อุปฯส.นักข่าวชี้คนไทยยังไม่เท่าทันแรงยั่วยุสื่อพรรคการเมือง
กสทช.ห่วงจริยธรรมสื่อใหม่ เคเบิ้ลท้องถิ่น-ทีวีดาวเทียม-วิทยุชุมชน โฆษณาแฝงอื้อ-ภาษาหยาบ ต้องรอออกใบอนุญาตใหม่จึงควบคุมได้ นักข่าวอาวุโสชี้ผู้บริโภคไทยยังไม่ก้าวข้ามกลลวงทีวีการเมืองยั่วยุ
วันที่ 29 พ.ค. 55 สาขาวิชาการสื่อสารธุรกิจบริการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต จัดสัมมนา “จริยธรรมหายไปหรืออยู่ในใจสื่อมวลชน” ณ โรงแรมสวนดุสิตเพลส โดยนายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าปัจจุบันสื่อมวลชนมีจริยธรรมน้อยลง โดยเฉพาะเคเบิลท้องถิ่น ทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชน ซึ่งทันทีที่เปลี่ยนจากระบบอะนาล๊อกเป็นดิจิตอลจะมีสื่อพวกนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งด้านหนึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเสพสื่อมากขึ้น
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันคือสื่อเหล่านี้มีโฆษณาแฝงที่ล่อลวงผู้บริโภคและยังมีการใช้ภาษาไม่สุภาพในรายการมากขึ้นทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ เพราะยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบเข้าสู่ขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หลังจากนั้นจึงจะสามารถควบคุมคุณภาพได้
รองเลขาฯ กสทช. กล่าวต่อว่าไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้สื่อมวลชนปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ และไม่ควรผลักภาระการควบคุมให้ภาครัฐหรือองค์กรอิสระดูแลฝ่ายเดียว แต่ควรสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ระดับครอบครัวให้เลือกเสพสื่อที่มีประโยชน์ โดยให้ผู้เสพสื่อรู้เท่าทันและสามารถแยกแยะเนื้อหาจากสื่อได้
ด้าน ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ขณะนี้สื่อหลายแขนง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์จะมีองค์กร เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติควบคุมจริยธรรมอยู่ แต่ยังพบการกระทำผิดตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน โดยเฉพาะประเภทหัวสี เช่น มีรูปภาพอุจาดบนหน้า 1 หรือหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อค่าโฆษณา เพื่อความอยู่รอดขององค์กร เพราะความอยู่รอดของสื่อในยุคทุนนิยมต้องพึ่งปัจจัย 3 ประการ คือ นโยบายเจ้าของสื่อ สื่อมวลชนและเอกชนผู้สนับสนุน
“ข่าวในยุคนี้ระหว่างข่าวดาราชื่อดังเดินแบบสะดุดรองเท้าส้นสูงหัก สื่อหลายสำนักเผยแพร่ข่าวสองสามวัน แต่หากเป็นข่าวนักเรียนไทยแข่งขันทางวิชาการชนะกลับอยู่กรอบเล็กๆ หน้าในของเล่ม แค่นี้วัดได้แล้วว่าปัจจุบันสื่อมวลชนมีจริยธรรมลดน้อยลงมาก หวังเพียงยอดขาย”
อุปนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวต่อว่าการร้องขอให้สื่อมวลชนเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลางในสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องยาก สิ่งที่ทำได้คือผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทันสื่อ ไม่เสพข้อมูลเพียงด้านเดียวและไม่วิเคราะห์โดยปราศจากเหตุผล มิฉะนั้นอาจเป็นเหมือนที่คนหลากสีทะเลาะกันเพราะนั่งฟังแต่ทีวีช่องสีตนเอง
ขณะที่นายอำไพ โพธิ์ชัยรัตน์ บรรณาธิการกลุ่มรายการสถานการณ์ข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเชื่ออยู่เสมอว่าสื่อมวลชนทุกคนมีจริยธรรมวิชาชีพเหมือนที่ได้ร่ำเรียนมา แต่โลกความจริงในระบบการทำงานกลับมีการแทรกแซงจากหลายฝ่าย ส่งผลให้ความอิสระการทำงานน้อยลง โดยเฉพาะช่องฟรีทีวี วิทยุธุรกิจที่เน้นเชิงพาณิชย์เป็นหลัก
ส่วนกรณีทีวีพรรคการเมืองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสื่อที่บ่อนทำลายความสามัคคีของประชาชนนั้น นายอำไพ เห็นว่าพรรคการเมืองในต่างประเทศต่างมีทีวีเพื่อเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น แต่สาเหตุที่ไม่มีการทะเลาะกันเหมือนประเทศไทย เพราะประชาชนเขาสามารถแยกแยะการรับข้อมูลข่าวสารได้ ซึ่งไทยยังไม่ข้ามผ่านจุดนั้น .