ข้อเท็จจริงผู้บังคับบัญชามีสิทธิ์ยึดบัญชี-เอทีเอ็มทหารเกณฑ์ไหม-ทำไม‘อิศรา’ต้องตีข่าว?
“…ดังนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า คืนหรือไม่คืนสมุดบัญชีเงินฝาก-เอทีเอ็มให้ทหารกองประจำการ แต่อยู่ที่ ผู้บังคับบัญชามีสิทธิ์อะไรในการยึดสมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มของทหารกองประจำการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังการบังคับใช้หลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ?...”
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวที่ถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเกรียวกราว!
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานข้อมูลว่า กองพันทหารราบแห่งหนึ่งใน กทม. จ่ากองร้อย (ทหารชั้นประทวน ยศตั้งแต่ จ.ส.ต.-จ.ส.อ.) ยึดสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) และเป็นผู้กดเงินสดมาจ่ายแก่ทหารกองประจำการ ทั้งที่กรมบัญชีกลางบูรณาการร่วมกับกระทรวงกลาโหม กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนตรงเข้าสู่บัญชีเงินฝากของทหารกองประจำการ โดยมีหลักการให้ทหารกองประจำการเป็นผู้ไปกดเงินเดือนออกมาเอง (อ่านประกอบ : จ่ากองร้อยยังยึดบัญชี-บัตรเอทีเอ็ม! แม้ระเบียบใหม่จ่ายตรงเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์กดเอง)
ต่อมา พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ขอตรวจสอบรายละเอียดในหลักเกณฑ์กรมบัญชีกลางก่อน แต่ยืนยันว่าจ่ากองร้อยไม่มีสิทธิ์ยึดสมุดบัญชีเงินฝาก และเอทีเอ็มของทหารกองประจำการ แม้ไม่มีข้อห้ามไว้ แต่ตามนโยบายทำไม่ได้
หลังจากนั้นกองพันทหารราบแห่งนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น พร้อมกับมีการควานหาตัวบุคคลผู้ปล่อยข้อมูลดังกล่าวแก่สื่อ (อ่านประกอบ : โฆษก กห.ยันจ่ายึดเอทีเอ็มทหารไม่ได้! กองพันตั้ง กก.สอบ-ควานหาคนปล่อยข้อมูล, ดูระเบียบกรมบัญชีกลาง-ทบ.จ่ายเงินเดือนตรงทหารเกณฑ์ จ่ากองร้อยยึดเอทีเอ็มได้ไหม?, กรมบัญชีกลางจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการ เริ่มเดือน มิ.ย. 61 )
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 พ.ท.อชิลักษณ์ พจน์พัฒนพล ผู้บังคับกองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.พัน.ร.นรด.) กองพันทหารราบที่ถูกร้องเรียนในกรณีนี้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยืนยันว่า รูปที่ถูกเผยแพร่ดังกล่าว เป็นรูปการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางให้จ่ายเป็นเงินสด ส่วนเรื่องเอทีเอ็มได้คืนให้ทหารกองประจำการไปทั้งหมดแล้ว ภายหลังหลักเกณฑ์ดังกล่าวออกมาช่วงเดือน มิ.ย. 2561 (อ่านประกอบ : ในรูปคือจ่ายเบี้ยเลี้ยง!ผบ.พัน.ร.นรด.ยันคืนเอทีเอ็มทหารแล้ว-จ่ากองร้อยไม่มีสิทธิแตะ)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงกรณีนี้จะจบลงอย่างไร ต้องรอคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ พัน.ร.นรด. สรุปออกมาเสียก่อน
แต่ข้อเท็จจริงสำคัญในเรื่องนี้คือ การยึดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มของทหารกองประจำการ ทำได้หรือไม่ ?
แม้ พ.ท.อชิลักษณ์ และนายทหารระดับสูงของกองทัพบกต่างยืนยันว่า ภายหลังหลักเกณฑ์นี้ออกมา ได้คืนบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มให้กับทหารกองประจำการ เพื่อไปกดเงินเดือนออกมาใช้เอง ยกเว้นเงินเบี้ยเลี้ยงที่ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้จ่ายเป็นเงินสดอยู่ก็ตาม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีข้อสังเกต ดังนี้
@การเบิกจ่ายระบบเดิมแบบเงินสด มีการทำบัญชีเงินฝาก-เอทีเอ็ม
ต้องเข้าใจก่อนว่า ตามระบบเดิม การเบิกจ่ายเงินคือผู้บังคับบัญชา หรือจ่ากองร้อย ของกองร้อยแต่ละแห่ง ที่อยู่ภายใต้สังกัดกองพันนั้น ๆ จะเป็นผู้ไปรับเงินเดือนและค่าครองชีพของทหารกองประจำการมาแจกจ่ายเป็นเงินสด ต่อมานับตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2560 เป็นต้นมา (เท่าที่ปรากฏข้อมูล) มีการให้ทหารกองประจำการทำบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มด้วย โดยตามหลักการแล้วต้องการให้ทหารกองประจำการเมื่อได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพเป็นเงินสดมาแล้ว ไปฝากบัญชีธนาคารไว้เพื่อเป็นวินัยในการออมเงิน
@ผู้บังคับบัญชาใช้สิทธิ์อะไรเก็บไว้
แต่ข้อเท็จจริงคือ บางกองพันทหารกองประจำการเหล่านั้นไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ทั้งสมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มเลย เนื่องจากถูกจ่ากองร้อย หรือผู้บังคับบัญชาเก็บไว้ทั้งหมด แม้ระบบการจ่ายเงินเดือนแบบเก่าจะจ่ายเป็นเงินสดก็ตาม
ดังนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า คืนหรือไม่คืนสมุดบัญชีเงินฝาก-เอทีเอ็มให้ทหารกองประจำการ แต่อยู่ที่ ผู้บังคับบัญชามีสิทธิ์อะไรในการยึดสมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มของทหารกองประจำการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังการบังคับใช้หลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ?
@ชำแหละเงินเดือน+ค่าครองชีพ+เบี้ยเลี้ยงทหารกองประจำการ
สำหรับสาเหตุสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จำเป็นต้องรายงานประเด็นเหล่านี้ เนื่องจากเรื่องเงินเดือนและค่าครองชีพ รวมถึงค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นประเด็นข้อสงสัยที่อยู่ในใจของสาธารณชนมาอย่างยาวนานว่า ตกลงได้รับครบถ้วนประมาณ 1 หมื่นบาท ตามข้อความเชิญชวนให้คนมาสมัครทหารกองประจำการของเหล่าทัพต่าง ๆ จริงหรือไม่ ?
ข้อเท็จจริงสำหรับเงินเดือน และค่าครองชีพนั้น จะได้รับรวมกัน แต่แบ่งกันตามช่วงเวลาที่รับราชการ โดยปีแรก ได้เงินเดือนประมาณ 3,4xx บาท ค่าครองชีพประมาณ 3,6xx บาท ส่วนปีที่ 2 ได้เงินเดือนประมาณ 3,6xx บาท แต่ค่าครองชีพลดลงเหลือ 3,4xx บาท เบ็ดเสร็จแล้วได้รับประมาณไม่น้อยกว่า 7,xxx บาท โดยเงินเดือนจะออกทุกสิ้นเดือน
ส่วนเบี้ยเลี้ยงได้รับวันละ 96 บาท จะออกทุก 10 วัน โดยหักค่าข้าวของสูทกรรม หรือโรงเลี้ยง วันละ 60 บาท จะเหลือเบี้ยเลี้ยงวันละ 36 บาท เท่ากับว่า 10 วัน ทหารกองประจำการจะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงงวดละ 360 บาท รวม 3 งวดหรือ 30 วัน จะได้เบี้ยเลี้ยง 1,080 บาท อย่างไรก็ดีบางตำแหน่งของทหารกองประจำการอาจไม่มีการหักค่าข้าว เช่น ทหารกองประจำการที่ช่วยใน บก.ร้อย หรือทหารกองประจำการที่ไปประจำตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเต็ม 960 บาท เพราะต้องไปซื้อข้าวกินเองต่างหาก ไม่ได้ไปกินที่สูทกรรม เป็นต้น
ดังนั้นหากรวมเงินเดือน+ค่าครองชีพ+เบี้ยเลี้ยง แต่ละเดือนทหารกองประจำการจะได้ประมาณ 7,xxx-8,xxx บาท (ส่วนทหารกองประจำการที่ได้รับเบี้ยเลี้ยงเต็มควรจะได้ประมาณ 9,xxx บาท) อย่างไรก็ดี หากระหว่างเดือนมีการเซ็นค่าซื้อของกินของใช้ล่วงหน้ากับร้านค้าสวัสดิการ หรือร้านอาหารต่าง ๆ ภายในค่าย หรือกองพัน ก็จะถูกหักเงินส่วนนี้ออกไป นอกจากนี้ยังมีการหักค่างานศพในแต่ละเดือนเฉลี่ยเดือนละ 10-50 บาท แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ยังมีการหักฝากเป็นเงินไว้ใช้หลังปลดประจำการ เดือนละประมาณ 200-500 บาท แล้วแต่กองพัน
เท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วทหารกองประจำการต้องได้รับเงินประมาณ 7,xxx-7,5xx บาท (หากไม่เซ็นซื้อของล่วงหน้า)
แต่ข้อเท็จจริง มีทหารกองประจำการในกองพันบางแห่ง ที่ไม่เคยเซ็นซื้อของล่วงหน้าเลย ได้รับเงินเดือนประมาณ 6,xxx-6,5xxx บาทเท่านั้น ส่วนต่างที่เหลือ ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงว่าหายไปไหน และไม่มีทหารกองประจำการรายใดถาม หรือสงสัยในรายละเอียดตรงนี้ เพราะกังวลว่า อาจถูกเพ่งเล็งในค่ายได้ ?
จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จำเป็นต้องรายงานข้อเท็จจริงส่วนนี้ให้สาธารณชน รวมถึงกองทัพทราบถึงปัญหา และช่องโหว่ดังกล่าวตรงนี้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นข้อครหาที่ปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักทั้งในโลกความเป็นจริง และโลกออนไลน์
นี่ยังไม่รวมถึงหลักเกณฑ์ใหม่ของกรมบัญชีกลางที่ให้จ่ายเงินเดือนตรงแก่ทหารกองประจำการ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยเขียนช่องโหว่ของระบบนี้ให้เห็นแล้วว่า หากมีผู้บังคับบัญชา หรือจ่ากองร้อย ยึดสมุดบัญชีเงินฝากหรือเอทีเอ็มไว้กับตัวเอง แล้วไปถอนเงินมาจ่ายให้ทหารกองประจำการเป็นเงินสด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้ แม้ว่าขณะนี้นายทหารระดับสูงหลายนายจะ ‘การันตี’ ว่า แจกจ่ายบัตรเอทีเอ็มให้ทหารกองประจำการไปกดเงินเดือนมาใช้เองแล้วก็ตาม (อ่านประกอบ : ใครว่าถึงหมื่น?ชำแหละเงินเดือน‘ทหารเกณฑ์’ได้เท่าไหร่-ช่องโหว่ระบบใหม่‘จ่ายตรง’)
ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักในการรายงานข่าวชิ้นนี้ ทำไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ที่มาจากภาษีของประชาชน และความกระจ่างชัดต่อสาธารณะ และสำนักข่าวอิศราเป็นเพียงสื่อกลางที่นำเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ได้ทำไปเพื่อมีเจตนาโจมตีหรือสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของกองทัพแต่อย่างใด
หมายเหตุ : ภาพประกอบธนบัตรจาก thairath, ภาพการ์ตูนทหารบกไทยจาก linesticker ทหารตัวเล็กน่ารัก