กสทช.เตรียมถกร่วม 4 หน่วยงาน งัดมาตรการปรามโฆษณาเกินจริงในวิทยุชุมชน-เคเบิ้ล-ทีวีดาวเทีียม
กสทช.งัดกฏหมาย อย.เช็กบิลเอนไซม์เจนิฟู๊ด-ซันคลาร่า-เกร็กคูโฆษณาเกินจริง สั่งไทยคมระงับออกอากาศ เตรียมถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง แ้ก้ปัญหาชัดเจน
วันที่ 30 พ.ค. 55 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณีการดำเนินงานของกสทช. เรื่องการแจ้งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู๊ด ซันคลาร่า และเกร็กคู ไปยังผู้ประกอบกิจการช่องดาวเทียม ณ สำนักงานกสทช.
โดยน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 55 สำนักงานกสทช. ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือระงับออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดไปยังบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หลังจากส่งหนังสือไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อประสานยังบริษัทผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 55 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า แม้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดจะได้การรับรองมาตรฐานจากอย. หากแต่มีการโฆษณาเกินจริงในทีวีดาวเทียมอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา เช่น ซันคลาร่า หน้ากระจ่าง หว่างกระชับ จนสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมรายการออกอากาศได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เร่งระงับการออกอากาศ โดยยึดตามกฎหมายของอย. แต่หากการแก้ปัญหาไม่สำเร็จผล ระยะยาวจำเป็นต้องเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่เอาเปรียบและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามได้เตรียมนัดหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรวมถึงปลัดกระทรวงไอซีทีรอบสองในวันที่ 1 มิ.ย. 55
ด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. กล่าวว่า การระบุผลิตภัณฑ์ทำผิดกฎหมายอาหารและยาเป็นหน้าที่ของอย. ส่วนกสทช. เป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการประสาน โดยอนาคตหากมีผลิตภัณฑ์เข้าข่ายผิดกฎหมาย จะมีการสั่งระงับการออกอากาศทันทีเมื่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบใบอนุญาตประกอบกิจการสำเร็จ แต่หากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ไม่ดำเนินการตามคำสั่งจะมีความผิดฐานร่วมมือโฆษณาเกินจริงด้วย
“การโฆษณาเกินจริงผ่านสัญญาณดาวเทียมของต่างประเทศไม่เป็นปัญหาการควบคุมของกสทช. เพราะตราบใดที่ผู้ผลิตอยู่ในประเทศไทยสามารถดำเนินตามกฎหมายได้ แต่อาจจะล่าช้า เพราะต้องใช้ระยะเวลาการหาข้อมูลที่ตั้งของผู้ผลิต” นพ.ประวิทย์กล่าว
ขณะที่ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า ปัจจุบันพบการโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลท้องถิ่น และทีวีดาวเทียมมาก แต่อย.ไม่สามารถจะบริหารจัดการได้เต็มที่ เพราะหาแหล่งผลิตและตัวตนผู้ประกอบการไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงทำได้เพียงการระงับสัญญาณออกอากาศเท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดสามารถวางขายได้ แต่ห้ามโฆษณาเกินจริงเท่านั้น
ทั้งนี้ กสทช.เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) 4 หน่วยงาน ได้แก่ กสทช. อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในวันที่ 6 มิ.ย. 55.