นักวิชาการชี้ กองทุนรอบโรงไฟฟ้า เยียวยาผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อมไม่คุ้ม
กระแสสร้างโรงไฟฟ้าในท้องถิ่นคึกคักทั้งหนุน-ต้าน เวทีถกจังหวัดตรังเลื่อน ก.พลังงานเผยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อชุมชนมีงบกว่า 3,000 ล้านบาท นักวิชาการชี้ไม่คุ้มเยียวยาผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม
จากกรณีความเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ สถานการณ์ล่าสุดนางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศน์วิทยา เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ตรังว่าจากเดิมที่จะมีการจัดเวทีเสวนา “พลังงานหมุนเวียนกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง” เพื่อพูดคุยผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยและต่างประเทศ และศักยภาพของการสร้างทางเลือกเรื่องพลังงานหมุนเวียนทดแทน วันที่ 30 พ.ค.55 ได้เลื่อนออกไปเป็น 9 มิ.ย.
นางศยามล ยังกล่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีแผนงานจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เฉลี่ยกำลังผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหนักตามแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล และจากข้อมูลของ กฟผ.นั้นโรงไฟฟ้าที่จังหวัดตรังจะใช้ถ่านหิน 7,184 ตันต่อวัน คิดเป็น 2.23 ล้านตันต่อปี โดยนำเข้าถ่านหินซับบิทูมินัสจากอินโดนีเซีย ซึ่งคนในพื้นที่หวั่นเกรงถึงผลกระทบของโครงการดังกล่าว
“การขนส่งถ่านหินใช้เรือท้องแบนขนาดบรรทุก 8,000 – 9,000 ตัน กรณีที่พื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้าเรือไม่สามารถเข้าได้ จะขนส่งต่อด้วยรถบรรทุกขนาด 40 ตัน 200 คัน เดินทาง 400 เที่ยวต่อวัน และต้องมีสายพานลำเลียงถ่านหินขึ้นจากเรือผ่านชุมชนหรือป่าชายเลนระยะทาง 5-7 กิโลเมตร และจะมีการส่งไฟฟ้าเข้าระบบที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงทุ่งสง พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. มีทางเลือก 3 พื้นที่ ได้แก่ คลองเจ้าไหม ต.บางสัก อ.กันตัน บริเวณลุ่มแม่น้ำตรัง ต.นาเกลือ อ.กันตัน และบริเวณลุ่มแม่น้ำปะเหลียน ต.วังวน อ.กันตัง”
ด้านนายทศพร กาญจนภมรพัฒน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)บางหมาก จ.ตรัง กล่าวว่าเห็นด้วยหากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ เพราะช่วยให้มีพลังงานใช้เพิ่มขึ้น และจะมีเงินกองทุนมาพัฒนาสาธารณูปโภค สวัสดิการชุมชน สุขภาวะ อาชีพของคนในพื้นที่
“เราอนุรักษ์ทรัพยากร แต่ตำบลก็ต้องพัฒนา ซึ่งโรงไฟฟ้านี้จะใช้ถ่านหินแบบซับบิทูมินัส ที่มีผลกระทบน้อยสุด ไม่น่าจะเหมือนกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่ปัญหาคือชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวจากเอ็นจีโอ จึงต่อต้าน” อดีตนายกอบต.กล่าว
ขณะที่นายเฉลิม ทองพรม นายกฯอบต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่าที่ผ่านมาได้ท้องถิ่นได้รับเงินกองทุนฯ และล่าสุดปีงบประมาณ 54 ชุมชนคลองเปียะก็ได้อีกกว่า 2.8 ล้าน แต่เงินเหล่านี้ที่จัดสรรกระจายลงสู่ตำบลและหมู่บ้าน กลับไม่สามารถฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและผลกระทบชุมชนได้เลย
“เงินกองทุนฯ เป็นเบี้ยหัวแตก เมื่อลงสู่แต่ละหมู่บ้านก็เพียง 60,000 – 100,000 บาทซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรนัก อย่าพูดถึงการพัฒนา เอาแค่ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก็ไม่เพียงพอแล้ว ทั้งน้ำเสียและควันพิษ” นายเฉลิมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ อ.จะนะ มีการสร้างโรงไฟฟ้ากาซธรรมชาติไปแล้ว 1 โรง และกำลังดำเนินการก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จอีก 1 โรงในปี 2557
ทั้งนี้ในอีกด้านหนึ่งได้มีการตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อชุมชนที่ยั่งยืน(กกพ.) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน นางปิยวรรณสุกใส ผู้ชำนาญการพิเศษ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่า กกพ.ตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน 2550 เพื่อเป็นทุนในการบริการไฟฟ้าไปให้ท้องที่และพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าซึ่งมี งบประมาณกว่า 3.000 ล้านบาทจัดสรรให้แต่ละกองทุนตามโรงฟ้าที่เข้าไปตั้งในชุมชนและมีการเสนอโครงการเข้ามา
นายเอนก นาคะบุตร ประธานสถาบันส่งเสริมความรู้ท้องถิ่น กล่าวว่าแต่เดิมมีกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า แต่มีปัญหาการบริหารจัดการกองทุนไม่ค่อยโปร่งใสนัก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงงบประมาณได้ แต่หลังจากเปลี่ยนเป็น กกพ. ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันทำประชาคมคัดเลือกคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.)
“เมื่อก่อนไม่มีระเบียบกำหนดว่าต้องใช้งบในการพัฒนาชุมชน 95% ใช้ในการประชุมแค่ 5%จึงมีการใช้เงินในทางที่ไม่โปร่งใสงบไม่ถึงมือชาวบ้าน”นายอเนกกล่าว
ด้านดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่าเงินเยียวยาจากกองทุนชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ไม่คุ้มทุนกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าที่เข้าไปตั้งในพื้นที่เพราะคิดบนพื้นฐานของการปันรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือค่าเอฟทียูนิตละ 1-2 สตางค์ ทั้งที่ควรจะมาจากฐานคิดเรื่องมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้น.