ทบ.-ทอ.ซื้อหลายครั้งเชื่อใช้ได้จริง!ข้อต่อสู้ บ.เอวิเอฯก่อนแพ้คดี GT200 ชดใช้ 9 ล.
เปิดข้อต่อสู้ บ.เอวิเอ แซทคอมฯ-พวก จำเลย 1-5 หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องแพ่งเรียกเงินคืนปมถูกหลอกซื้อ GT200 รวม 3 ครั้ง 9 ล้าน อ้างเป็นแค่ตัวแทนจำหน่าย ประสานงานกับ บ.แม่ที่อังกฤษ ชี้ ทบ.-ทอ. เคยจัดซื้อหลายครั้ง เชื่อโดยสุจริตว่าเครื่องใช้ได้จึงรับมาจำหน่ายต่อเรื่อยมา ศาลวินิจฉัยเป็นสัญญาโมฆะต้องคืนทรัพย์
จากกรณีกรมราชองครักษ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด พร้อมกรรมการ และเจ้าหน้าที่ในบริษัทรวม 5 รายเป็นจำเลยที่ 1-5 คดีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิด และสารเสพติดรุ่น GT200 รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 9 ล้านบาท ทั้งที่เครื่อง GT200 ไม่สามารถใช้งานได้ โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ได้ตัดสินคดีความแพ่งดังกล่าว ไม่รับคำฎีกาของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เรื่องการขาดอายุความ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่ง พิพากษาให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงิน 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 บาท/ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2557 (อ่านประกอบ : ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบการชี้แจงของฝ่ายบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกเป็นจำเลยที่ 1-5 ที่เบิกความในชั้นศาลแพ่ง พบรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ตามคำฟ้องของโจทก์ (กรมราชองครักษ์) ได้สั่งซื้อสินค้าเครื่อง GT200 จากจำเลยที่ 1 (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) จำนวน 3 ครั้ง รวมวงเงิน 9 ล้านบาท โดยในการจัดซื้อทั้ง 3 ครั้ง โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 นำตัวแทนคณะครูฝึกมาอบรมและสาธิตวิธีการใช้ให้ฝ่ายโจทก์ด้วยทุกครั้ง ต่อมาโจทก์มีการตั้งคณะกรรมการทดสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เครื่อง GT200 ไม่สามารถใช้งานได้เต็ม 100% แต่วัตถุประสงค์ของโจทก์ที่จัดซื้อคือต้องการหวังผลแม่นยำ 100% ต่อมามีหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานผลการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่อง GT200 ดังกล่าวจากหลายหน่วยงาน พบว่า หลายหน่วยงานตั้งราคากลางไม่เท่ากัน มีการจัดซื้อด้วยราคาแตกต่างกัน และผลการทดสอบพบว่าเครื่อง GT200 ไม่สามารถใช้งานได้จริงตามวัตถุประสงค์ โจทก์จึงดำเนินการยื่นฟ้องคดีดังกล่าว
@บ.เอวิเอ แซทคอมฯอ้างไม่เคยหลอกลวง ชี้ ทบ.-ทอ. จัดซื้อหลายครั้ง เชื่อว่าใช้ได้จริง
จำเลยทั้ง 5 ไม่ได้หลอกลวงเสนอขายเครื่อง GT200 ต่อโจทก์ (กรมราชองครักษ์) โดยโจทก์รู้จักผลิตภัณฑ์เครื่อง GT200 ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล (บริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษ ผู้ผลิต GT200) ดีอยู่แล้ว เนื่องจากเครื่อง GT200 มีใช้ในหน่วยงานราชการกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 2548 โดยกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่อง GT200 จากบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ผู้ผลิตโดยตรง และกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่อง GT200 หลายเครื่องต่อเนื่องกันนับปี และกองทัพบกจัดซื้อเครื่อง GT200 จากบริษัท โกลบอล เทคนิคอล เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) เชื่อว่า เครื่อง GT200 มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน จำเลยที่ 1 จึงยอมรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง GT200 ของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล มาจำหน่าย หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายเป็นการกระทำโดยสุจริต
@อ้างกรมราชองครักษ์ติดต่อขอซื้อเอง เป็นแค่ผู้ประสานงานให้ บ.แม่ที่อังกฤษ
จำเลยที่ 1 ไม่เคยโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่อง GT200 โจทก์ติดต่อแจ้งความประสงค์มายังจำเลยที่ 1 ว่า ต้องการซื้อเครื่องตรวจหาสสารระยะไกล โดยระบุชื่อเรียกขาน และคุณสมบัติการใช้งาน ไม่ได้เกิดจากจำเลยทั้ง 5 เสนอขายชักชวนให้ซื้อ และในการติดต่อซื้อทุกครั้ง โจทก์เป็นผู้มีหนังสือเชิญชวนมายังจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย ไม่ได้มีบริการซ่อมแซม ในการฝึกอบรมและสาธิตวิธีใช้ จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานให้คณะครูฝึกและตัวแทนของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ตลอดจนประสานให้ช่างของบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ซ่อมแซมเครื่อง GT200 เท่านั้น และบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ไม่ได้โฆษณาว่าเครื่อง GT200 ทำงานด้วยระบบคลื่นแม่เหล็ก หรือระบบไฟฟ้า และไม่ได้รับรองว่าใช้ได้ 100%
ในการซื้อขายสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าเครื่อง GT200 ที่เป็นของใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัท โกลบอล เทคนิคอล ประเทศอังกฤษ ถูกต้องครบถ้วน และมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุถูกต้องตามสัญญาซื้อขายสินค้า และการที่โจทก์สั่งซื้อเครื่อง GT200 เพิ่ม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่า เครื่อง GT200 มีคุณสมบัติและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเลยที่ 1 จึงสั่งซื้อมาขายให้โจทก์อีก จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดสัญญา หรือหลอกลวงการขายสินค้าให้โจทก์ และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 504 ขอให้ยกฟ้อง
@ศาลแพ่งชี้สัญญาเป็นโมฆะ ต้องคืนทรัพย์ให้โจทก์ ไม่ต้องวินิจฉัยปมขาดอายุความ
ศาลแพ่ง วินิจฉัยประเด็นนี้ โดยวินิจฉัยประเด็นว่าสัญญาการซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เครื่อง GT200 พิพาทไม่ได้เป็นเครื่องตรวจหาสสารระยะไกล ตรวจจับอาวุธ วัตถุระเบิด และยาเสพติดดังที่มีการโฆษณาเสนอขาย ดังนั้นการที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อเครื่อง GT200 พิพาทจากจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์พิพาท ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมสัญญาจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่
ตามที่จำเลยทั้ง 5 ให้การต่อสู้อายุความในเรื่องการส่งของไม่ตรงตามตัวอย่างหรือไม่ตรงตามคำพรรณา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 504 แต่เมื่อศาลวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ จำต้องคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ และไม่มีประเด็นดังกล่าว กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นในข้อนี้
อ่านประกอบ : 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก nationmultimedia.com