แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน
รองอธิบดีกรมสวัสดิการฯ จัดรับฟังทบทวนร่างกฎกระทรวง เพิ่ม ‘จป.วิชาชีพ’ ป้อนตลาด ไม่จำเป็นต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ แค่มีประสบการณ์ 5 ปี ผ่านอบรม 222 ชม. ระบุจำเป็นเหตุผู้ประกอบการร้องมีไม่เพียงพอ ยันใช้เป็นมาตรการชั่วคราว 5 ปี ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งกังวล ไม่จบเฉพาะทาง เสี่ยงขาดความรู้
วันที่ 20 ก.ย. 2561 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนการออกกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ พ.ศ. ... ครั้งที่ 1/2561 ในประเด็นคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขาปฏิบัติหน้าที่ได้ หากผ่านอบรม โดยไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเท่านั้น จนนำมาสู่ข้อกังวลของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยบางแห่งเกี่ยวกับความไม่ถูกต้อง หากมีบุคลากรที่ทำหน้าที่โดยไม่ผ่านหลักสูตรโดยตรง อาจส่งผลกระทบความความปลอดภัยของผู้ทำงาน ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงเหตุผลต้องทบทวนกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายคนไม่สามารถจัดหา จป.วิชาชีพ ได้เพียงพอ ทำให้กรมสวัสดิการฯ ต้องหาทางออกชั่วคราว โดยแก้ไขกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกสาขา มีประสบการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างน้อย 5 ปี เข้าอบรมในหลักสูตร 222 ชั่วโมง ยกระดับเป็น จป.วิชาชีพ ได้ ซึ่งมาตรการนี้จะใช้ในช่วง 5 ปี เท่านั้น เพื่อผ่อนคลายปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยดำเนินการผลิตบัณฑิตป้อนตลาดต่อไป
เมื่อถามถึงเหตุผลไม่จำกัดวุฒิการศึกษาต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รองอธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวต่อว่า ช่วงนี้ค่อนข้างยาก จึงมาเน้นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยแทน เหมือนดึงคนในวงการ ผ่านประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว เข้าอบรมเพิ่มเติม ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีสภาองค์การนายจ้าง และสภาลูกจ้าง เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แต่การประชุมครั้งนี้ไม่ได้เชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตร จป.วิชาชีพ ระดับปริญญาตรี มี 35 แห่ง ได้แก่ ม.มหิดล, ม.ธรรมศาสตร์, ม.ขอนแก่น, ม.บูรพา, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.วลัยลักษณ์, ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, ม.ทักษิณ, มรภ.วไลยอลงกรณ์, ม.เอเชียอาคเนย์, มรภ.จันทรเกษม, ม.สงขลานครินทร์, ม.อุบลราชธานี, ม.นเรศวร, ม.พะเยา, วิทยาลัยนครราชสีมา, ม.วงษ์ชวลิตกุล, วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, มรภ.สวนสุนันทา, ม.อีสเทิร์นเอเชีย, มรภ.พระนครศรีอยุธยา, ม.ปทุมธานี, มรภ.นครสวรรค์, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.เวสเทิร์น, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ, ม.รามคำแห่ง, วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา, มรภ.อุบลราชธานี, สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ และมรภ.เชียงราย
ขณะที่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตร จป.วิชาชีพ ระดับปริญญาโท มี 3 แห่ง ได้แก่ ม.มหิดล, ม.สงขลานครินทร์ และม.บูรพา .