ถกช่องโหว่ ม.48 ร่าง กม.อุดมศึกษา เปิดทางมหาวิทยาลัยทำธุรกิจ ไร้ใบอนุญาตวิชาชีพ
ถกช่องโหว่ ร่าง กม.การอุดมศึกษา เปิดช่องมหาวิทยาลัยทำธุรกิจแข่งเอกชน หวั่นกระทบงานด้าน วิศวกรรม-สถาปัตยกรรม รับงานโดยไร้ใบอนุญาตฯ จี้ตัดคำ ‘วิชาชีพ’ ออกจาก ม.48
เป็นประเด็นที่แวดวงการศึกษาต้องจับตา สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ. ...ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังเป็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับเนื้อหา มาตรา 48 ซึ่ง 4 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาทนายความ และสภาวิชาชีพบัญชี ตีความว่า เปิดช่องให้อำนาจมหาวิทยาลัยดำเนินธุรกิจแข่งขันกับเอกชนได้
ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ สภาสถาปนิก โดยเรียกร้องให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ออกทั้งหมดจากมาตรา 48 มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะงานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ที่เป็นงานเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ซึ่งตามกฎหมายระบุชัดเจนจะประกอบวิชาชีพดังกล่าวได้นั้น ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร ยืนยันว่า หากไม่ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ออกจากมาตรา 48 ของร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ไม่ว่าสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า การประกอบวิชาชีพดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ถือใบอนุญาตทั้งในส่วนบุคคลและนิติบุคคล ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยจะประกอบวิชาชีพต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ในเงื่อนไขปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำได้ ยกเว้นจัดตั้งเป็นหน่วยงานอิสระของมหาวิทยาลัย เพื่อมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนสำหรับถือใบอนุญาตบริหารหน่วยงานนั้น
“การออกใบอนุญาตจะต้องมีความมั่นใจว่าผู้ประกอบวิชาชีพนั้นมีความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบวิชาชีพนั้นอย่างเพียบพร้อม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน คือ เกิดความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”
การประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าในสาขาใด จะมุ่งเน้นความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นถ้าออกมาโดยขาดประสบการณ์ความสามารถในการประกอบวิชาชีพอย่างแท้จริง ทั้งเรื่องทักษะสายวิชาชีพ อ่อนประสบการณ์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ควบคุมดูแล และถ้าไม่ถือใบอนุญาต สภาวิชาชีพจะไม่สามารถเข้าไปดูแลเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากจรรยาบรรณครอบคลุมเรื่องการประกอบวิชาชีพถูกต้องตามหลักวิชาการของวิศวกรและสถาปนิก มุ่งเน้นถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในการดำเนินการกิจการนั้น
ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร
นายกสภาวิศวกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อ พ.ร.บ.ข้างเคียงอื่น ๆ ซึ่งเพิ่งประกาศใช้ คือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า “ผู้จะมาประกอบวิชาชีพกับรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นผู้ถือใบอนุญาตนิติบุคคลของทั้งสองสภา คือ สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพบุคคลต้องถือใบอนุญาตตามลักษณะงานที่รับมาทำ ซึ่งในลักษณะนี้เมื่อมีการประกวดราคา เจ้าของจะระบุว่า ถือใบอนุญาตนิติบุคคลและบุคคลตามลักษณะงานที่ดำเนินการ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลกระทบต่อเนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ชัดเจน
อีกประการหนึ่ง การประกอบวิชาชีพในกรณีเกิดมีความเสียหายขึ้น ดร.กมล ตั้งคำถามถึงการชดใช้จะทำอย่างไร เพราะจะหาผู้มารับผิดชอบในลักษณะงานดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดต่อเนื่อง คือ มีการใช้เวลาราชการ อุปกรณ์ หรืออุปกรณ์พื้นฐานของราชการมาแข่งขันกับเอกชน และกลายเป็นว่าหน่วยงานของรัฐทำกิจการแข่งกับเอกชน ซึ่งระบุไว้ชัดเจนทำไม่ได้
“ในลักษณะนี้เมื่อนำพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐมาใช้งานแข่งกับเอกชน ต้องมองย้อนกลับไปว่า ความถูกต้องอยู่ตรงไหน และรับงานมา แต่อาจจะไม่ได้ดำเนินการเอง ไปส่งต่อให้บริษัทอื่น ๆ ในการทำงาน มีการเก็บส่วนต่างทำนองนี้ เป็นเรื่องธรรมาภิบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงเช่นกัน” นายกสภาวิศวกร กล่าว
ด้าน พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก แสดงความเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาควรมีความรู้ด้านประสบการณ์วิชาชีพอยู่ด้วย เพราะสอนวิชาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม แต่การมีประสบการณ์ ทำได้หลายวิธี อาจไปฝึกงานสำนักงานสถาปนิกหรือวิศวกร ซึ่งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยบางแห่งส่งคนออกไปทำงาน แล้วกลับมาสอนหนังสือ หรือตั้งหน่วยงานให้บริการวิชาการ แต่การประกอบวิชาชีพ ตามหลักการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน เพื่อควบคุม มิฉะนั้นจะส่งผลให้เกิดปัญหาหลากหลาย เช่น ผู้ออกแบบจากสถาบันการศึกษา หากไม่มีการควบคุม จะมีการออกแบบได้ตามที่ต้องการ อย่างเวลานี้สถาปนิกจะออกแบบอาคาร มีขอบเขตว่า สถาปนิกระดับภาคีออกได้กี่ตร.ม. แต่กรณีที่สถาบันอุดมศึกษารับไปแล้ว เราเข้าไปควบคุมไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ทั้งนี้ เมื่อไปออกแบบเชื่อว่า ประชาชนจะลำบาก เพราะจะใช้ระบบหน่วยต่อหน่วย คือ หน่วยงานของรัฐจ้างหน่วยงานของรัฐทำ โดยไม่มีการแข่งขัน เมื่อหน่วยงานของรัฐทำงาน แล้วคนทำงานรัฐไม่มีใบประกอบวิชาชีพ งานออกแบบหลายงานในอดีตจึงเกิดความเสียหายและจะส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณของรัฐ หลายโครงการใช้งานไม่ได้ ประชาชนจึงได้รับผลกระทบใช้งานไม่ได้ไปด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภครองรับ เพราะเราไปจ้างกลุ่มคนไม่มีใบประกอบวิชาชีพ และบุคคลเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ได้อยู่ในระบบจรรยาบรรณวิชาชีพ
“ถ้าเราปล่อยให้คนไม่มีใบอนุญาตทำงานได้อย่างเสรีผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้สถาบันการศึกษาทำงานได้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ความเสียหายของรัฐจะเกิดขึ้น ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นี่จึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเกิดความเสียหายมากมาย”
นายกสภาสถาปนิก กล่าวด้วยว่า ต้องตัดคำว่า “วิชาชีพ” ออกไปจากมาตรา 48 จะได้เกิดความชัดเจนและทำให้การทำงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยไม่มีความขัดแย้งของเนื้อหา แต่หากยืนยันว่า ไม่ตัด เสนอควรเพิ่มเติมเข้าไปในมาตรา 48 ว่า “ปฏิบัติวิชาชีพให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.อื่น ๆ” แต่ไม่ใช่ไปแก้พ.ร.บ.ฉบับอื่น เพราะการสอดคล้อง หมายถึง ถ้าทำงานวิชาชีพ โดยมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
“เวลานี้มหาวิทยลัยเอกชนจดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้อยู่แล้ว เพราะเป็นนิติบุคคลสามารถจดบริษัทขนาดย่อม รวมถึงมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ขาดเพียงในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐที่ยังจดไม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นปัญหา แต่อีกไม่นานตรงนี้จะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี แม้จะให้บริการวิชาชีพไม่ได้ แต่สามารถให้บริการวิชาการให้กับงานออกแบบได้” พล.ร.อ.ฐนิธ ระบุ
พล.อ.ต.หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก
ขณะที่พล.อ.ต.หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวเสริมไม่เฉพาะเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ขัดแย้งกันเอง ยังพบขัดแย้งกับกฎหมายอื่นด้วย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยอธิบายว่า แม้พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ จะเขียนไว้รัดกุม แต่ยังเปิดช่องให้สถาบันการศึกษาให้บริการทางวิชาการได้เหมือนเดิม จึงเป็นเหตุให้สถาบันการศึกษาใช้ช่องทางบริการวิชาชีพเหมือนเดิมด้วย
“พ.ร.บ.ได้กำหนดกฎกระทรวงประกอบ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม สำหรับกฎกระทรวงฉบับนี้ มีการส่งเสริมด้านการศึกษาและจ้างสถาบันการศึกษาทำงานด้านวิชาการได้”
ทั้งนี้ ในการใช้ดุลยพินิจใดเกี่ยวกับการศึกษา เรื่องใดเกี่ยวกับวิชาการ ตามกฎหมายเดิมมีคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ มีคำวินิจฉัยออกมาหลายครั้งและชัดเจนว่า “การให้บริการวิชาชีพไม่ใช่การให้บริการวิชาการ” เป็นการที่ผู้ว่าจ้างแลผู้รับจ้างปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ต่อมาเมื่อใช้กฎหมายฉบับใหม่ จะมีคณะกรรมการวินิจฉัยเรื่องนี้เปลี่ยนไป แต่มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า “การให้บริการวิชาชีพ ไม่ใช่การให้บริการวิชาการ”
อีกทั้ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ยังระบุไว้ชัดเจน ในหมวดจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างว่า “ผู้ให้บริการด้านการออกแบบและควบคุมงานต้องได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพ” ส่วนในงานที่ปรึกษากำหนดในกฎกระทรวง ถ้าเป็นลักษณะงานที่มีการควบคุมต้องได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพ การหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติจึงส่งผลให้เกิดผลเสียหลายเรื่อง
................................................................................................................................................................................
มาตรา 48 บัญญัติว่า“สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพและให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยนำความรู้จากการจัดการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาการ การผลิตงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มาดำเนินการดังกล่าว เพื่อพัฒนาสังคม ในด้านวิชาการหรือการพัฒนาความรู้ตลอดจนความเข้มแข็งของประเทศชาติและนานาชาติ”
อ่านประกอบ:4 สภาวิชาชีพ ค้าน ร่างกม.อุดมศึกษา จี้ตัดคำ ‘วิชาชีพ’ ออกจากมาตรา 48
4 สภาวิชาชีพ ยก 7 เหตุผลค้านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ตัด "วิชาชีพ" ออกจากม.48