‘สฤณี’ ชี้สื่อเสนอข้อเท็จจริงรอบด้านกำลังหายไป-หลายค่ายจรรยาบรรณตกต่ำ
อักษรฯ ศิลปากร – สกว. เปิดเวทีชวนคิด จะอยู่ด้วยกันอย่างไร? ในโลก เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอื่น 'สฤณี อาชวานันทกุล' ติงสื่อหลายค่ายจรรยาบรรณตกต่ำ พื้นที่สังคมออนไลน์ทำข่าวมักง่าย สื่อเสนอข้อเท็จจริงรอบด้าน ไม่บิดเบือนกำลังหายไป
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 “อยู่ด้วยกัน : โลก เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอื่น” ณ อาคารวชิรมงกุฎ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทั้งนี้ การอภิปรายหัวข้อ “สื่อ โลกเสมือน กับความเท่าเทียมในศตวรรษที่ 21" โดย น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในยุคข้อมูลข่าวสารไหลเวียนจำนวนมาก ต้องแยกแยะความจริงกับความคิดเห็น พบว่าสื่อหลายค่ายจรรยาบรรณตกต่ำลงอย่างชัดเจน พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ทำข่าวอย่างมักง่าย หยิบสิ่งที่คุยกันมากระจายต่อ หรือลอกมาโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ขณะที่ประเทศยังตกอยู่ในห้วงความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมีการแบ่งขั้วและเลือกข้าง ทำงานไม่เป็นมืออาชีพ ความสนใจบนไม้บรรทัดหรืออุดมการณ์ไม่เหมือนกัน
สื่อที่กำลังจะหายไปคือ สื่อที่ยังพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและไม่บิดเบือน บางสื่อคิดว่าตัวเองควรมีบทบาทผลักดันข้างที่ตัวเองเลือก ปลุกระดมให้เกิดการเกลียดชัง หวังได้คะแนนนิยมจากคนที่เป็นฐานเสียง จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหรือเครื่องมือทางการเมืองในการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่ารายงานข้อเท็จจริง แต่หลายค่ายก็ใช้โอกาสจากสื่อสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนและมีเสน่ห์ โดยเรียบเรียงและประมวลผลข้อมูล ความคิดเห็นต่าง ๆ และสะท้อนออกมาเป็นเนื้อข่าว ทั้งนี้ ตนมองว่าการเสพสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างความเท่าเทียมทางข้อมูลให้คนธรรมดาเข้าถึงได้ แต่ธรรมชาติของมนุษย์มักจะเข้าข้างสิ่งที่ตัวเองเชื่อและใช้อารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผล
นายอธิคม คุณาวุฒิ นักเขียน ระบุว่า สื่อปัจจุบันมักให้ความเห็นและใส่น้ำเสียงในข่าวมากกว่าการรายงานข่าวแบบเดิม แต่ในความเป็นจริงเราต้องไม่ลืมว่าสื่อเป็นธุรกิจแขนงหนึ่ง สุดท้ายแล้วองค์กรธุรกิจจะต้องตอบโจทย์เบื้องต้นให้ได้ นั่นคือ ‘ความอยู่รอด’ จึงจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดสื่อจึงมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เรารังเกียจ สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ คือ คลื่นความเปลี่ยนแปลงตลอดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในพื้นที่ของสังคมไทยขึ้นมา 3 ลูกใหญ่ อย่างแรกคือการเปลี่ยนโฉมหน้าของการสื่อสาร การเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองที่เปิดเปลือยให้เห็นว่าแต่ละคนมีจุดยืนและความคิดอ่านเช่นไร ซึ่งนำมาสู่คลื่นที่สำคัญที่สุดคือ สังคมไทยไม่ได้มีพื้นความคิดอ่านที่เป็นหลักการแม้แต่น้อย หากแต่ถกเถียงกันภายใต้ความเชื่อ ความศรัทธา ก่อให้คนทำสื่ออย่างเราทำงานยากลำบากมากขึ้น และต้องระมัดระวังท่วงทำนองท่าทีในการสื่อสารเพื่อรักษาคนฟังคนดูให้ยังอยู่กับเราจน ไม่กลายเป็นสื่อสุดขั้วจนไม่มีใครฟัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้สื่อล้าหลังมากเพราะไม่มีหลักคิด จุดยืน หรือใช้ความรู้ ความคิดเดิมในการอธิบายความขัดแย้ง แต่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขควรอยู่บนหลักความเสมอภาค การเคารพผู้อื่น
“ผมมองว่าสื่อเป็นผลผลิตทางสังคม ยกตัวอย่างเช่นการรายงานข่าวถ้ำหลวง ประเด็นที่คนพูดถึงกันน้อยท่ามกลางความพยายามในการทำงานของสื่อรุ่นใหม่และสื่อดิจิทัลจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติระดับชาติ ความต้องการแรกคือ ความน่าเชื่อถือ เราจึงตรวจสอบจากสถานีข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะต้นทุนที่สำคัญที่สุดของสื่อ คือ “ความน่าเชื่อถือ” คนในสังคมให้บทเรียนในนาทีที่คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ ทำให้สื่อต้องปรับตัวและสร้างมาตรฐาน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ขนาดของทุน ส่งผลต่อการนำคนและเครื่องมือไปรายงานข่าว พื้นที่สื่อจึงมีทั้งความแตกต่างและเหลื่อมซ้อนกัน”
ขณะที่ นายเอียน แฮดดาว จากสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่าสิ่งที่บีบีซีเน้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ เสรีภาพในการพูด เพราะสิ่งที่จะตามมาคือการเชื่อมั่นในข้อมูลที่พูดมา ดังนั้นการมีเสรีภาพและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ได้ยินและกลั่นกรองจะกลายเป็นความจริง ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 40 ภาษา และอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ประเทศแถบเอเชียมีเสรีภาพด้านสื่อค่อนข้างดี แต่บีบีซีก็ถูกโจมตีว่าอ่อนไหวทางวัฒนธรรม บีบีซีพยายามยึดมั่นในการเสนอข่าวที่เป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง ใช้เทคโนโลยีในการทำงานตรวจสอบข้อมูลในทุกวันให้เกิด ‘ความโปร่งใส’ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ เอื้อให้สามารถเข้าใจ ตั้งคำถามได้ ให้คำอธิบายที่สามารถตีความได้