3 สิ่งที่ผู้เห็นต่างจากรัฐหวาดกลัว
ในยุคที่ผู้นำทางทหารซึ่งคุมสถานการณ์ชายแดนใต้ให้น้ำหนักเรื่อง "ภัยแทรกซ้อน" และ "กลุ่มอิทธิพล" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลายด้ามขวานลุกเป็นไฟ
แต่ในแง่ทฤษฎีและการศึกษาความเป็นไปจากฟากฝั่งนักวิชาการ ตลอดจนข้าราชการบางส่วนที่เคยสัมผัสพื้นที่แบบไม่ได้ถือปืน กลับเห็นว่ารากเหง้าของปัญหายังคงเป็นเรื่อง "ความอยุติธรรม" และ "ความเหลื่อมล้ำ" ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังรัฐแพร่กระจายไปในกลุ่มคนหลายกลุ่มในพื้นที่
กลุ่มหนึ่งก็ฟูมฟักเป็นอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีอยู่จริง อีกกลุ่มหนึ่งอาจไปไม่ถึงอุดมการณ์ที่เป็นอุดมคติ แต่ก็เลือกแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐโดยใช้ความรุนแรง และก็แน่นอนว่ามีบางกลุ่ม บางคน ไม่สนใจวิธีการ ทำให้กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายแทรกตัวเข้ามาใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือ
ฉะนั้นแม้สถานการณ์ในปีหลังๆ ที่ชายแดนใต้ ความรุนแรงจะผสมปนเปไปจนยากจะแยกแยะว่ากรณีไหนอุดมการณ์ กรณีไหนรับจ้าง หรือกรณีไหนทำเพื่อผลประโยชน์ แต่ถึงที่สุดแล้วก็มิอาจก้าวข้ามประเด็นเรื่อง "ความอยุติธรรม" และ "ความเหลื่อมล้ำ" ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาไปได้
เวทีสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ "10 ปี กระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้...ย้อนอดีต วิเคราะห์ปัจจุบัน ผลักดันสู่อนาคต" ซึ่งจัดขึ้นที่ ม.อ.ปัตตานี ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการตอกย้ำในประเด็นรากเหง้าของปัญหา 2 ข้อที่ว่านี้
"รากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้คือความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม" เป็นสุ้มเสียงจาก ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติชุดแรกที่ถูกตั้งขึ้นและได้รับการมอบหมายให้ศึกษาต้นตอที่แท้จริงของปัญหาไฟใต้ ภายหลังเกิดสถานการณ์ความรุนแรงกระจายตัวในวงกว้างตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.47
"งาน กอส.ทำให้ได้สัมผัสพื้นที่ชายแดนใต้ ได้ทราบว่าการอยู่ร่วมกันต้องสนใจดูแลกันทุกเรื่อง 10 ปีให้หลังมีการทำแผนที่ความยากจน เห็นว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยากจนหนาแน่น ฉะนั้นความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาจึงต้องพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้สังคมที่เป็นธรรม เพราะการจะก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันต้องสร้างความมั่นใจเรื่องความเป็นธรรมร่วมกัน ลดความเสี่ยงและความรุนแรง ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำด้านการรับรู้ ทุกฝ่ายต้องเข้าใจร่วมกันว่างานยุติธรรมต้องมองไกลกว่างานของกระทรวงยุติธรรม ความถูกต้องชอบธรรมขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาที่เป็นจริง และเป็นหัวใจของการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน"
ขณะที่ สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการยุติธรรม คือประชาชนเข้าถึงง่าย สะดวก ปลอดภัย และประหยัด
"แต่คำถามคือ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ชายแดนใต้มีความปลอดภัยของผู้ที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เราได้ตรวจสอบแล้วคือไม่มี การจ่ายเงินเยียวยา 4 ล้าน 7 ล้าน เมื่อไปถามชาวบ้านแล้วได้รับคำตอบว่าไม่ใช่การเยียวยาที่แท้จริง แต่การได้ตัวเจ้าหน้าที่ที่รับผิดกับการละเมิดสิทธิ์ต่างหาก คือการเยียวยาที่ใช่" สมชาย กล่าว และว่าในระยะหลังๆ ฝ่ายความมั่นคงเน้นปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ ปรากฏว่ามีแต่สร้างความแตกแยกเกลียดชังระหว่างศาสนาและชนชาติ สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้สังคมเชื่อว่าจะมีความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร
ด้านข้าราชการที่สัมผัสงานปลายด้ามขวานอย่างใกล้ชิด ก็ให้น้ำหนักเรื่องความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำเช่นกัน แต่ก็ยืนยันว่าความยุติธรรมในแง่ "กระบวนการ" ได้รับการแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ
"ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเคยถูกคุมขังนานที่สุดถึง 2,400 วัน แล้วสุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาที่ต้องติดคุกฟรีสูงกว่า 9 แสนบาท" เป็นข้อมูลจากสำนักบริหารงานยุุติธรรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก่อนสรุปว่าสภาพปัญหาแบบที่ว่านี้ได้รับการแก้ไขปรับปรุงแล้ว เพราะปัจจุบันหากฟ้องคดีวันนี้ จะต้องนัดสืบพยานภายใน 6 เดือน และพยายามให้ได้รับโอกาสในการ "ปล่อยชั่วคราว" หรือประกันตัว เมื่อสืบพยานแล้วจะเป็นการ "นัดพิจารณาต่อเนื่อง" ทำให้คดีจบในศาลชั้นต้นไม่เกิน 13 เดือน
สอดคล้องกับข้อมูลของ อัยการโสภณ ทิพย์บำรุง รองอธิบดีอัยการภาค 9 ที่บอกว่า คดีความมั่นคงที่ถูกส่งขึ้นสู่ศาล เคยมีสถิติที่ศาลพิพากษายกฟ้องสูงถึงร้อยละ 90 ทำให้เกิดกระแสโจมตีว่ารัฐ "จับมั่ว" และ "ถูกขังฟรี" ส่งผลให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องเร่งปฏิรูปวิธีการทำงานอย่างเร่งด่วน
เริ่มจาก "พนักงานสอบสวน" ในฐานะต้นทางของสายพานยุติธรรม มีการเน้นหนักให้ใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่อัยการในฐานะผู้กลั่นกรองคดีก่อนนำขึ้นสู่ศาล ก็มีการตั้ง "สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3" ขึ้นมารับผิดชอบสำนวนคดีความมั่นคงเป็นการเฉพาะเช่นกัน
ในส่วนของศาล ในฐานะผู้ตัดสินชะตาชีวิตของผู้ต้องหาและจำเลย ก็มีการคัดสรรผู้พิพากษาผู้มากประสบการณ์และเชี่ยวชาญคดีความมั่นคงเป็นพิเศษมารับผิดชอบสำนวนคดี
ทั้งหมดนี้ทำให้สถิติการพิจารณาคดีความมั่นคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อัตราการพิพากษาลงโทษจำเลยมีสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมๆ กับสถิติการ "สั่งไม่ฟ้องคดี" ของอัยการ ในสำนวนที่ไม่มีน้ำหนักของพยานหลักฐานมากพอ ก็มีตัวเลขสูงขึ้นเช่นกัน นี่คือการใช้กระบวนการยุติธรรมในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคง
บทสรุปของทิศทางดับไฟใต้ในภารกิจด้านการอำนวยความยุติธรรม คงต้องย้อนไปฟังประสบการณ์ของ กิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ซึ่งคลุกคลีกับบรรดาผู้ต้องขังคดีความมั่นคงมาอย่างยาวนาน
กิตติ บอกว่าสิ่งที่ผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีอุดมการณ์ต่อสู้กับรัฐไทยหวาดกลัวว่าจะเกิดขึ้นมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 1.กลัวประชาชนมีความสุข 2.กลัวข้าราชการดีๆ และ 3.กลัวประชาชนในพื้นที่เสียโอกาสจากสถานการณ์ความรุนแรง
ข้อคิดที่ได้จากรองเลขาธิการ ศอ.บต.ผู้นี้ก็คือ ความกลัวของผู้ที่ตัดสินใจต่อสู้กับรัฐ ไม่ว่าจะด้วยแนวทางสันติวิธีหรือความรุนแรง น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายและข้าราชการทุกคนได้ตระหนัก ท่ามกลางข่าวความไม่เป็นธรรมที่ยังปรากฏอยู่ซ้ำๆ รวมทั้งข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นที่เริ่มถูกกวาดออกมาจากใต้พรม เพราะการคดโกง กินเปอร์เซ็นต์ งาบหัวคิวจากงบพัฒนาที่ถูกส่งลงพื้นที่ ก็คือความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำอีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านต้องทนรับอยู่เช่นกัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพจากเวทีสัมมนา