ขจัดขัดเเย้งผลประโยชน์! คกก.ปฏิรูปทรัพยากรฯ หนุนเเก้ กม.วัตถุอันตราย ปรับปรุงโครงสร้างกรรมการ
คกก.ปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติหนุนยกเลิกใช้ พาราควอต-ควอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต เเนะปรับปรุงร่าง กม.วัตถุอันตราย ปี 2535 ยกเครื่องโครงสร้าง องค์ประกอบคณะกรรมการ ขจัดปัญหาขัดเเย้งผลประโยชน์ พร้อมตั้งอนุฯ 3 คณะ เเยกทำหน้าที่
สืบเนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขขอการสนับสนุนจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เรื่อง การสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารพิษในภาคการเกษตร โดยได้ข้อสรุปจากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 และครั้งที่ 17/2561 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 โดยพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรฯ สนับสนุนการยกเลิกสารเคมีในภาคเกษตร ได้แก่ สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยอิงผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติหรือปรากฎในรายงานเชิงวิชาการจากสถาบันวิจัยและหน่ยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแนวทาง ขั้นตอนในการดำเนินการยกเลิก ควรมีการพิจารณาให้เหมาะสมบนพื้นฐานของการรักษาความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป ทั้งนี้ นอกจากการพิจารณายกเลิกสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรฯ ยังมีข้อเสนอความเห็นเพิ่มเติมให้มีการพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำหนดโครงสร้างองค์กร กระบวนการกำหนดตัดสินใจระดับนโยบาย และระบบการบริหารจัดการสารเคมีการเกษตรและวัตถุอันตรายประเภทต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื้อหาบทบัญญัติส่วนสำคัญที่ควรมีการปฏิรูปเพื่อมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีการยกเลิกสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่
1.การปรับปรุงโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและอนุกรรมการเพื่อป้องกันและขจัดปัญหาการขัดแย้งของผลประโยชน์
2.สำหรับกรณีสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ควรกำหนดให้มีโครงสร้างคณะอนุกรรมการขึ้น 3 คณะ ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ดังนี้
2.1 คณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีรายชื่อ จัดประเภท และจัดทำแผนกำกับดูแลสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธานอนุกรรมการ
2.2 คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน
2.3 คณะอนุกรรมการจัดทำ รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทนเป็นประธาน
3.เพิ่มเติมกำหนดหลักการสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งอนุกรรมการต่าง ๆ ไว้ในร่างกฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักการในการกำหนดรายละเอียดของประกาศที่จะกำหนดขั้นต่อไป โดยควรมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนต่อการทำหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการ การไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งในการทำหน้าที่ กระบวนการแต่งตั้งที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และมีแนวทางป้องกันการแอบแฝงเข้ามาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีหรือวัตถุอันตราย
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านทรัพยากรฯ ควรร่วมกันจัดทำหนังสือข้อเสนอต่อการปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อการปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) โดยได้มีข้อเสนอแนะให้แก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาตัดสินใจ เช่นกัน .
อ่านประกอบ:ACT ออกจม.เปิดผนึกจี้ รมว.กษ.เเก้ กม.วัตถุอันตราย เพิ่มสัดส่วนภาคปชช.-ให้สธ.เป็นหลักตัดสินใจ
กฤษฎา บุญราช สั่งตอบคำถามองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องสารเคมีทางการเกษตร