ป.ป.ช.ผุด กก.ส่งเสริม ปชช.-หน่วยงานรัฐป้องปรามทุจริต เบี้ยประชุม8พัน-หมื่นบ./เดือน
ป.ป.ช. ผุด คกก.ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมป้องปรามทุจริต 15 ราย ปธ.ป.ป.ช. เป็นประธานโดยตำแหน่ง กก.ป.ป.ช. 1 ราย ตัวแทนภาคองค์กร-เอกชน 4 ราย ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ราย ประธาน กก.อุดมศึกษา-เลขา ป.ป.ท.-ผอ.สำนักงบฯ มาด้วย เบี้ยประชุมเดือนละ 8,000-10,000 บาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้คือ การตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือคณะกรรมการ สปท. จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน กรรมการ ป.ป.ช. ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นกรรมการ ประธานกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกรรมการ ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ ผู้แทนจากเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจำนวนไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่น้อยกว่า 2 คน
โดยคุณสมบัติของผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจากฝ่ายเอกชนนั้น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ และเป็นประโยชน์ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ห้ามเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น และคณะผู้บริหารท้องถิ่น ห้ามเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญาหรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ป.ป.ช. หรือเคยต้องคำพิพากษาจำคุก แม้คดีนั้นจะไม่ถึงที่สุด หรือรอการลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น ยกเว้นสมาชิกพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ให้สำนักงาน ป.ป.ช. จัดทำประกาศรับสมัครบุคคลตัวแทนจากภาคเอกชน โดยให้ผู้ประสงค์สมัครยื่นใบสมัครและเอกสารต่าง ๆ และต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรหรือเอกชน โดยองค์กรนั้นต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เป็นองค์กรที่ไม่ได้ก่อตั้งโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสม โดยตัวแทนจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี
ให้คณะกรรมการ สปท. มีอำนาจหน้าที่ให้คำเสนอแนะ ช่วยเหลือ และร่วมดำเนินการกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อร่วมรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือแจ้งเบาะแสการทุจริต จัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล โดยต้องมีวิธีสะดวก ง่าย ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้ง ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหน่วยงานรัฐให้จัดกลไกการแจ้งเตือน กรณีพบพฤติการณ์ส่อทุจริตในหน่วยงานรัฐ โดยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จะเชิญบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแสดงความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้
สำหรับเบี้ยประชุมจะได้รับเป็นรายเดือน เฉพาะเดือนที่มีการประชุม โดยประธานกรรมการ 10,000 บาท กรรมการ 8,000 บาท กรรมการและเลขานุการ 8,000 บาท ผู้ช่วยเลขานุการ 1,600 บาท ในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้ คณะกรรมการ สปท. อาจตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยได้รับเบี้ยประชุมโดยให้สำนักงาน ป.ป.ช. เบิกจ่ายเป็นรายครั้งตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะบุคคล และเบี้ยประชุม
อ่านระเบียบฉบับเต็ม ที่นี่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์