดังกล่าวได้
สอง ประเด็นเรื่องความห่วงใยของท่านนั้นน่านำมาช่วยกันขบคิด เพราะคำสำคัญคือ "การดูแลตนเอง" หรือเรียกว่า self care นั้น หากทำให้เกิดขึ้นในประชาชนไทยได้ ย่อมจะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะหากแต่ละคนดูแลตนเองได้ดี การเจ็บป่วยก็จะน้อยลง ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง ผลิตภาพก็จะเพิ่มขึ้น
คำถามที่ควรค้นหาคำตอบคือ "ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ประชาชนในสังคมสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น?"
เรื่องนี้ Rogers A และทีมงานของเค้านำเสนอได้ดีในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน BMC Public Health ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับโลก ในปีค.ศ.2015 แม้แนวคิดสรุปรวบยอดนั้นจะมาจากการศึกษาในกลุ่มประชากรที่เป็นเบาหวานก็ตาม แต่สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้กับแทบทุกสถานการณ์ในบ้านเรา เพราะการวิจัยอื่นๆ ในบริบทที่ต่างกันก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน
เล่าสั้นๆ ได้ว่า หากอยากทำให้คนเรามีความสามารถในการจัดการดูแลตนเองได้ดีขึ้น ต้องทำ 3 เรื่องไปพร้อมกัน ได้แก่
1. จัดการสภาพแวดล้อมในสังคม ให้เอื้อต่อการดูแลตนเองของประชาชน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการกิน การอยู่ การเดินทาง การสื่อสาร การเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ถูกต้อง มิใช่เรียกร้องให้คนดูแลสุขภาพตนเอง แต่สุดท้ายในชีวิตประจำวัน เจอแต่อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การเดินทางคมนาคมที่แสนยากลำบากกว่าจะไปถึงสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการเหลียวซ้ายแลขวาเจอแต่ข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น เข้ามาหาในไลน์ เอสเอ็มเอส เฟซบุ๊ค หรือแม้แต่ผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ แถมเป็นข้อมูลที่หลอกลวงเสียเป็นส่วนใหญ่ พูดง่ายๆ คือ รัฐจำเป็นต้องจัดให้เกิดผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ แหล่งข้อมูล และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ดี เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ทำลายสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ด้วยตนเอง หากอยากให้เค้าดูแลตนเองได้ ก็ต้องมีทางเลือกที่ดีให้เค้า
จะทำได้อย่างไร? คำตอบคือ ลงทุนเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และหมั่นตรวจสอบให้ดีว่า นโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ทำแต่ละเรื่องนั้น มันใช่แนวนี้ไหม ถ้าไม่ใช่หรือสวนทางกับแนวนี้ ก็โปรดยั้งๆ ไว้บ้าง อย่าโลภหวังแต่โกยเงินผ่านระบบทุนนิยมที่มุ่งเอาตัวเลขเป็นหลัก
2. มีกลไกสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ประชาชนได้สามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง ข้อนี้หมายถึงประชาชนจำเป็นต้องได้รับทราบวิธีการดูแลตนเองที่ถูกต้องเหมาะสม ผ่านการให้ความรู้ จัดอบรมทักษะที่จำเป็น รวมถึงการมีกลไกประสานงานระดับพื้นที่และครัวเรือนที่สามารถให้เค้าเหล่านั้นสอบถามหรือขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวก ที่ดีตอนนี้คือ นโยบายบางอย่างดูจะเป็นพื้นฐานของกลไกสนับสนุนดังกล่าว เช่น การพยายามจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอและระดับเขตที่หวังจะเป็นแพล็ตฟอร์มให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม มาร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ แม้จะเพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่ก็ดูน่าจะดี และคงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะผลักดันงานให้เกิดขึ้นได้ตามที่กล่าวมาหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วอยากเตือนให้ระวังกับดักที่ไทยเรามักเจอประจำจนชาชินคือ การบริหารในลักษณะราชการแบบสั่งการจากบนลงล่าง หรือการทำงานกันแบบเจ้านายและลูกน้อง ถือศักดิ์ถือศรี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่นำมาสู่ความล้มเหลวในอนาคต การทำงานลักษณะที่พึงปรารถนาคือ เคารพกันและกัน ทำงานด้วยกันเป็นเพื่อน จึงจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้
นโยบายบางอย่างแบบที่ประกาศปาวๆ ว่าจะให้หน่วยงานรัฐจัดทีมไปดูแลประชาชน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา จะด้วยเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตามนั้น ขอทีเถิด โปรดอย่าป่าวประกาศอีกเลย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสิ่งที่ท่านทำอยู่นั้นเป็นงานยักษ์เกินกว่าจะพึ่งทีมนั้นๆ ให้รับผิดชอบ สุดท้ายแล้วคนทำงานจะคราก และไม่ไหวในที่สุด โปรดยืนบนความเป็นจริงเถิด อย่ายึดติดในความคิดตนเอง หรือกิเลสการทำให้เป็นผลงานและภาพลักษณ์ของตนเองเลย เพราะงานแบบนี้เดิมพันด้วยทั้งชีวิตคนทำงาน และประชาชนทั้งประเทศ สู้ปรับรูปแบบให้ยืนบนพื้นฐานความจริงมิใช่ความฝันจะดีกว่า
3. สำคัญมาก ที่ผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้บริหาร หรือในที่นี้คือรัฐบาล จะต้อง "ประกาศนโยบาย" สนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่จะลงทุนในเรื่องนี้ ทั้งกลไกการทำงาน สภาพแวดล้อมในสังคม และระบบบริการดูแลรักษา และสนับสนุนช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานความเป็นจริงเชิงทรัพยากร คน เงิน ของ เวลา และความสามารถ และต้องกระทำอย่างต่อเนื่องจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จเรื่องการทำให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้
สุดท้ายนี้ คงเห็นแล้วว่า การสร้างระบบสวัสดิการสังคมอย่างหลักประกันสุขภาพนั้น มิได้ทำให้เรื่องการดูแลตนเองของประชาชนนั้นแย่ลงนะครับจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีในปัจจุบัน
เรื่องการส่งเสริมให้คนในประเทศสามารถดูแลตนเองได้นั้น สมควรทำอย่างยิ่ง การจะทำให้เค้าดูแลตนเองได้ มิใช่แค่ร้องกันปาวๆ แต่จำเป็นที่จะต้องทำสามเรื่องไปพร้อมกันคือ พัฒนาสภาพแวดล้อมในสังคมให้เอื้อต่อการดูแลตนเองของประชาชน, พัฒนากลไกสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม, และแน่นอนคือรัฐบาลควรพิจารณาประกาศนโยบายสาธารณะในเรื่องนี้ โดยยืนบนพื้นฐานความจริง มิใช่บนภาพฝันที่ผลักไปอยู่บนบ่าของคนทำงานในระบบใดระบบหนึ่ง
เพราะเรื่องสุขภาพ เรื่องคุณภาพชีวิต เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://cup10997.blogspot.com