กลุ่มเภสัชฯ จี้ 'บิ๊กตู่' สั่ง อย.ทบทวนร่าง กม.ยา เอื้อกลุ่มทุนเพิ่มรายการยาสามัญฯ ในร้านสะดวกซื้อ
กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน ยื่น 2.7 หมื่นชื่อ ถึงนายกฯ แสดงความเห็นค้าน ร่าง กม.ยา อนุญาตร้านสะดวกซื้อ-ร้านของชำ ขายยาสามัญประจำบ้าน หวั่นเกิดปัญหาวิธีจัดเก็บ ให้คำแนะนำ จี้สั่งอย. ทบทวน ยันฉบับใหม่ต้องทันสมัย ประชาชนปลอดภัย เลิกเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
วันที่ 12 ก.ย. 2561 กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน กว่า 20 คน ร่วมกันใส่เสื้อกาวน์แสดงพลังกันบริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. ... โดยมีนายสาธิต สุทธิเกษม หัวหน้าส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชนศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาลเป็นผู้รับมอบหนังสือ
ผศ.ดร.ภก.ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา ผู้แทนกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน เปิดเผยว่า กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน เครือข่ายเภสัชกรรมเภสัชกรเซฟโดส (safedose) และประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 27,000 คน แสดงเจตนารมณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ เนื่องจากมีข้อบกพร่องจำนวนมาก เช่น การยกเว้นให้วิชาชีพอื่น ๆ จ่ายยาได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองจากการใช้ยา นอกจากนี้ระเบียบที่ร่างขึ้นได้สกัดกั้นธุรกิจเดี่ยวของเภสัชกร ทำให้ต้องล้มหายตายจากไปจากอาชีพ และเกิดกระบวนการของนายทุนเข้ามาแทนที่ ท้ายที่สุด ประชาชนจะประสบความยากลำบาก ขาดความมั่นคงในเรื่องยา ประเทศจะตกอยู่ในมือของคนบางกลุ่ม
ส่วนกรณีของยาสามัญประจำบ้านจะต้องกำหนดให้ขายในร้านยาเท่านั้น ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของชำ เพราะจะเกิดปัญหาในเรื่องวิธีการเก็บยาและการให้คำแนะนำ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้พิจารณา และมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทบทวนให้มีการร่าง พ.ร.บ.ยา ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ทันสมัย จะต้องไม่ร่างให้ประชาชนรับอันตราย อย่างนั้นไม่เรียกว่า พัฒนาให้ดีขึ้น
สำหรับรายละเอียดของหนังสือแสดงความคิดเห็น มีข้อท้วงติง ดังต่อไปนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าวเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายเศรษฐกิจพื้นฐาน และความมั่นคงของประเทศ เพราะยาเป็นความมั่นคงของประเทศประการหนึ่ง หากเกิดศึกสงคราม หรือภัยพิบัติต่างๆ ยา จะกลายเป็นสิ่งขาดแคลนทันที และจะขาดแคลนเป็นร้อยเท่าทวีคูณ หากประเทศชาติพึ่งตนเองไม่ได้จากการสร้างข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายให้กับธุรกิจร้านยาเดี่ยว ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบยาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป อัตราค่าธรรมเนียมที่สูงเกินกว่าที่ร้านยาทั่วไปจะรับได้ และบทลงโทษที่รุนแรงเกิน เหตุถึงขั้นจำคุก เงื่อนไขต่าง ๆเหล่านี้จะเป็นสาเหตุให้เภสัชกรที่เป็นเจ้าของร้านยาเดี่ยวต้องเลิกกิจการและต้องไปเป็นลูกจ้างนายทุน โรงงานผลิตยาในประเทศก็ต้องถึงคราวปิดตนเอง จากนั้นก็จะเกิดการแทนที่ของนายทุน ใหญ่ผูกขาด ทั้งในและนอกประเทศ ถึงเวลานั้นระบบยาของประเทศก็ต้องตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อยและ/หรือ นายทุนข้ามชาติ
2.ไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนผู้ใช้ยา ตั้งแต่ การผลิต การนำเข้า จ่ายยา เมื่อโรงงานยาในประเทศสูญสิ้น ร้านยาเดี่ยวของเภสัชกร หมดไป การจ่ายยาตามร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... ฉบับนี้ ยังคงได้รับการยกเว้นให้กับวิชาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เภสัชกรอย่างกว้างขวางกว่าเดิม ให้สามารถผลิตยา จ่ายยาให้กับคนไข้ของตน โดยไม่ได้รับการทวนสอบความปลอดภัยจากเภสัชกร ทั้งยังไม่ต้องขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไม่ต้องทำ บัญชียา และ ไม่ต้องรับโทษใด ๆ หากเกิดความผิดพลาด ประชาชนยังคงได้รับยาที่ไม่รู้ว่ายาเป็นอะไร แพ้ยาก็ไม่รู้ว่าแพ้ตัวยาใด จ่ายเงินค่ายาก็ไม่รู้ว่าสูงกว่าความเป็นจริงกี่เท่าตัว อันแสดงให้เห็นว่าหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน ได้สูญสิ้นไป ผลที่ตามมาคือความเจ็บป่วยจากการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัย นับเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้
3.มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนใหญ่ที่พยายามผลักดันให้มี รายการ ยาสามัญประจำบ้านมากขึ้น โดยอ้างว่าเป้นยาที่ปลอดภัย เพื่อให้สามารถจำหน่ายยาเหล่านี้ในร้านสะดวกซื้อได้ แต่ในความเป็นจริงไม่มียาใด ๆ ที่ปลอดภัย 100% ดังนั้น รายการยาสำมัญประจำบ้านที่เพิ่มมากขึ้น เกินความจำเป็น ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มนายทุน เป็นเหตุให้ประชาชนให้เกิดความเสี่ยงจากการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น และด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันร้านยากระจายตัวอยู่มากมายในทุกหมู่บ้านทุกตำบล ไม่ได้ขาดแคลน เหมือนดังในอดีต ดังนั้นถ้าจะคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้ยาอย่างแท้จริง จะต้องจำกัดให้ยาทุก ประเภทต้องขายในร้านยาเท่านั้น ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งยาสามัญประจำบ้าน
4.ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากลายเป็นรัฐอิสระ โดยยึดเงินรายได้ทั้งหมดไว้ใช้จ่ายด้วยตนเอง ไม่นำเข้าสู่คลังแผ่นดิน (มาตรา 134) ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ อนาคตจะเป็นหน่วยงานรัฐที่รวยที่สุดในประเทศ มูลค่าเม็ดเงินที่ผ่านเข้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีมูลค่ามหาศาล ยิ่งเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมมหาโหดเข้าไป ปีหนึ่งๆ จะเป็นเม็ดเงินมหาศาล การไม่นำเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เข้าสู่คลังแผ่นดินเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปพัฒนาประเทศ ตาม พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ ถือเป็นการทรยศต่อประเทศชาติและประชาชน
5.ร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... ฉบับนี้ กำเนิดมาจากความต้องการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ให้กับวิชาชีพต่างๆ ความต้องการเท่านั้น โดยไม่ได้มองประชาชน เป็นที่ตั้ง ไม่ได้สนใจว่าความต้องการนั้นๆ จะส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนอย่างไร ไม่สนใจว่าผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนในระยะยาวนั้น จะสะท้อนกลับมาทำให้รัฐต้องใช้จ่ายอย่างมหาศาลในการแก้ปัญหาที่จะเกิดตามมาในภายหลัง และ ไม่สนใจต่อรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความ มั่นคงของประเทศชาติโดยรวม ความอยู่รอดของประชาชนและสังคม เศรษฐกิจประเทศชาติ ด้วยร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ฉบับนี้ ระบบการผลิต ระบบการกระจายยา ระบบการจ่ายยาในประเทศจะถูก ทำลาย ประชาชนย่อมจะขาดความปลอดภัยโดยสิ้นเชิง .