อำนาจสื่ออยู่ในมือแพลตฟอร์ม นักวิชาการชี้เฟซบุ๊กได้เปรียบสื่อไทย จ่ายภาษีน้อยมาก
เวที Media Forum ชี้สิทธิพลเมืองดิจิทัล : อำนาจสื่อในมือใคร เห็นตรงกันอำนาจสื่อไม่ได้อยู่ในมือประชาชน มูลนิธิผู้บริโภคลั่นหากมีอำนาจจริงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมได้ แต่วันนี้ไม่ใช่ ขณะที่กสทช.ชี้ประเทศต้องมีการเลือกตั้งก่อน ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุเหตุรัฐปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูล ทำต้นทุนสื่อพุ่ง-กำไรหด
วันที่ 7 กันยายน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที Media Forum ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “สิทธิพลเมืองดิจิทัล : อำนาจสื่อในมือใคร” ณ ห้องประชุมชั้น 5 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการเข้าร่วม
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. กล่าวถึงอำนาจสื่อในมือใคร วันนี้อำนาจสื่ออยู่ในอำนาจของแพลตฟอร์ม (Platform) แย่งไป ทั้งสามารถควบคุมผู้บริโภคได้ อยากรู้ข่าวอะไรป้อนได้เลย ทำให้คนติดเนื่องจากตรงกับจริตของผู้บริโภค นี่คืออำนาจของแพลตฟอร์มที่ทำให้อำนาจตัวกลางเปลี่ยนไป ขณะที่อำนาจการกำกับดูแลของรัฐก็ไม่ค่อยมีทิศทาง จะมีอำนาจปิดกั้นในกรณีข่าวที่อ่อนไหวเท่านั้น ฉะนั้น ทำอย่างไรให้อำนาจสื่ออยู่ในมือประชาชน ต้องให้อำนาจในการเข้าถึง อำนาจในการใช้วิจารณญาณกลั่นกรอง โดยในอดีตในบรรณาธิการคอยกลั่นกรองให้ แต่วันนี้ตัวกลางได้เปลี่ยนไปแล้ว
“ผมยืนยันสื่อมวลชนอาชีพมีความจำเป็น คำว่า Fact Check คือตรวจสอบกับสำนักข่าวที่เป็นธรรมและเป็นกลางก่อน ผมยังเชื่อว่า อำนาจสื่ออยู่ในมือประชาชนได้ จำเป็นต้องมีสื่อมวลชนที่เป็นวิชาชีพอยู่ ไม่มีเลยเป็นไปไม่ได้ และต้องแก้ปัญหาเรื่องการพึ่งพิงทุนด้วย หรือพึ่งทุนสีเทามากนัก เราต้องช่วยกันออกแบบใหม่” นพ.ประวิทย์ กล่าว และเชื่อว่า การที่จะทำให้อำนาจสื่ออยู่ในมือประชาชนประเทศต้องมีการเลือกตั้งเท่านั้น
ขณะที่นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสื่อในโลกปัจจุบัน อำนาจทุนยังมีอำนาจอันดับที่ 1 รองลงมาอำนาจรัฐ และอำนาจสื่อเอง ตามลำดับ ขณะที่ผู้บริโภคจะมีอำนาจประเภทข่าวบันเทิง ซึ่งจะเห็นว่า สื่อมักจะเล่นตามคนสนใจเรื่องอะไร แสดงว่าผู้บริโภคมีปากมีเสียงบังคับให้สื่อเล่นตามได้
นายธิปไตร ได้ยกตัวอย่างสื่อหนังสือพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศส 4 หัวใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากสุดนั้น ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นเศรษฐีระดับต้น ๆ ของประเทศ สื่อจึงเหมือนของเล่นของเศรษฐีที่จะเข้าไปซื้อ ดังนั้นโมเดลของฝรั่งเศสทำให้รัฐพยายามเข้ามาแทรกแซงความเป็นเสรีภาพของสื่อมากขึ้น มิใช่โมเดลทุนนิยมสุดโต่ง
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการเข้าถึงทรัพยากรงบประมาณของภาครัฐ หากตลาดมีการแข่งขันที่เป็นธรรม ดูที่คุณภาพสื่อ ไม่มีเส้นใหญ่ หรือผูกขาดเชื่อว่า เม็ดเงินตรงนี้จะทำให้สื่อเอกชน สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อท้องถิ่นอยู่ได้ ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ เช่น การนำเสนอในข่าวเชิงติดตามนโยบายภาครัฐ พบว่า สื่อจะมีต้นทุนมากขึ้นเพราะเข้าถึงข้อมูลภาครัฐยาก โดยภาครัฐพยายามจะสร้างกำแพงบางอย่างทำให้ต้นทุนตรงนี้สูงขึ้น
“หากสื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย การทำงานก็จะง่าย ต้นทุนของสื่อก็จะถูกลง การทำสื่อในเชิงธุรกิจก็จะมีกำไร”
นายธิปไตร ยังกล่าวถึงบทบาทของเฟซบุ๊ก มีประโยชน์ ทำให้คนสามารถเข้าถึงสื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือกได้มากขึ้น เกิดสื่อกระแสทางเลือกขึ้นมามากขึ้น แต่เฟซบุ๊กก็มีกลไกที่รัฐไทยเองตามไม่ทันด้วย ซึ่งทำให้เฟซบุ๊กได้เปรียบสื่อไทย โดยเฉพาะเรื่องภาษี
“เฟซบุ๊กได้ค่าโฆษณา แต่เสียภาษีให้รัฐไทยน้อยมาก ฉะนั้นมองในเชิงการตลาดธุรกิจสื่อไทยเสียเปรียบเฟซบุ๊ก เพราะภาษีมากกว่าซึ่งเราต้องเริ่มคิด”นายธิปไตร กล่าว และว่า หลายธุรกิจมีการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย สามารถถือหุ้นในบางธุรกิจได้ 100% แต่ธุรกิจสื่อ ห้ามให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 50% ฉะนั้น หากเราอยากให้สื่อเอกชนเล็ก ๆ น้อยๆ มีเงินเพิ่มทุน การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจสื่อในประเทศไทย ถือหุ้นได้มากกว่านี้ ให้เขาเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่เราน่าจะเริ่มคิดได้แล้ว
สำหรับประเด็นเฟสบุ๊ค นายพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า วันนี้เฟซบุ๊กต้องยอมรับตัวเองเป็นทั้งแพลตฟอร์มและเป็นสื่อ (Publisher) ด้วย ซึ่งในฐานะ Publisher จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการตรวจสอบควบคุมข้อมูล ที่คนใช้เฟซบุ๊ก ทั้งเรื่อง Hate Speech ข่าวลวง พร้อมกันนี้ได้ตั้งคำถาม ข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลปัจจุบันนี้ ถูกต้อง และเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
ส่วนนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้อำนาจสื่อไม่ได้อยู่ในมือผู้บริโภค แต่อยู่ในมือทุน หากอำนาจสื่ออยู่ในมือผู้บริโภคจริงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยยกตัวอย่างการต่อสู้เรียกร้องเรื่องอันตรายสารเคมี 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส ที่คนก็รู้มีอันตรายมากนั้น ก็น่าจะห้ามใช้ในประเทศไทยได้ หรือทำสำเร็จได้ในประเทศไทย
“สื่อบ้านเราไม่เคยยอมรับว่าตัวเองเป็นทุนประเภทหนึ่ง เราเชื่อความเป็นวิชาชีพยังอยู่แต่อยู่ภายใต้กำกับของทุน จำเป็นที่สื่อต้องทำให้สังคมเห็นความเป็นวิชาชีพ เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ”
สำหรับนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงผู้บริโภคปัจจุบันพึ่งพาโซเชียลมีเดียมาก และสนใจเฉพาะเนื้อหาข่าวสารที่เป็นข่าวดราม่า ทำให้ทิศทางการทำข่าวของสื่อหลักไปแนวนี้ เพราะต้องการเรตติ้ง ยอดวิว ยอดคลิก สิ่งที่ตามมาคือรายได้ มิเช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้
“ ประเด็นนี้กลายเป็นทางสองแพร่ง เรายังต้องอยู่แบบนี้ ผู้บริโภคสื่อยังเป็นแบบนี้ เราจะมีงบประมาณไปทำข่าวที่มีคุณภาพหรือไม่ หรือทำข่าวเรื่องสำคัญๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้บริโภคที่เป็นพลเมืองดิจิทัล ก็ต้องตัดสินใจตรงนี้เช่นกัน”
ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ นายชวรงค์ กล่าวถึงบทบาทของพลเมืองดิจิทัลในการกำกับดูแลสื่อที่มีมากขึ้น เห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง แต่ก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จว่า อารมณ์สังคม หรืออารมณ์โซเชียลเป็นทิศทางเดียวกับการนำเสนอข่าวของสื่อหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป
“เราพยายามจัดสมดุลความต้องการของพลเมืองดิจิทัลกับการดำรงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพของสื่อ”
นอกจากนี้ ในเวที “สิทธิพลเมืองดิจิทัล : อำนาจสื่อในมือใคร” ยังมีการพูดถึงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ราคาถูกกว่าปัจจุบัน การสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารทางสังคม หรืออาสาสมัครภาคพลเมืองเพื่อสร้างกระแสสื่อสารออนไลน์ในทุกประเด็น รวมถึงโมเดลการระดมทุนผ่านระบบ Blockchain ทางเลือกของสื่อที่จะสู้กับเฟซบุ๊ก เป็นต้น