'ปลุกพลังสื่อ' ขับเคลื่อนเเนวคิด 'ทำดีหวังผล เริ่มต้นที่เรา'
เปิดตัว Good Society Expo 2018 ชวนสนทนา "สื่อ" กับบทบาท "ทำดีหวังผล เริ่มต้นที่เรา" หวังขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดที่ดี โดยมีสื่อมวลชนเป็นตัวกลาง
สื่อมีบทบาทเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ตรวจสอบรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ขณะเดียวกัน สื่อยังทำหน้าที่เป็น “ตะเกียงชี้นำสังคม” นำเสนอข่าวดี มีประโยชน์ เพื่อนำพาขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดที่ดี
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนาในช่วง “ทำดีหวังผล เริ่มต้นที่เรา:ภาคสื่อมวลชน” ในงาน Good Society Expo2018 ทำดีหวังผล เริ่มต้นที่เรา ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ต ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดยมูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2561
ณาตยา เเวววรคุปต์
น.ส.ณาตยา แวววรคุปต์ ผช.ผอ.สำนักข่าว ด้านข่าวยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนวาระทางสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) หยิบยกคำว่า “ทำดีไม่เป็นข่าว” ขึ้นมาถกประเด็น เธอบอกว่า สะอึกทุกครั้งเมื่อได้ยินคำนี้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ช่วงหลังมีหลายเหตุการณ์ที่อยากจะโต้แย้ง เช่น กรณีของ “พีค” พ่อค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล กลายเป็นข่าวโด่งดัง เพราะไม่โกง เก็บสลากฯ ชุดนั้นไว้ให้คนสั่งซื้อทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ไม่ต้องรอนักข่าวกระแสหลักนำเสนอ แต่สื่อโซเซียลมีเดีย ซึ่งเป็นของประชาชน ใช้พลังสื่อสารกระจายข่าวชื่นชมทันที นี่คือสังคมต้องการคนดี แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยต้องการข่าวดี แต่มีอยู่จุดหนึ่ง คือ สังคมไทยต้องการ แต่ไม่ทำเองหรือไม่ เกาะอยู่ขอบสนาม แล้วดูคนที่คิดว่าตนเองกำลังมองหาฮีโร่ เฝ้าดูฮีโร่คนอื่น แล้วตนเองก็ชื่นชม ต้องการให้มีคนดีให้เราเห็น แต่ไม่ทำเอง ทันทีที่ไม่ใช่ ฮีโร่คนนั้นเลยกลายเป็นคนบาป คนเลว คนที่ถูกประณามทันที
“ การมีสื่อกลุ่มเล็ก ๆ ที่อยากจะสื่อสารเรื่องราวดี ๆ คงไม่ใช่เรื่องทียากเกินไป แตกต่างจากเมื่อก่อนเวลาจะทำข่าวต้องอิงทฤษฎีสื่อสารมวลชน ต้องเป็นเรื่องแปลก เรื่องสืบสวน หาความเลวของคน แต่ตอนนี้สื่อมีจำนวนมากขึ้น แล้วมองเห็นประเด็นเหล่านี้และทำด้วยกัน น่าจะทำให้สื่อไม่คิดว่าตนเองสวนกระแสเกินไปที่จะทำแบบนี้” ผช.ผอ.สำนักข่าว ด้านข่าวยุทธศาสตร์ฯ ไทยพีบีเอส ระบุ
วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
ด้านดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Eduzones แสดงทัศนะว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป เราจะเห็นสื่อนำเสนอข่าวผิดเสมอ เพราะต้องแข่งขันกับความเร็วและโซเซียลเน็ตเวิร์ค จากเดิมสื่อนำเสนออะไรสักเรื่องจะใช้เวลานาน แต่วันนี้ใช้เวลารวดเร็ว เพื่อจะนำเสนอออกไปอย่างเร็วที่สุด ทำให้ขาดความจริง เพราะสิ่งที่นำเสนอ “เร็วเกินกว่าที่คิด”
ทั้งนี้ การนำเสนอออกไปสู่สังคมของสื่อทุกวันนี้ สิ่งที่ตามมาทันที คือ “ความเชื่อ” แล้วความเชื่อแรกมักจะบิดเบือนได้ยาก ฉะนั้นถามว่า อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อทุกสื่อพร้อมกันใส่ความผิดเข้าไปในอะไรสักเรื่อง ซึ่งยากมากที่จะกลับมาแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นประเด็นเหมือนกันทั่วโลก”
“ที่ผ่านมามีโอกาสพบเห็นเรื่องที่ดีมากมาย เช่น คนปลูกป่า แต่ไม่ถูกนำเสนอเป็นข่าว ขณะที่คนตัดป่า กลับถูกนำเสนอเป็นข่าวทันที หรือมีครู 2-3 แสนคน เป็นครูที่ดี แต่มีครูทำไม่ดีเพียง 1 คน ข่าวเลือกนำเสนอครูทำไม่ดี ถามว่า คนมีเวลาเสพข่าววันละกี่ชั่วโมงและต้องเจอข่าวนี้ตลอดเวลา” เขาทิ้งท้าย
มนตรี จุ้ยม่วงศรี
ขณะที่นายมนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการโต๊ะข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า ตามหลักของวารสารศาสตร์ นอกจากสื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลความรู้แก่ประชาชนแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญและต้องคงอยู่ตลอดไป คือ บทบาทการเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ซึ่งสำนักข่าวอิศราเชื่อมั่นว่า การเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรักษาผลประโยชน์สาธารณะ จะต้องคงอยู่และเปลี่ยนแปลงไม่ได้
“สำนักข่าวอิศรา มีนโยบายรักษาผลประโยชน์สาธารณะ นั่นจึงทำให้เนื้อหาข่าวของเราร้อยละ 98 เกี่ยวข้องกับข่าวสืบสวน ตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน”
บก.โต๊ะสืบสวนฯ บอกอีกว่า ในอดีตใครอาจจะบอกสำนักข่าวอิศรา เป็นสื่อกระแสรอง แต่ตอนนี้เราเป็นกระแสหลักในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว อาจจะเกิดจากสื่อมวลชนหลายแห่งไม่ได้นำเสนอข่าวประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีนักข่าวหลายคนและองค์กรข่าวหลายแห่งทำข่าวสืบสวน แต่มีเรื่องนโยบายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรายืนยันจะให้ความสำคัญและทำหน้าที่นี้ไปโดยตลอด
วิบูลย์ ลีรัตนขจร
นายวิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท Search กล่าวว่า ใครที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนคงทราบดีว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยการมาร่วมงานทำให้รู้สึกว่าเป็นสุข การที่คนเราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง อย่างน้อย ๆ มีความสุขใจ พร้อมกับเอ่ยชมชื่อการเสวนา “ทำดีหวังผล” ซึ่งบางคนอาจมีความรู้สึกว่า ทำไมทำดีต้องหวังผล แต่ความหวังผลตรงนี้หมายถึงกับคนอื่น ไม่ใช่เฉพาะตัวเรา
นลัทพร ไกรฤกษ์
สุดท้ายน.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ เว็บไซต์ ThisAble กล่าวว่า เราเป็นคนพิการ ซึ่งตั้งแต่เด็กได้พบกับความไม่เท่าเทียม ตั้งแต่เรื่องการศึกษา การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และการมีส่วนร่วมในสังคม ทำให้ตัดสินใจก่อตั้งเว็บไซต์ ThisAble ขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้คนทั่วไปในสังคมเห็นว่า คนพิการก็เป็นคนและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
“แต่ละวันเราเห็นคนพิการกี่คนในการใช้ชีวิตประจำวัน นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่เราไม่คุ้นเคยกับคนพิการว่าคือใครในสังคมนี้ ดังนั้นเว็บไซต์จึงทำงานด้วยความคิดเริ่มต้นจากสิ่งนี้ ทำให้คนที่เข้ามาอ่านเนื้อหาแล้วรู้สึกว่า คนพิการเป็นเพื่อน อยากรู้จัก เข้าใจง่าย ไม่ใช่เข้าใจยากเหมือนสิ่งที่สื่อนำเสนอ ขณะเดียวกัน คนพิการเมื่ออ่านเว็บไซต์ จะรู้สึกว่าตนเองมีสิทธิได้ฝัน และสามารถทำในสิ่งอยากจะทำหรือเป็นในสิ่งที่อยากเป็นได้” เธอกล่าว .