สายตรงจากอาบูดาบีสั่งด่วน!ปอกเปลือกพฤติการณ์ ‘สุรพงษ์’เร่งรัดคืนพาสปอร์ต‘ทักษิณ’
“…ได้รับทราบทางโทรศัพท์จากเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ก่อนในช่วงบ่ายต้น ๆ แจ้งว่า มีการยื่นคำร้องแล้ว จึงนำเรียนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับคำสั่งให้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ความว่า ที่ประชุมไม่รอแม้กระทั่งให้โทรเลขมาถึง ทั้ง ๆ ที่โดยปกติการออกหนังสือเดินทางไม่ใช่เรื่องที่ทำเป็นชั้นความลับหรือเร่งด่วนแต่อย่างใด แม้พยานอ้างว่า ที่ต้องทำเป็นชั้นความลับเนื่องจากเป็นประเด็นทางการเมืองที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนจำนวนมากก็ตาม แต่หากพิจารณาโดยความรอบคอบเที่ยงธรรมจริง ไม่มีเหตุใดอันต้องปกปิด…”
สาธารณชนทราบกันไปแล้วว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตนักการเมืองชื่อดัง ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ สั่งการให้คืนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ ปัจจุบันนายสุรพงษ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยใช้เงินประกันตัว 5 ล้านบาท และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
สาระสำคัญตามคำพิพากษาคดีนี้มีอยู่ 2 ประเด็นคือ
หนึ่ง นายสุรพงษ์ มีพฤติการณ์เร่งรีบอนุมัติให้คืนพาสปอร์ตให้นายทักษิณ โดยใช้เวลาทั้งหมดภายใน 1 วัน ทั้งขั้นตอนการยื่นคำร้อง ประชุมเสนอความเห็น การปลดรายชื่อนายทักษิณออกจากบัญชีหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และปลดล็อคผ่านระบบคอมพิวเตอร์
สอง ความเห็นของนายสุรพงษ์ อ้างว่า การคืนพาสปอร์ตให้นายทักษิณ เพราะคำสั่งของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ริบพาสปอร์ตนายทักษิณทำไปโดยมิชอบ นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้ประเทศไทย รวมถึงคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาภิเษกที่ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีนายทักษิณ ไม่ได้เป็นคดีที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน (อ่านประกอบ : ใช้เวลาอนุมัติวันเดียว!เบื้องหลังศาลสั่งคุก2ปี ‘สุรพงษ์’คดีคืนพาสปอร์ต‘ทักษิณ’)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาฉบับเต็มมาเผยแพร่รายละเอียด ดังนี้
@อดีต ส.ส.ปชป.-กษิต ยื่นคำร้องชวน ป.ป.ช. รับลูกสอบ
คดีนี้ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เบิกความในชั้นศาลว่า เป็นผู้ยื่นคำร้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากนายทักษิณ ผู้ขอหนังสือเดินทางเป็นนักโทษหนีคดี และหลบหนีการจับกุมในคดีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้พาสปอร์ตของนายทักษิณ ถูกกระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย. 2552 เพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนพัทยา แต่เมื่อนายสุรพงษ์เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจากนายกษิตได้ 3 เดือน กลับสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ โดยปกปิด เร่งรีบ และไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ รองรับว่า เหตุที่ถูกเพิกถอนสิ้นสุดลง อ้างแต่นโยบายที่ไม่มีอยู่จริง
ส่วนนายกษิต เบิกความว่า ตนเสนอให้ยกเลิกพาสปอร์ตของนายทักษิณ เพื่อให้มารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาและดำเนินคดีตามหมายจับที่ สตช. แจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศ และเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายทักษิณ เพื่อให้ข้าราชการประจำที่มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ในฐานะผู้มีอำนาจวินิจฉัยตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 และนำชื่อนายทักษิณ บันทึกในรายชื่อบุคคลต้องห้าม และเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบก่อนออกหนังสือเดินทาง
@อดีตบิ๊ก กต. ยัน ‘ทักษิณ’ มีหมายจับเพียบแต่ ‘สุรพงษ์’ จงใจไม่พิจารณา
นายธงชัย ชาสวัสดิ์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล เบิกความว่า กองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล เคยมีหนังสือยืนยันว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุกนายทักษิณ ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก เป็นการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติทางราชการซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจาก สตช. เกี่ยวกับหมายจับที่มีการประกาศสืบจับนายทักษิณ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีโทษทางอาญา และเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยบางคดีมีอัตราโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต จึงเข้าใจได้ว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องช่วยเหลือในการติดตามสืบจับนายทักษิณตามศักยภาพที่มี หรือมิฉะนั้นต้องไม่กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการสืบจับดังกล่าว
อย่างไรก็ดีกรณีนายสุรพงษ์ หารือเรื่องนี้เกี่ยวกับการทำผิดของนายทักษิณในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยอันดีหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ขัดหรือแย้งกับความเห็นของนายธีรกุล นิยม อดีตอธิบดีกรมการกงสุลอีกรายหนึ่ง และเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และยังไม่มีการพูดถึงหมายจับนายทักษิณในคดีอื่นที่ สตช. แจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศ นายจากนี้ในการประชุมหารือกับนายธงชัย และข้าราชการระสูงในกระทรวงการต่างประเทศรายอื่น จงใจไม่หยิบยกประเด็นที่นายทักษิณ มีหมายจับอื่นอีกหลายคดี และ สตช. ส่งมาให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาประกอบการออกพาสปอร์ตตามวิธีปฏิบัติทั่วไปขึ้นมาพิจารณา และยังมีความเห็นอีกว่าคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษกไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งขัดหรือแย้งกับความเห็นที่นายธีรกุลให้ไว้ก่อนหน้านั้นด้วย
@อ้างนโยบายที่ไม่มีจริง-เลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบ กต.
ข้อเท็จจริงรับฟังได้อีกว่า แม้นายสุรพงษ์ อ้างว่าไม่มีอำนาจในการออกพาสปอร์ตให้นายทักษิณ แต่นายสุรพงษ์มีหน้าที่กำกับดูแลบังคับบัญชาให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศได้ ทั้งยังแสดงความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 และระดับ 11 ของทุกกระทรวง ส่วนที่อ้างนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏว่า รัฐบาลมีนโยบายในการออกพาสปอร์ตให้แก่ผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับของศาล
เมื่อนายสุรพงษ์ทราบดีว่า นายทักษิณถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก แล้วหลบหนีออกนอกประเทศ จนศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวมาดำเนินคดี และยังมีหมายจับอีกหลายคดีรวมถึงข้อหา ‘ก่อการร้าย’ แต่กลับอ้างระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ เช่นเดียวกับนายกษิต ทั้ง ๆ ที่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการยกเลิกหนังสือเดินทาง ไม่ใช่การออกหนังสือเดินทาง แล้วยังบิดเบือนว่าเป็นการคืนสิทธิในการมีหนังสือเดินทางฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไป
นายสุรพงษ์อ้างนโยบายที่ไม่มีอยู่จริง สั่งการตามอำเภอใจให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศออกพาสปอร์ตแก่นายทักษิณ จนเจ้าหน้าที่ออกหนังสือเดินทางดังกล่าวอย่างรีบเร่ง โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางแก่ผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับของศาล ตรงกับความต้องการของนายสุรพงษ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้นายทักษิณ ใช้พาสปอร์ตหลบหนีไปยังประเทศต่าง ๆ จนยากแก่การจับกุมมาดำเนินคดี อันเป็นความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมและระบบราชการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
@ไม่น่าเชื่อที่ประชุม กต. ละเลยปมหมายจับ ‘ทักษิณ’
แม้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ขณะพิจารณาคำขอพาสปอร์ตให้นายทักษิณเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2554 ศาลและพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมิได้มีหนังสือแจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศว่านายทักษิณ เป็นบุคคลที่ไม่สมควรออกพาสปอร์ตให้ก็ตาม ซึ่งอาจไม่ครบองค์ประกอบตามหลักเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ แต่เมื่อได้ความว่าขณะนั้นกระทรวงการต่างประเทศทราบอยู่แล้วว่านายทักษิณ ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษกและคดีถึงที่สุดแล้ว ทั้ง สตช. ยังส่งหมายจับนายทักษิณในหลายคดีมายังกระทรวงการต่างประเทศ
ซึ่งในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษกนั้น นายธีรกุล ในฐานะพยานร่วมกับฝ่ายอัยการกับฝ่ายนายสุรพงษ์ เบิกความรับว่า นายธีรกุล ในฐานะอธิบดีกรมการกงสุล ที่ระบุว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปีนายทักษิณ ถือได้ว่าเข้าข่ายระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ที่ยกเลิกพาสปอร์ตได้ แต่เมื่อปรากฏภายหลังว่า ผู้ถือพาสปอร์ตทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติทางราชการ ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ทั้งนี้จากการเบิกความของข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2554 ไม่น่าเชื่อว่า นายธีรกุล ในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ที่เคยยืนยันความเห็นแย้งทำนองเดียวกันถึง 2 ครั้ง จะไม่แจ้งข้อมูลในเรื่องที่เคยพิจารณาให้ที่ประชุมทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายธีรกุลอ้างว่า กรณีดังกล่าวเป็นการยกเลิกพาสปอร์ตของนายทักษิณ มิใช่พาสปอร์ตประเภทบุคคลทั่วไป ซึ่งสถานะของผู้ถือพาสปอร์ตทางทูต กับพาสปอร์ตทางธรรมดาต่างกัน จึงยิ่งไม่มีเหตุผลอันใดที่นายธีรกุลจะต้องปกปิดข้อเท็จจริง ในเรื่องที่เคยมีความเห็นดังกล่าวโดยไม่แจ้งให้ที่ประชุมทราบ
แต่ที่ประชุมกลับตีความร่วมกันว่า การต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่ความผิดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และยังไม่หยิบยกกรณีนายทักษิณ ถูกออกหมายจับในหลายคดีขึ้นมาพิจารณาด้วย ดังนั้นกรณีจึงไม่น่าเชื่อว่า ที่ประชุมจะละเลยประเด็นหมายจับในคดีอื่น ๆ ของนายทักษิณไปได้
@สายตรงจากสถานทูตอาบูดาบี ยู.เอ.อี. ส่งคำร้องให้ กต. ดำเนินการ
เมื่อการพิจารณาคำขอพาสปอร์ตข้างต้นกระทำเป็นชั้นความลับและดำเนินการมาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ต้นทางที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นพยาน เบิกความว่า ได้รับทราบทางโทรศัพท์จากเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ก่อนในช่วงบ่ายต้น ๆ แจ้งว่า มีการยื่นคำร้องแล้ว จึงนำเรียนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับคำสั่งให้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ความว่า ที่ประชุมไม่รอแม้กระทั่งให้โทรเลขมาถึง ทั้ง ๆ ที่โดยปกติการออกหนังสือเดินทางไม่ใช่เรื่องที่ทำเป็นชั้นความลับหรือเร่งด่วนแต่อย่างใด แม้พยานอ้างว่า ที่ต้องทำเป็นชั้นความลับเนื่องจากเป็นประเด็นทางการเมืองที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนจำนวนมากก็ตาม แต่หากพิจารณาโดยความรอบคอบเที่ยงธรรมจริง ไม่มีเหตุใดอันต้องปกปิด ยิ่งต้องทำด้วยความรอบคอบมิให้เกิดความผิดพลาด
นอกจากนี้ตอนประชุมข้าราชการระดับสูงยังไม่สามารถหาข้อมูลมาได้ทั้งหมด เพราะเชิญประชุมตอนเช้า โดยไม่เคยมีข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ ย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การประชุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการนัดหมายอย่างกะทันหัน ขาดความละเอียดรอบคอบในด้านข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณา และเมื่อกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ประชุมย่อมอาจทอดเวลาหรือเลื่อนการประชุมออกไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ค้นคว้าแสวงหาข้อมูลรวมทั้งข้อกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน ป้องกันข้อครหาจากสาธารณชน ไม่ว่าผลการประชุมออกมาในทางใด แต่ที่ประชุมกลับหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และยังคงดำเนินการประชุมต่อเนื่องไปในวันเดียวเพื่อสรุปผลนำเสนอให้นายสุรพงษ์พิจารณา พฤติการณ์จึงบ่งชี้ให้เห็นว่า กระบวนการพิจารณาดังกล่าวกระทำในลักษระปกปิด รีบเร่ง และรวบรัด ซึ่งขัดแย้งต่อแนวทางปฏิบัติในกรณีทั่วไป
@การยกเลิกพาสปอร์ตทำ ‘ทักษิณ’ ลำบาก-‘สุรพงษ์’ มีนโยบายคืนให้
ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศหลายราย เบิกความยืนยันว่า การยกเลิกพาสปอร์ตของนายทักษิณ ทำให้การเดินทางขาดความสะดวกสบาย และรัฐบาลไทยอาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นขับออกจากประเทศหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ จึงบ่งชี้ให้เห็นว่า เหตุที่นายทักษิณ ต้องมาขอหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไป เพราะขาดความสะดวกในการเดินทาง อยู่ในต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย และอาจถูกรัฐบาลประเทศนั้นขับออกจากประเทศหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดียังประเทศไทยได้
ดังนั้นการที่นายสุรพงษ์ สั่งการขอให้ยกเลิกคำสั่งรัฐบาลเดิมที่นายกษิตสั่งไว้เมื่อปี 2552 และให้ออกพาสปอร์ตให้นายทักษิณนั้น ถือว่าความเห็นของนายสุรพงษ์เป็นข้อชี้ขาด เพราะหากไม่มีคำสั่งทางนโยบายออกมา ข้าราชการก็ไม่สามารถดำเนินการออกพาสปอร์ตให้นายทักษิณได้ จึงมีผลให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งเห็นบัญชาของนายสุรพงษ์ที่สั่งไว้เข้าไปปลดรายชื่อนายทักษิณออกจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่ต้องตรวจสอบก่อนออกพาสปอร์ต และดำเนินการทางเทคนิคเพื่อปลดล็อคในระบบคอมพิวเตอร์ให้ออกพาสปอร์ตได้
@พิพากษาจำคุก 2 ปี บั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์กฎหมายไม่รอลงอาญา
การที่นายสุรพงษ์มีบัญชาโดยอ้างนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีอยู่จริง และไม่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้เข้ามารู้เห็นเกี่ยวข้อง ส่งผลโดยตรงให้กระทรวงการต่างประเทศออกพาสปอร์ตคืนให้นายทักษิณ เท่ากับว่า นายสุรพงษ์ ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ กระทำการสนับสนุนช่วยเหลือนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และหลบหนีหมายจับในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ส่วนที่นายสุรพงษ์ อ้างว่า การกระทำของนายทักษิณขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียหาย หรือการริบพาสปอร์ตสมัยนายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ ทำโดยมิชอบ ล้วนฟังไม่ขึ้น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่า นายสุรพงษ์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 นายสุรพงษ์มีความผิดตามฟ้อง องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาจำคุก 2 ปี
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสุรพงษ์มีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลซึ่งหลบหนีให้สามารถเดินทางในต่างประเทศได้สะดวก และเป็นผลบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสุรพงษ์ จาก โพสต์ทูเดย์ออนไลน์