ไม่แจ้งอธิบดีใน90วัน!กฤษฎีกาชี้‘พงศ์พัฒน์’ ไร้สิทธิ์ครอบครองงาช้าง แม้ ปปง.คืนแล้ว
กฤษฎีกาชี้ ‘พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์’ ไม่มีสิทธิ์ครอบครองงาช้างแกะสลัก หลังถูก ปปง. อายัดไปตั้งแต่ปี’57 แต่คืนตอนปี’58 เหตุไม่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯภายใน 90 วัน ตาม พ.ร.บ.งาช้าง ฉบับใหม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยข้อร้องเรียนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรณีการอ้างครอบครองงาช้างของนายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ (อดีต พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) แต่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ ถูกถอดยศ ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ หลังต้องคำพิพากษาหลายคดี ทั้งฟอกเงิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ รับของโจร และหมิ่นเบื้องสูง เป็นต้น) ภายหลังกรมอุทยานแห่งชาติฯ ออก พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558
โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ได้รับหนังสือจากนายสมหมาย สุพร ผู้รับมอบอำนาจจากนายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ว่า มีความประสงค์จะแจ้งครอบครองงาช้างแกะสลัก ตาม พ.ร.บ.งาช้างฯ โดยอ้างสาเหตุที่ไม่ได้แจ้งครอบครองงาช้างภายในกำหนดวันที่ 21 เม.ย. 2558 เนื่องจากถูกพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดไว้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2557 ทำให้ไม่สามารถนำงาช้างมาแจ้งครอบครองได้ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ได้ส่งมอบคืนทรัพย์สินดังกล่าว โดยเหตุไม่เกี่ยวกับคดี ดังนั้นกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงขอหารือในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับแจ้งครอบครองงาช้างดังกล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถรับแจ้งการครอบครองงาช้างของนายพงศ์พัฒน์ ได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) พิจารณาข้อหารือของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานปลัดกระทรวง และกรมอุทยานแห่งชาติฯ) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ยึดงาช้างแกะสลักของนายพงศ์พัฒน์ ไว้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2557 เป็นวันก่อนที่ พ.ร.บ.งาช้างฯ มีผลบังคับใช้ และคืนงาช้างแกะสลักดังกล่าวคืนเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2558 ดังนั้นนายพงศ์พัฒน์ จึงมิได้มีงาช้างดังกล่าวอยู่ในความครอบครองก่อนวันที่ พ.ร.บ.งาช้างฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งต้องแจ้งการครอบครองงาช้างภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ด้วยเหตุนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงไม่สามารถพิจารณารับแจ้งการครอบครองตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.งาช้างฯ ได้ แต่อาจนำหลักเกณฑ์การแจ้งครอบครองตามมาตราอื่นมาพิจารณารับแจ้งครอบครองต่อไป
สำหรับความเห็นดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.งาช้างฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการนำงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาสวมสิทธิและจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะเพื่อตัดงาช้าง รวมถึงป้องกันมิให้มีการลักลอบนำงาช้างแอฟริกามาปะปนกับงาช้างที่ได้จากช้างที่เป็นสัตว์พาหนะตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.งาช้างฯ จึงได้บัญญัติให้ผู้ซึ่งครอบครองงาช้างโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า มาแจ้งการครอบครองพร้อมเอกสารการได้มาซึ่งงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มิฉะนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 14 โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท
ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีข้อมูลในการตรวจสอบและสามารถแยกที่มาของงาช้าง และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากงาช้างให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายได้ และเพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อผู้มีงาช้างไว้ครอบครองก่อน พ.ร.บ.งาช้างฯ มีผลใช้บังคับ จึงได้บัญญัติมาตรา 19 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล เปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้มา หรือมีงาช้างไว้ในครอบครองก่อนที่ พ.ร.บ.งาช้างฯมีผลบังคับใช้ มาแจ้งการครอบครองโดยระบุจำนวน ขนาด พร้อมทั้งส่งภาพถ่ายของงาช้างต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ออกเอกสารการครอบครองงาช้างให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐานตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองตามบัญญัติไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.งาช้างฯ ก็จะมิได้รับประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
อ่าน พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558 ประกอบ : https://www.goldtraders.or.th/downloads/gta/ElephantLaw2558.PDF
หมายเหตุ : ภาพประกอบงาช้างที่ ปปง. ยึดจากนายพงศ์พัฒน์ เมื่อปี 2557 จาก teenee.com