ศาลปกครองโคราช สั่งโรงงานรีดยาง ระงับกลิ่นเหม็นกวนชาวบ้าน
ศาลปกครองโคราชแผนกคดีสิ่งแวดล้อม สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานรีดยางฯ หยุดกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน ให้นายกเทศมนตรี-อุตส.จังหวัด บังคับใช้ กม.โรงงาน-สาธารณสุข เคร่งครัด
วันที่ 28 พ.ค.55 สำนักงานศาลปกครองออกใบแถลงคำสั่งศาลปกครองนครราชสีมา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม กรณีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา “คดีกลิ่นเหม็นจากโรงงานรีดยางพารา” โดยระบุว่า นายทองแดง สุวรรณเพชร(ผู้ฟ้องคดีที่ 1) กับพวกรวม 13 คน ได้ฟ้องศาลว่าโรงงานรีดยางพาราและเก็บรวบรวมเศษยาง–ยางแผ่นของบริษัทไทยฮั้วยางพาราจำกัด มหาชน(ผู้ร้องสอด) ก่อกลิ่นเหม็นรบกวนการพักอาศัยและเป็นผลเสียต่อสุขภาพผู้ฟ้องคดีและประชาชนบริเวณใกล้เคียง
โดยคดีนี้มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เทศบาลตำบลบึงเจริญ) ที่ 2 (สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์) ที่ 3 (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ที่ 4 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) ที่ 5 (สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์) ที่ 6 (นายกเทศมนตรีบึงเจริญ) ที่ 7 (อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์) และมีบริษัท ไทยฮั้วยางพาราจำกัด(มหาชน) เป็นผู้ร้องสอด
ต่อมาผู้ฟ้องและพวก ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็น ซึ่งวันที่ 24 พ.ค.55 ศาลปกครองนครราชสีมา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิจารณาว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตหรือวัตถุดิบไม่ก่อเหตุเดือดร้อนเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งในเวลาใกล้เคียงที่มีการยื่นฟ้องคดี นายกเทศมนตรีบึงเจริญได้ออกคำสั่งให้บริษัทปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้มีกลิ่นออกสู่ภายนอกและยังได้ปรับบริษัท 2,000 บาท เนื่องจากดำเนินการตามคำสั่งล่าช้า
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามยังได้รับกลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิตของบริษัท โดยเฉพาะเวลาเดินเครื่องเร่งกำลังการผลิตเต็มที่ สังเกตได้จากปล่องควันที่จะปล่อยควันออกมาในลักษณะหนาตัวกว่าช่วงที่เบาเครื่องกำลังการผลิต โดยกลิ่นในช่วงนี้เหม็นรุนแรง เมื่อลมพัดไปในทิศทางใดก็จะแพร่กระจายไปยังประชาชนที่พักอาศัยในทิศทางนั้น และจะเหม็นรุนแรงจนต้องเข้าไปอยู่ในอาคารปิดประตูหน้าต่างให้สนิทจนกว่ากลิ่นเหม็นจะจางหายไป
อีกทั้งโรงงานยังมีปัญหากลิ่นจากการสะสมวัตถุดิบและกลิ่นจากการเหม็นเน่าของระบบบำบัดน้ำทิ้ง โดยบริษัท เทศบาลตำบลบึงเจริญ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าเมื่อระบบบำบัดกลิ่นของโรงงานมีการปรับปรุงแก้ไขเสร็จสิ้นตามมาตรฐานแล้ว กลิ่นจากกระบวนการผลิตก็ไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน แต่จากการตรวจสอบขณะที่โรงงานเดินเครื่องการผลิตเต็มที่และกลิ่นจากการสะสมวัตถุดิบรวมทั้งจากน้ำเสียโรงงาน ปรากฏว่าบริเวณที่อบยางมีกลิ่นเหม็น
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลบริษัทได้ประกอบกิจการโรงงานโดยมีกลิ่นเหม็นรบกวนหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน อันเป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งกลิ่นเหม็นนี้แม้มิได้เกิดขึ้นทุกวันแต่หากไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันที่มีประสิทธิภาพจากบริษัท ไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายของนายกเทศมนตรีบึงเจริญ และอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์บังคับใช้มาตรการตามกฎหมาย ย่อมจะก่อเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อประชาชน
ศาลปกครองนครราชสีมา จึงมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้บริษัทไทยฮั้วยางพาราฯ ป้องกันควบคุมขจัดกลิ่นเหม็นจากโรงงานมิให้รบกวนการดำรงชีพและสุขภาพของผู้ฟ้องคดีและประชาชนรอบโรงงาน โดยให้นายกเทศมนตรีบึงเจริญ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ออกคำสั่งหรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายให้บริษัทดำเนินการป้องกัน ควบคุมขจัดกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโดยเคร่งครัด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ภาพประกอบจาก : http://hatyaimechdesign.blogspot.com/2011_06_01_archive.html