กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
“…ตอนนี้มีสูตรใหม่ที่ ‘ไม่น่าจะเป็นไปได้’ แต่ก็ได้รับการจับตามองจากหลายฝ่ายคือ สมมติว่า พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาราว 200 ที่นั่ง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งราว 80-90 ที่นั่ง ฝ่ายพรรคเพื่อไทยอาจโหวตเลือกนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี แบบ ‘เซอร์ไพรส์’ เพื่อ ‘แก้เผ็ด’ ฝ่ายทหารก็เป็นไปได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หากได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ของสภา ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยช่องโหว่เปิดทางให้ ส.ว. ที่ คสช. คัดสรรมากับมือมามีส่วนร่วมเลย หลังจากนั้นค่อย ‘ดีล’ ผลประโยชน์ทางการเมืองกันทีหลัง ?...”
ปี่กลองการเมืองเริ่มโหมโรงขึ้นอีกครั้ง!
ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กฎหมายลูก ส.ส. และ ส.ว. ถือเป็นกฎหมายลูก ‘ฉบับสำคัญ’ ต่อจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ครบถ้วน 4 ฉบับนี้ทำให้ทิศทางการเมืองไทยต้องเข้าสู่วงจรการเลือกตั้งทันที ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 (อ่านประกอบ : ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่, มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.)
หลังจากนั้น คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2561 พยายาม ‘คลายล็อค’ ให้มีการเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค เลขาธิการพรรค และอื่น ๆ อีกยิบย่อยในส่วนของเรื่องบริหารภายในพรรค แต่ปิดประตูห้ามหาเสียงทั้งในโลกความจริง และโลกออนไลน์ ขณะเดียวกัน กกต. หน่วยงานสำคัญในการจัดเลือกตั้งออกประกาศ กำหนดที่นั่ง ส.ส. รวม 500 ชื่อ เป็นแบ่งเขต 350 ชื่อ และบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 150 ชื่อ โดยมีหลายจังหวัดถูกหั่นเก้าอี้ เช่น กทม. เหลือเพียง 30 ที่นั่ง เป็นต้น (อ่านประกอบ : งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง, กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน)
เมื่อองค์ประกอบที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครบถ้วน ทำให้นักการเมืองรุ่น ‘ลายคราม’ เริ่มเปิดตัวออกมาสู่หน้าม่านกันมากขึ้น หลังดีลอยู่หลังฉากมาเนิ่นนาน ขณะเดียวกันพรรคการเมืองใหม่ ๆ ทยอยเปิดตัวหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค และเริ่มหารือเรื่องการ ‘จับมือ’ กับหลายขั้ว เตรียมจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว
อย่างไรก็ดีโฟกัสของประชาชน และคนการเมือง ย่อมสนใจอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่ในไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ที่สะบักสะบอมอย่างมาก อดีตหัวหน้าพรรคหลบหนีคำสั่ง คสช. อยู่ต่างประเทศ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกหมายจับฐานหลบหนีคำพิพากษาคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว อดีตรัฐมนตรีถูกตัดสินจำคุกหนักคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต ยังไม่นับคดีการอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาคนเสื้อแดง ที่อดีตคณะรัฐมนตรียุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินการ หรืออดีต ส.ส. 40 รายเข้าชื่อเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ‘ฉบับเหมาเข่ง’ รอคิวถูกไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บานเบอะ
นอกเหนือจากปัญหาด้านคดีความแล้ว ยังมีปัญหา ‘รอยร้าว’ ภายในพรรค โดยเฉพาะการแย่งชิงตำแหน่ง ‘หัวเรือใหญ่’ ที่ปัจจุบันยังหากันไม่ได้ แม้บางขั้วในพรรคเพื่อไทย จะทยอยโยนหินถามทางปล่อยชื่อ ‘บิ๊กเนม’ ออกมาบ้าง เช่น ‘คุณหญิงหน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ขั้วสำคัญใน กทม. ที่ว่ากันว่ามีคอนเนคชั่นหลากหลายทั้งฝ่ายธุรกิจ ยันลายพราง ขณะที่ผู้มากบารมีในพรรคทางภาคเหนือ คือ กลุ่ม วงศ์สวัสดิ์-ดามาพงศ์ มีการปล่อยชื่อของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวสุดเลิฟ ‘นายใหญ่’ นายทักษิณ ชินวัตร ออกมา เนื่องจากหลุดพ้นคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 ไปแล้ว ทำให้สามารถกลับมาทำงานการเมืองได้อย่างเต็มที่
มีอีก 2 ชื่อ ได้แก่ นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ‘สมชาย-เจ๊แดง’ และนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามีนางพินทองทา คุณากรวงศ์ ลูกเขยนายทักษิณ มาเดินเส้นทางการเมืองเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ทั้ง 2 ชื่อถูกปฏิเสธจาก ‘บิ๊ก’ ในพรรคไปแล้ว เพราะไม่อยากให้ตระกูล ‘ชินวัตร’ ซ้ำรอยเดิมกับ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีก ?
ส่วนพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกปัญหารุมเร้าเหลือคณานับ โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกภายในพรรค แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแรก ‘นายหัวชวน’ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีคุมกำลัง ส.ส. ภาคใต้ส่วนหนึ่ง ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กำลัง ‘ซุกใต้ปีก’ อยู่ตอนนี้ กลุ่มที่สอง กลุ่ม กปปส. กลายมาเป็นกลุ่มอิทธิพลใหญ่ในพรรค ว่ากันว่าเดินตามทิศทางของ ‘กำนันสุเทพ’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปัจจุบันไปก่อร่างสร้างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้
ปัญหาตอนนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ คล้ายคลึงกับพรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทยคือ การควานหาตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ หลังเกิดวิกฤติศรัทธาในตัวนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ครองเก้าอี้มายาวนานถึง 13 ปีเศษ ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีอยู่ 3 ชื่อที่ถูกท้าชิงเข้ามา ได้แก่ นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สายตรง ‘กำนันสุเทพ’ มีภูมิหลังที่ค่อนข้างดี และเป็นตัวชูโรงปราบทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจนล้มรัฐบาลเพื่อไทยได้สำเร็จ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สายเดียวกับนายอภิสิทธิ์ และนายชวน และอีกชื่อหนึ่งเป็นของ ‘คนคุ้นเคย’ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิก ที่ลาออกไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนที่จะอยากหวนกลับมาขอท้าชิง ‘หัวเรือใหญ่’ ประชาธิปัตย์ ว่ากันว่าผ่านการผลักดันของ ‘ใครบางคน’ แต่กรณีของนายอลงกรณ์นั้น ถูกประเมินว่า เพียงแค่อยากกลับเข้ามาเป็น ส.ส. ในพรรคมากกว่าเป็นหัวหน้า
อย่างไรก็ดีว่ากันว่าหมากตอนนี้ของพรรคประชาธิปัตย์คือ ใช้สูตรให้นายอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปก่อน เพราะตามธรรมเนียมหากพรรคแพ้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจะต้องลาออก แกนนำพรรคประเมินกันแล้วว่า การเลือกตั้งคราวนี้ ประชาธิปัตย์ ‘ไม่น่ารอด’ อาจได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่ถึง 100 ที่ด้วยซ้ำไป ดังนั้นหากประชาธิปัตย์แพ้ นายอภิสิทธิ์ลาออก ค่อยไปควานหาหัวหน้าพรรคคนใหม่จะสง่างามกว่า ส่วนจะมาจากสายไหน ต้องรอดูท่าทีกันอีกครั้ง แต่คาดกันว่าน่าจะมาจากสาย กปปส. ที่นายสุเทพผู้มากบารมีนอกพรรคหนุนหลังอยู่
แต่ไม่ว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นใคร ไม่สำคัญเท่ากับว่า 2 พรรคนี้จะส่งใครลงบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ?
แน่นอนสำหรับพรรคเพื่อไทยยังคงอุบไต๋อยู่ และเชื่อกันว่าคงรอให้ถึงจังหวะเวลาเหมาะสม นั่นคือมีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว เพื่อดูทิศทางการเมืองให้นิ่ง และแน่นอนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นชัวร์เสียก่อน แต่เชื่อได้เลยว่าคงไม่ส่งคนสกุล ‘ชินวัตร’ ลงอีกแล้ว
ส่วนประชาธิปัตย์ น่าลุ้นกว่าเยอะ เพราะกำลังสั่นคลอน เต็มไปด้วยรอยร้าวลึกของกลุ่มขั้วการเมือง ดังนั้นหากสูตรออกมาว่า ให้นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคต่อ และใส่ชื่อนายอภิสิทธิ์ไป จะเหลือที่ว่างอีก 2 ชื่อ มีเสียงกระซิบในพรรคว่า บางขั้วในพรรคเริ่มดีลให้ใส่ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้า คสช. ด้วย เผื่อเหลือเผื่อขาดว่า ในอนาคตประชาธิปัตย์อยากกลับไปมีบทบาทเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ?
อย่างไรก็ดีตอนนี้มีสูตรใหม่ที่ ‘ไม่น่าจะเป็นไปได้’ แต่ก็ได้รับการจับตามองจากหลายฝ่ายคือ สมมติว่า พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาราว 200 ที่นั่ง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งราว 80-90 ที่นั่ง ฝ่ายพรรคเพื่อไทยอาจโหวตเลือกนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี แบบ ‘เซอร์ไพรส์’ เพื่อ ‘แก้เผ็ด’ ฝ่ายทหารก็เป็นไปได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หากได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ของสภา ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยช่องโหว่เปิดทางให้ ส.ว. ที่ คสช. คัดสรรมากับมือมามีส่วนร่วมเลย หลังจากนั้นค่อย ‘ดีล’ ผลประโยชน์ทางการเมืองกันทีหลัง ?
สูตรใหม่นี้ ถูกประเมินจากฝ่ายความมั่นคง กลุ่มสามมิตร แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองว่า ถึงมันจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะตอนนี้เอาแน่เอานอนกับความคิดของนายทักษิณ และตระกูล ‘ชินวัตร’ ลำบากมากว่าจะแก้เกมทางการเมืองอย่างไร แต่หากสูตรนี้เกิดขึ้นจริงกลุ่ม 'พลังดูด' ที่ทำมาตั้งแต่ต้นอาจเรียกได้ว่า 'พังครืน' ก็เป็นไปได้
ท้ายที่สุดเกมการเมืองจะออกมาในรูปแบบนี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด!
อ่านประกอบ :
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
'หม่อมเต่า'ยันไม่ใช่เงา 'สุเทพ'! จดทะเบียนแล้วพรรค รปช. ทุน 30 ล.สมาชิกเริ่มต้น 607 คน