ห่วงลต.ครั้งหน้ากลับไปขัดแย้ง! เวทีเสวนาญาติพค.35 จี้นักการเมือง-ผู้มีอำนาจหาทางออก
"...ขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่า 1. ขอเรียกร้องให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นไปด้วยความเป็น กลางและความยุติธรรม ฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกในอนาคต และ 2. ในประเด็นการวางยุทธศาสตร์ชาติสิ่งสำคัญนั้นคือการให้พรรคการเมืองเข้ามาอยู่ร่วมในการวางยุทธศาสตร์ด้วยไม่ใช่แค่ข้าราชการเป็นผู้ร่างอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นมีความเกี่ยวโยงกับทุกฝ่าย และก็ขอฝากไปยังพรรคการเมืองด้วยว่าการที่ทหารเข้ามาสู่วงการการเมืองได้นั้นเป็นเพราะว่าพรรคการเมือง วงการการเมืองนั้นมีความอ่อนแอ ดังนั้นก็ต้องทำให้ภาคการเมืองมีความเข้มแข็งด้วย เพื่อที่ทหารจะได้ไม่กลับมายุ่งกับการเมืองอีก..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดเสวนาเรื่อง “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง” ที่ชั้น 3 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการฯเป็นผู้ดำเนินการเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบไปด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้แทนพรรคพลังธรรมใหม่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง ผู้แทนพรรคเพื่อไทย และนายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
@"ธีรชัย" ร้อง เลือกตั้งต้องยุติธรรม ชี้ นักการเมืองต้องมีส่วนกำหนดยุธศาสตร์ชาติ
โดยนายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่า 1. ขอเรียกร้องให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นไปด้วยความเป็นกลางและความยุติธรรม ฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกในอนาคต และ 2. ในประเด็นการวางยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งสำคัญนั้นคือการให้พรรคการเมืองเข้ามาอยู่ร่วมในการวางยุทธศาสตร์ด้วยไม่ใช่แค่ข้าราชการเป็นผู้ร่างอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นมีความเกี่ยวโยงกับทุกฝ่าย และก็ขอฝากไปยังพรรคการเมืองด้วยว่าการที่ทหารเข้ามาสู่วงการการเมืองได้นั้นเป็นเพราะว่าพรรคการเมือง วงการการเมืองนั้นมีความอ่อนแอ ดังนั้นก็ต้องทำให้ภาคการเมืองมีความเข้มแข็งด้วย เพื่อที่ทหารจะได้ไม่กลับมายุ่งกับการเมืองอีก
@"จตุพร" จี้ ผู้มีอำนาจปลดล็อคใจตัวเอง ทุกฝ่ายต้องพูดคุยกัน
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา คนที่ผ่านเหตุการณ์ พ.ค. 2535 นั้น จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 2535 แม้จะเลวร้าย แต่ก็ยังน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ตนเห็นว่าในตอนนี้ความสำคัญคือผู้มีอำนาจจะต้องปลดล็อค คลายล็อคจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน เพราะสิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศ
"คนที่จะเริ่มพูดคุยได้นอกจากพรรคการเมืองคุยกันคือ ผู้มีอำนาจควรมาตกลง หารือ ภายใต้กติกาที่แก้ไขอะไรไมได้ มาหารือกัน จะทำไม่ให้เกิดเหมือนพฤษภา35 แม้มีเลือกตั้ง 2562 ก็อาจมี 62/1 หรือ 62/2 ซึ่งแต่ๆละครั้งจะมีคนตาย ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยกลัวคำว่า ไม่สงบ ซึ่งมีการอธิบายไปทุกเรื่อง บ้านเมืองสงบดีกว่ามีปัญหาปากท้อง หรือมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันก่อน เลยขอฝากไว้ทุกฝ่าย ผู้มีอำนาจ ถ้าใจกว้างควรชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วม มาหาทางออก เอาประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เอาเรื่องส่วนร่วมมาก่อนเรื่องส่วนตัว ถ้ายังดำรงอยู่เหมือนปัจจุบัน แม้เลือกตั้งแล้วก็ยังวิกฤต แล้วเมื่อเกิดแล้วก็ยังไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านเมือง"
นายจตุพร กล่าวอีกว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตอนใกล้เลือกตั้ง แต่ละพรรคแต่ละฝ่าย มีการกวาดต้อนเพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ ถ้ามุมนักการเมืองตกลงได้ ถ้าใครจัดตั้งได้เสียงเกิน 250 เสียง แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ว่าใครมีอำนาจ ไม่ว่าฝ่ายตนหรือฝ่ายไหน ย่อมอยากฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากฟัง เช่น ปัจจุบันบอกกันว่า เศรษฐกิจดี ผลโพลคนยอมรับ ซึ่งประวัติศาสตร์ก็บอกอยู่แล้ว ผู้เสพข่าวไม่อยากเสพเพื่อให้เป็นทุกข์ เลยฟังข่าวตรงข้ามกับความเป็นจริง แต่ยังเชื่อว่า ถ้าพรรคการเมืองมาคุยให้จบ มาตกลง คือ ในสภาฯให้จับมือเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก ไม่ใช่มาจากเสียงข้างน้อยเพื่อบีบรวมกันให้เป็นเสียงข้างมาก ถ้าเป็นเงื่อนไขนี้ นายกฯคนนอกก็แทบปิดประตูไปโดยปริยาย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็อาจเปลี่ยนไป ที่เน้นให้คุยกัน เพราะมีปัญหาปากท้อง แต่ที่ทุกคนยังอดทน ก็เพราะกลัวว่าจะไม่สงบ โดยขอย้ำว่าต้องมีการคุยกัน เมื่อพรรคการเมืองคุยกันจบ ค่อยไปคุยกับผู้มีอำนาจ แล้วตกลงเป็นสัญญาประชาคม เพื่อให้เกิดประเทศเดินไปได้
“ที่บอกให้ทุกฝ่ายคุยกันก่อน เพื่อไม่อยากให้มีปัญหากันหลังเลือกตั้ง แม้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย จะจับมือกัน เพียงพูดเท่านี้ก็มีปัญหาแล้ว เพียงแต่ตอนนี้ เราจะรักษาประเทศ ไม่ให้บอบช้ำกันได้อย่างไร ผู้นำมวลชนไม่ได้ขัดแย้งเรื่องส่วนตัว ความขัดแย้งไม่มีใครผูกขาด คนที่อยู่ในสถานการณ์ต่อสู้กันมา ควรมาป้องกัน เพราะต่างผ่านความตายกันมา ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน เอาความเป็นส่วนตัวออก เอาบ้านเมืองไว้ก่อน มาคุยกัน เชื่อว่า มีทางออกสำหรับประเทศไทยเสมอ” นายจตุพรกล่าว
@"หมอระวี" ย้ำ พลังธรรมใหม่ไม่ร่วมเผด็จการทหาร แต่พร้อมจับมือคนดีพัฒนาบ้านเมือง
ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้แทนพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพรรคพลังธรรมใหม่นั้นมีจุดยืนไม่ร่วมกับเผด็จการทหารอย่างแน่นอน
"ที่ผ่านมาประเทศไทยนั้นมีการตีความความหมายของคำว่าประชาธิปไตยที่แตกต่างกันโดยหลายฝ่าย เช่นเดียวกันสำหรับพรรคธรรมใหม่ก็ต้องการให้มีประชาธิปไตยแบบที่ไม่ใช่แค่ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ 1 นาที ตอนไปเลือกตั้งเท่านั้น และก็ไม่เอาประชาธิปไตยแบบที่ประเทศตะวันตกนับถือ ซึ่งในขณะนี้ดูจะมีหลายประเทศในตะวันตกเริ่มประสบปัญหาแล้ว"
"ดังนั้นจุดยืนของพรรคพลังธรรมใหม่จึงมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะสลายสีของทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศไทยมีสีเดียวกันให้ได้ ทางพรรคยินดีที่จะหาทางพูดคุยกับทุกฝ่ายว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดศึกระหว่างการเมืองหลังการเลือกตั้งขึ้นมาอีก โดยต้องสนับสนุนให้คนดีมีความซื่อสัตย์เข้ามาบริหารบ้านเมืองหลังจากการเลือกตั้งในครั้งหน้า ดังนั้นพรรคพลังธรรมใหม่ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมกับทุกฝ่ายที่เป็นคนดีและทำเพื่อบ้านเมือง"
"สำหรับการเลือกตั้งนั้น ขอย้ำว่า คสช.ควรจะฟังพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นได้เสียง เกิน 250 เสียง เพราะว่านี่ถือเป็นความต้องการส่วนมากของประชาชน ควรจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองนั้นได้บริหารประเทศ และ ส.ว. จำนวน 250 คนนั้น ก็ควรจะฟังเสียงของประชาชนด้วยเช่นกัน สำหรับการยกเลิกระบบไพรมารีโหวตนั้น ทางพรรคพลังธรรมใหม่ ขอเรียนว่าไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการทำไพรมารีโหวตนั้นจะเป็นกลไกในการปฏิรูปการเมืองขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นถ้าหากการเลือกตั้งมีการเลื่อนออกไปอีก แต่มีการทำไพรมารีโหวต ทางพรรคพลังธรรมใหม่ก็ยอมรับตรงนี้ได้"
@ชาติไทยพัฒนา ยอมเป็นฝ่ายค้านหากทุกฝ่ายรวมตัวกันได้
ส่วนนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า "จุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาชัดเจนว่าไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ผ่านมาตอนนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรียังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เคยพูดว่าอย่าทะเลาะกัน แต่ก็ดูจะไม่มีคนสนใจที่ท่านพูดเท่าไรนัก ที่ผ่านมานั้นพรรคชาติไทยพัฒนาเองก็มีความเบื่อหน่วยกับความขัดแย้งในบ้านเมืองมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าปัญหาประเทศไทย ก็มีที่มาจากการที่เราไม่เอาประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านๆมามาศึกษากันเลยว่าทำไมเราถึงจะเดินหน้าไปได้อย่างไร"
"สำหรับเรื่องการจับมือสร้างพรรคการเมือง จนไปถึงการสร้างรัฐบาลแห่งชาตินั้นเป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบ แต่ว่าในทางปฏิบัติด้วยกลไกของรัฐสภานั้นมันทำไม่ได้ แต่ถ้าทำได้จริง แม้ว่าจะให้พรรคชาติไทยพัฒนาไปเป็นฝ่ายค้านจริง พรรคก็ยอมที่จะทำ ในปี 2562 ถ้ามีการเลือกตั้งจริง ถ้าอยากจะออกจากวังวนเหล่านี้ เราก็ต้องออกมาจากมุมของตัวเองให้ได้เสียก่อน"
นายสิริพงศ์กล่าวต่อว่า "สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอนาคตนั้น ต้องยอมรับว่าการที่ไม่มีนายบรรหาร ก็อาจจะทำให้พรรคชาติไทยพัฒนานั้นมีความลำบากมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานายบรรหารก็ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับว่าเป็นโซ่ข้อกลางให้กับทางพรรคชาติไทยพัฒนา"
@เพื่อไทย ยันคำเดิม ไม่จับมือทหารตั้งรัฐบาลทุกกรณี
ทางด้านของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ผู้แทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า "ที่ผ่านมาก็พูดไปหลายครั้ง ก็เข้าใจว่าพูดไปจนชัดเจนแล้วว่าลักษณะพิเศษของการเลือกตั้งนั้นมันมีข้อจำกัดอะไรบ้าง อาทิ การไม่ให้พรรคการเมืองทำนโยบาย มีสิทธิ์ มีเสียง มีความคิดเห็น ไม่มีสิทธิ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งที่ควรทำได้ก่อนการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี่เป็นการทำลายความหมายของการเลือกตั้ง"
"ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งคือสิ่งตัดสินว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ในเวลานี้สิ่งที่ คสช.ทำก็คือการทำให้พรรคการเมืองมีนโยบายไม่ตรงกับประชาชนต้องการ เพราะพรรคการเมืองทั้งหมดโอกาสและไม่มีเวลาที่จะสื่อสารกับประชาชน อาจจะนำไปสู่การเข้าใจที่ผิดของสังคมว่านโยบายของพรรคการเมืองนั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ และนโยบายของ คสช.นั้นดีกว่า เพราะเข้าถึงประชาชนได้"
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ดังนั้นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร แต่ขอย้ำว่าถ้าผู้นำ คสช.ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลนั้น ขอย้ำว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่สนับสนุนโดยเด็ดขาด และจะสนับสนุนทุกพรรคการเมืองที่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้นขอยืนยันว่าอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องการที่จะแก้รัฐธรรมนูญ แต่ว่าต้องยึดกรอบตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าจะให้แก้อย่างไร ถ้าตรงไหนที่ต้องแก้ด้วยการทำประชามติ ก็ต้องทำ
@ ปชป. ฝาก 4 ข้อหา หาทางออกประเทศ
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า สำหรับหัวข้อการเสวนาวันนี้นั้นขอเรียนเบื้องต้นว่าอนาคตประเทศไทยคงไม่มีวันตันอย่างแน่นอน แต่ว่าที่กำลังจะเดินหน้าไปสู่ทางตันนั้นคือ คสช.เอง เพราะว่ามีปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ 1. เศรษฐกิจและ 2. การเมือง สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้นปัญหาใหม่คือแม้ว่ารัฐบาลจะประชาสัมพันธ์ว่าตัวเลขจีดีพีโต แต่ว่าถ้ายกเว้นบรูไนกับสิงคโปร์ จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน อีกทั้งเม็ดเงินก็ไม่ตกไปที่รากหญ้า แต่ลงไปที่คนเพียงไม่กี่คน หรือที่เรียกกันว่ารวยกระจุก จนกระจาย และถ้าดูลึกลงไปในตัวเลขอีก จะพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอันดับความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยผู้จัดอันดับนั้นเป็นสถาบันทางการเงินจากสวิสเซอร์แลนด์ที่ใช้ข้อมูลผู้ครอบครองความมั่งคั่งต่างๆ ความจริงแล้วรัฐบาลเองก็รู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ก็เลยพยายามว่านเม็ดเงินลงรากหญ้า แต่ก็ไปไม่ถึงจริง เพราะผู้ปฏิบัตินั้นไม่รู้จักประชาชน
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า 2. ที่บอกว่าปัจจัยด้านการเมืองนั้น นอกจากที่สังคมถกเถียงว่าจะปลดล็อคเมื่อไร จะเลือกตั้งเมื่อไร ก็ยังมีประเด็นอีกว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนั้น คสช.ถือว่าเป็นทั้งผู้คุมกติกา และผู้ที่จะแข่งขันในสนามเลือกตั้งด้วย ซึ่งนี่เป็นอำนาจที่รับรองอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ แล้วก็ยังมีอำนาจของ คสช.ที่จะไปเกี่ยวข้องกับการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดหน้าอีก จนไปถึงวันที่คณะรัฐมนตรีชุดหน้าจะถวายสัตย์ คสช.จึงจะหมดอำนาจไป ซึ่งปัจจัยทางการเมืองดังกล่าวนั้นจะทำให้สังคมเกิดความลังเลว่าเลือกตั้งแล้วจะทำให้สังคมกลับไปสู่ความขัดแย้งแบบเดิมอีกหรือไม่
นายจุรินทร์กล่าวว่าแต่ว่าถ้าหากยึดใน 4 แนวทางต่อไปนี้ก็เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปสู่ความขัดแย้ง ได้แก่ 1. ทุกฝ่ายจะต้องยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 2. หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้สภาผู้แทนราษฎร จะต้องทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อยก็เป็นฝ่ายค้าน 3. ฝ่ายบริหารจะต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จนไม่สนใจเสียงข้างน้อยและเสียงประชาชน จนทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา และ 4. ทุกฝ่ายต้องยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสังคมให้มีความสันติอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าถ้ายึดหลักทั้งหมดนี้นั้น ประเทศจะไม่กลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเมื่อก่อนอย่างแน่นอน
นายจุรินทร์กล่าวทิ้งท้ายว่า "สำหรับสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นยังคงเป็นไปตามที่ คสช.ได้บังคับเอาไว้ ก็คือว่าจะต้องมีการกำหนดนโยบายใหม่ เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คสช.จะปลดล็อคให้ดำเนินกิจกรรมเมื่อไร และปลดล็อคให้ทำกิจกรรมได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังทำข้อบังคับพรรคไม่เสร็จเลยตอบอะไรมากไม่ได้"
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นจากหลายฝ่าย ในเวทีเสวนาเรื่อง “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง”