ดูระเบียบกรมบัญชีกลาง-ทบ.จ่ายเงินเดือนตรงทหารเกณฑ์ จ่ากองร้อยยึดเอทีเอ็มได้ไหม?
“…การที่กระทรวงกลาโหมร่วมกับกรมบัญชีกลางจัดทำระบบจ่ายเงินเดือนตรงให้กับทหารเกณฑ์ เป็นไปเพื่อลดข้อครหาของกองทัพว่า เรื่องเกี่ยวกับเงินเดือนทหารมัก ‘ลึกลับดำมืด’ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีใครรู้รายละเอียดใด ๆ ทหารเกณฑ์ทุกคนมีหน้าที่แค่มารับเงินเดือน ค่าครองชีพ หรือเบี้ยเลี้ยง ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม ดังนั้นระบบจ่ายเงินเดือนตรงแบบใหม่นี้ จึงอาจช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้…”
สปอร์ตไลต์ทางสังคมฉายแสงเข้าไปยังค่ายทหารอีกครั้ง!
ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีกองพันทหารราบแห่งหนึ่ง จ่ากองร้อย (ทหารชั้นประทวน ยศตั้งแต่ จ.ส.ต.-จ.ส.อ. ทำหน้าที่กำกับควบคุมการใช้จ่ายเงินในกองร้อย) ยังยึดสมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มของทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ไว้กับตัวเองอยู่ ไม่ยอมให้บัญชีเงินฝาก-บัตรเอทีเอ็มแก่ทหารเกณฑ์ เพื่อไปกดเงินเดือนมาใช้เอง ภายหลังกรมบัญชีกลางร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมออกระเบียบการจ่ายเงินเดือนแบบตรงเข้าสู่บัญชีทหารเกณฑ์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มิ.ย .2561 เป็นต้นมา
แหล่งข่าว และทหารเกณฑ์ในกองพันทหารราบแห่งหนึ่งใน กทม. ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า จ่ากองร้อยยังยึดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มของพวกเขาเอาไว้ ไม่ยอมให้บัตรไปกดเงินเดือนออกมาใช้เอง โดยจ่ากองร้อยอ้างว่า กังวลกลัวทหารเกณฑ์จะหลบหนี หรือช่วงปล่อยลากลับบ้านแล้วจะไม่กลับมาค่ายอีก เว้นแต่ทหารเกณฑ์บางรายที่ถูกจำหน่ายไปรับใช้นายทหารระดับสูง จะได้สมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินเดือนเองได้ แม้ว่าจะเป็นเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งเลยระยะเวลาตามหนังสือของกรมบัญชีกลางระบุไว้กว่า 3 เดือนแล้วก็ตาม (อ่านประกอบ : จ่ากองร้อยยังยึดบัญชี-บัตรเอทีเอ็ม! แม้ระเบียบใหม่จ่ายตรงเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์กดเอง)
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ต้องขอตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอีกครั้งว่า กองพันแห่งใด และข้อเท็จจริงตามหนังสือกรมบัญชีกลางทำได้หรือไม่ อย่างไร
คำถามคือการเก็บสมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มของทหารเกณฑ์ไว้กับจ่ากองร้อย ทำได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากหนังสือของกรมบัญชีกลางที่ส่งไปยังกระทรวงกลาโหม และหนังสือของสำนักปลัดบัญชีทหารบกที่ส่งเวียนไปยังกองพันต่าง ๆ ทั่วประเทศ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
หนังสือของกรมบัญชีกลาง เลขที่ กค 0411.3 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2561 เรียนปลัดกระทรวงกลาโหม เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนทหารกองประจำการ ตามโครงการจ่ายตรงผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare)
หนังสือดังกล่าวระบุว่า กระทรวงการคลังได้กำหนดนโยบายพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (National-Payment) ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญของการทำธุรกรรมทางการเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สะดวก รวดเร็ว และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว จึงกำหนดให้มีโครงการจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม
สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ระบุสาระสำคัญว่า เงินที่กรมบัญชีกลางจะโอนตามโครงการจ่ายตรงในแต่ละเดือน คือ งบบุคลากร ได้แก่ เงินเดือน เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และเงินเพิ่มซึ่งจ่ายควบกับเงินเดือน ยกเว้นเงินรางวัลสำหรับการสู้รบซึ่งเบิกจากงบกลาง และงบดำเนินงาน ได้แก่ เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เฉพาะกองทัพบก และกองทัพเรือ
ส่วนเงินที่หักจากเงินเดือนทหารกองประจำการโดยความยินยอมของทหารกองประจำการ ผู้ถูกหัก กรมบัญชีกลางจะดำเนินการหักตามจำนวนที่ส่วนราชการแจ้งก่อนโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของทหารกองประจำการ
ให้กรมบัญชีกลางใช้บัญชีถือจ่ายเงินเดือนของส่วนราชการที่กรมบัญชีกลางอนุมัติแล้ว เป็นฐานข้อมูลการเบิกจ่ายเงินเดือนทหารกองประจำการ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะดำเนินการตามโครงการจ่ายตรงในเดือนแรกของการเริ่มโครงการ
ส่วนการเบิกเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของทหารกองประจำการ ให้ดำเนินการโดยเบิกเงินเดือนทหารกองประจำการให้ส่วนราชการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินเดือน จัดทำข้อมูลตามรูปแบบ (Format) ที่กรมบัญชีกลางกำหนด และนำข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม คือ เลขบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ เลขบัตรประจำตัวประชาชน รายการเงินที่ขอเบิกและหักหนี้
เมื่อกรมบัญชีกลางได้รับแจ้งรายละเอียดการขอเบิกเงินเดือนทหารกองประจำการจากส่วนราชการแล้ว กรมบัญชีกลางจะดำเนินการโอนเข้าบัญชีต่าง ๆ ตามแต่กรณี ได้แก่ เงินเดือน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ ส่วนรายการหนี้ เข้าบัญชีส่วนราชการ ทั้งนี้กรมบัญชีกลางจะส่งหลักฐานการขอเบิก ซึ่งแยกตามประเภทของงบประมาณในส่วนราชการ จำนวน 5 ชุดเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายต่อไป
ต่อมาสำนักปลัดบัญชีทหารบก (สปช.ทบ.) ทำหนังสือที่ กห 0406/022 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2561 ลงนามโดย พล.ท.กิตติทัศน์ เปี่ยมสุวรรณ์ ปลัดบัญชีทหารบก ถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แจ้งข้อเท็จจริงว่า ตามที่กองทัพบกเข้าร่วมโครงการจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมของกรมบัญชีกลางนั้น กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติดังกล่าวไว้แล้ว และถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป
สปช.ทบ. พิจารณาแล้ว หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนทหารกองประจำการผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม กำหนดขึ้นเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเดือนทหารกองประจำการเป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย รวมทั้งกำหนดวันรับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรงกันตามปฏิทินการทำงาน จึงเห็นควรให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) จนถึงระดับกองพันถือปฏิบัติตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า วิธีการจ่ายเงินของกรมบัญชีกลางคือการจ่ายตรงเข้าสู่บัญชีเงินฝากของทหารกองประจำการ นั่นหมายความรวมถึงทหารเกณฑ์ด้วย ไม่ใช่แค่ทหารระดับชั้นประทวน และชั้นสัญญาบัตรที่ยังประจำการอยู่ แต่ยังไม่มีการระบุชัดว่า บัตรเอทีเอ็มควรอยู่ที่ทหารเกณฑ์ หรือจ่ากองร้อย ?
เดิมทีทหารเกณฑ์นั้น จ่ากองร้อยที่เป็นผู้ทำบัญชีรับจ่าย จะทำหนังสือขอเบิกเงินเดือนและค่าครองชีพจากกองพันต้นสังกัด และกองพันจะนำเงินดังกล่าวมาให้จ่ากองร้อย เพื่อแจกจ่ายให้กับทหารเกณฑ์ โดยที่ทหารเกณฑ์ไม่มีสิทธิเก็บสมุดบัญชีเงินฝากเอาไว้
ต่อมาช่วงทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1/60 เป็นต้นมา มีการทดลองใช้ระบบแบบโอนเงินจ่ายตรงเข้าบัญชีทหารเกณฑ์ โดยให้ทหารเกณฑ์ต้องไปทำบัญชีเงินฝาก 2 แบบ คือแบบออมทรัพย์ และแบบฝากประจำ โดยกองพันต้นสังกัดจะโอนเงินเดือนและค่าครองชีพเข้าบัญชีออมทรัพย์ และจ่ากองร้อยจะเป็นผู้ไปกดเงินมาแจกจ่ายให้ทหารเกณฑ์ แต่จะมีหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อโอนเข้าบัญชีแบบฝากประจำ โดยเงินส่วนนี้ทหารเกณฑ์จะได้เมื่อตอนปลดประจำการ ในช่วงเวลานั้นให้ทหารเกณฑ์ทำบัตรเอทีเอ็มไว้ด้วย แต่จ่ากองร้อยจะยึดเก็บไว้กับตัวทั้งหมด
แต่นับตั้งแต่ทหารเกณฑ์ผลัด 1/61 เป็นต้นไป กรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมเพื่อใช้ระบบการ ‘จ่ายเงินเดือนตรง’ ให้กับทหารกองประจำการ มีการพาทหารไปเปิดบัญชีเงินฝาก 2 แบบดังกล่าว และทำบัตรเอทีเอ็ม แต่จ่ากองร้อยยังคงเก็บสมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มไว้กับตัวเองอยู่ และเป็นผู้ไปกดเงินสดออกมาแจกจ่ายให้กับทหารเกณฑ์เหมือนเดิม
ที่น่าสังเกตคือ หากเป็นทหารเกณฑ์ที่ถูกจำหน่ายไปรับใช้บ้านนายทหารระดับสูง จะได้บัตรเอทีเอ็มไปกดเงินเดือนออกมาใช้เอง ทำให้เกิดข้อครหาว่า ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนแบบตรงให้ทหารเกณฑ์นั้น ตกลงแล้ว บัตรเอทีเอ็มควรอยู่ที่ทหารเกณฑ์ หรือจ่ากองร้อยกันแน่ ?
ประเด็นต่อมาคือ การที่กระทรวงกลาโหมร่วมกับกรมบัญชีกลางจัดทำระบบจ่ายเงินเดือนตรงให้กับทหารเกณฑ์ เป็นไปเพื่อลดข้อครหาของกองทัพว่า เรื่องเกี่ยวกับเงินเดือนทหารมัก ‘ลึกลับดำมืด’ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีใครรู้รายละเอียดใด ๆ ทหารเกณฑ์ทุกคนมีหน้าที่แค่มารับเงินเดือน ค่าครองชีพ หรือเบี้ยเลี้ยง ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม ดังนั้นระบบจ่ายเงินเดือนตรงแบบใหม่นี้ จึงอาจช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้
คำถามที่ต้องตั้งต่อไปคือ นอกจากกองพันแห่งนี้แล้ว ยังมีกองพันอื่น ๆ อีกหรือไม่ ที่ยังให้จ่ากองร้อยยึดบัญชีเงินฝาก และเอทีเอ็มไว้กับตัวอยู่ โดยไม่ยอมแจกจ่ายให้ทหารเกณฑ์ไปกดเงินเดือนเอง เพราะเท่าที่ทราบข้อมูล กองพันบางแห่งแถวภาคตะวันออก ก็มอบบัตรเอทีเอ็มให้ทหารเกณฑ์ไปกดเงินเดือนใช้กันเองแล้ว ไม่ใช่ให้จ่ากองร้อยยึดไว้แบบนี้ ?
ส่วนข้ออ้างของจ่ากองร้อยที่ว่า หากให้บัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มแก่ทหารเกณฑ์ จะทำให้ทหารหลบหนี หรือไม่ยอมกลับมาค่ายอีก มันเป็นข้ออ้างที่อาจเรียกได้ว่า ‘ฟังไม่ขึ้น’ เพราะปกติหากมีทหารหนีจริง จ่ากองร้อยสามารถทำเรื่องขอจำหน่ายขาด หรือจำหน่ายหนี ซึ่งจะทำให้ทหารเกณฑ์รายนั้น ไม่สามารถปลดประจำการได้อยู่แล้ว
ท้ายที่สุดผลการตรวจสอบจะเป็นเช่นไร ยังมีกองพันไหนทำเช่นนี้อีกบ้าง ตกลงบัตรเอทีเอ็มควรอยู่ที่จ่ากองร้อย หรืออยู่ที่ทหารเกณฑ์ คงต้องรอคำตอบจากกระทรวงกลาโหม และกองทัพบกต่อไป !
อ่านประกอบ :
กรมบัญชีกลางจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการ เริ่มเดือน มิ.ย. 61
ใครว่าถึงหมื่น?ชำแหละเงินเดือน‘ทหารเกณฑ์’ได้เท่าไหร่-ช่องโหว่ระบบใหม่‘จ่ายตรง’