Disrupt then reframe (DTR)...ขอเถิดครับอย่าทำอีกเลย
บ้านเมืองเราวุ่นวายมาก เพราะการทะเลาะเบาะแว้ง เอาอารมณ์มาเหนือเหตุผล แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ใครเห็นต่างจากตนเองถือเป็นคนเลวคนโกงไปหมด หากตั้งสติให้ดี และใช้ปัญญาคิดไตร่ตรองข้อมูลที่ได้มาอย่างรอบด้าน ปัญหาวุ่นวายนั้นจะไม่เกิดขึ้น
แต่ปัจจุบัน ช่องทางสื่อสารนั้นมีมากมาย โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ และอื่นๆ ทำให้ยากนักที่จะมีกลไกควบคุมหรือกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารได้ จึงคงทำได้เพียงเตือนให้มีสติ และใช้ปัญญาส่วนตนลองคิด คิดแล้วคิดอีก ว่ามันเป็นไปได้จริงหรือที่เห็นคนเลวคนโกงเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ยกเว้นคนชงเรื่องหรือคนเต้าเรื่องนั้นๆคิดหน่อยนะครับว่า ยิ่งหากคนชงเรื่องหรือคนเต้าเรื่อง เรียนด้านนึงมาเชิงลึก แต่มาจับเรื่องอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง และฟันธงว่าเรื่องทุกเรื่องนั้นต้องเป็นไปตามที่กล่าวไว้ ไอ้ที่คนอื่นๆ ทำเอาไว้นั้นเลวร้ายไปหมด ต้องปฏิรูปทุกหัวระแหง เพราะคนที่อยู่เดิมนั้นมีสายสัมพันธ์เชิงประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคำที่ใช้บ่อยๆ คือ มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ที่ผ่านมา สังคมปั่นป่วนซวนเซหลายเรื่องเหลือเกิน ทั้งเรื่องสารเคมีในการเกษตร กฎหมายหยูกยา ระบบประกันสุขภาพ การเมือง ฯลฯ โดยหากไล่ทบทวนดูดีๆ จะพบว่า ความปั่นป่วนนั้นมักได้รับอิทธิพลมาจากการใช้วิธีเดียวกันทั้งสิ้นได้แก่ "การทำลายแล้วหาทางครอบครอง" ซึ่งเป็นกลวิธีเชิงจิตวิทยามวลชนอย่างหนึ่งใน 14 อย่างที่ใช้กันบ่อยในวงการ xxx
เรียกภาษาเทคนิคว่า Disrupt then reframe (DTR)
ผมมักจะสอนเหล่าน้องๆ นิสิตระดับต่างๆ ว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีเรื่องใดในโลกนี้ที่ดีไปหมดทุกอย่างหรือแย่ไปหมดทุกอย่าง และหากหยิบแต่ละเรื่องมาพินิจพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะพบว่ามีทั้งกลุ่มผู้มีส่วนได้ และกลุ่มผู้มีส่วนเสียเสมอ ลองหยิบเรื่องเล่าใกล้ตัวเรามาดูสักเรื่อง เช่น สารเคมีในการเกษตร หากสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้เกิดแก่ฝ่ายนั้นๆ เสมอ ไม่ว่าจะฝ่ายใช้สารเคมี และฝ่ายที่ไม่เอาสารเคมี
ดังนั้นจึงควรมาใช้สติ และปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่าทำไมต้องมีสารเคมี ถ้าไม่มีเลยจะได้ไหม หากมีเพื่อป้องกันวัชพืชและแมลงไม่ให้มาทำลายพืชผล เพื่อให้พืชผลที่ผลิตนั้นมีเพียงพอต่อความต้องการของประชากรในสังคม ถ้าหากแบนและไม่ใช้มันเลยอีกต่อไป ขณะนี้มีทางเลือกที่จะใช้ทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้กันได้จริงโดยถ้วนทั่ว จริงหรือไม่ ไม่กระทบต่อผลผลิตหรือความมั่นคงทางอาหาร ไม่กระทบต่อกลไกราคาค่าครองชีพทั้งของเกษตรกรและของประชาชนผู้บริโภค หากมีจริง การแบนหรือไม่ใช้สารเคมีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก
แต่หากไม่มีทางเลือกที่ได้รับการพิสูจน์อย่างถ้วนถี่ และทางเลือกที่กล่าวอ้างนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ หรือเทคนิคบางอย่าง หรือทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการ ก็จำเป็นต้องศึกษา ตระเตรียม และสร้างกลไกฝึกฝนช่วยเหลือให้แก่คนที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ
และหากทางเลือกที่จะทำนั้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อทั้งเกษตรกร และต่อคนอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหาร เช่น ต้นทุนจะสูงขึ้นร้อยละ 20-35 แล้วเกิดผลเป็นทอดๆ จนราคาอาหารต่างๆ ขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ คำถามที่ต้องเตรียมตอบให้ดีคือ ประชากรเรามีเงินกันพอไหมที่จะซื้อหากินกัน โดยยังมีเงินเหลือพอที่จะเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวในระยะยาว มิฉะนั้นจะกลายเป็นมุ่งสู่การอดตายเพราะไม่มีอะไรกิน ส่วนอาหารที่อ้างว่ามีคุณภาพสูงส่งนั้นกลับเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่มคนที่มีเงิน และกลายเป็นแนวทางที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มากขึ้นในอนาคต
ในขณะเดียวกัน ต้องวิเคราะห์มุมกลับเช่นกันว่า การสร้างกระแสสุดโต่งนั้น กลายเป็นแนวทางชงให้เกิดประโยชน์ต่างขั้วหรือไม่ ประเภทที่ทำลายแล้วมาครอบครองนั้นมีบทเรียนในอดีตมากมายให้เราได้เรียนรู้
ดังนั้นรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลประชาชนทุกคนในสังคมจึงต้องไม่หูเบา ฟังความอย่างรอบด้าน ดูข้อมูลทุกมิติ ช่างซักช่างถามโดยไม่ต้องเกรงใจในตำแหน่งหน้าที่หรือเส้นสาย หากข้อมูลยังไม่รอบด้านและไม่ชัดเจนในแง่ใด ก็ต้องไปศึกษาจนกระจ่างก่อนมาสร้างนโยบายสาธารณะ
มิใช่เล่นเกมส์ไปตามกระแสสังคมที่คุกรุ่นด้วยอารมณ์และท่าทีที่ก้าวร้าว เรียกร้องให้ทุบโต๊ะฟันธง และใช้วิธี DTR มาทำให้คนอื่นกลายเป็นคนไม่ดี ทั้งๆ ที่ข้อมูลไม่รอบด้านหรือลุ่มลึกเพียงพอ ประเภทกูเก่งคนเดียว รู้ทุกเรื่องถูกทุกเรื่อง แบบนี้คงไม่ใช่ผู้เล่นที่เหมาะสมในการมาทำงานด้านสังคม เพราะสังคมนั้นประกอบด้วยคนที่หลายหลาย และต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์มาช่วยกันพัฒนา จึงต้องการคนที่ทำงานเป็น มิใช่คนที่"เก่งในตำรา"อย่างเดียว
การบริหารจัดการรัฐแบบบนลงล่างนั้นมีข้อดีในแง่การสั่งการเป็นขั้นเป็นตอน และดั้งเดิมแล้วจะมีการจัดการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน แม้จะเทอะทะและใช้เวลายาวนานกว่าจะผ่านกระบวนการแต่ละขั้น แต่จุดอ่อนที่ต้องพึงระวังอย่างยิ่งคือ การบริหารโดยพึ่งพากลุ่มเทคโนแคร็ตที่หัวรุนแรงหรือหวังใช้ประโยชน์จากรูปแบบการบริหารนี้
เรื่องสารเคมีในการเกษตรนั้น หากติดตามข่าวใกล้ชิด ล่าสุดดูเหมือนจะเริ่มเห็นความจริงมากขึ้นในหลายแง่ ทั้งเรื่องทางเลือกที่ยังไม่ได้รับการศึกษาทบทวนอย่างถ้วนถี่หรือเป็นระบบ ตลอดจนความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและ conflict of interest ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจังจากรัฐ ทั้งเรื่องระบบการผลิต ธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงระบบการวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นหากมองประโยชน์ของประชาชนในสังคมเป็นหลัก เราจึงควรรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการกล่าวหาว่าร้ายกัน และควรพยายามเลี่ยงการใช้แนวทางทำลายเพื่อครอบครอง เพราะมักเป็นแนวทางที่สร้างรอยแผลในใจให้แก่คนในสังคม แม้สุดท้ายแล้วผลของการสู้รบจะเกิดประโยชน์หรือไม่ก็ตาม
การพัฒนากลไกสาธารณะเพื่อถกแถลงปัญหาสาธารณะกันอย่างสร้างสรรค์ของทุกภาคส่วนในสังคม ภายใต้สายตาของคนในสังคม อย่างต่อเนื่องและเป็นกิจวัตร ย่อมจะนำมาซึ่งนโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนาของสังคม
ทำงานเพื่อสังคมที่ดีขึ้น...ต้องทำด้วยจิตใจที่หวังดีต่อกันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเป็นอันดับแรก
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.amarinbabyandkids.com