10 ปีอุ้มฆ่ากว่าครึ่งร้อย! ใต้หนักสุด 33 ราย จี้ออกกฎหมายเอาผิดผู้บังคับบัญชา
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (เจพีเอฟ) เปิดตัวรายงาน "ผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยในรอบทศวรรษ" เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ค.2555 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสสัปดาห์ระลึกถึงผู้สูญหายสากล
โอกาสนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และภรรยาของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งเป็นเหยื่อถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2547 ได้นำเสนอรายงานในหัวข้อ "สถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทย"
นางอังคณา กล่าวว่า ได้ศึกษากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบรูปแบบนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหานี้ ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องเป็นลำดับมา กล่าวคือ ประชาชนบางกลุ่มตกเป็นเป้าถาวรของการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มฆ่า-อุ้มหาย) มีรูปแบบวิธีการที่ใช้เพื่อทำให้บุคคลสูญหาย และยังมีการละเมิดเพิ่มเติมกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลทุกชุดก็ล้มเหลวในเรื่องการเยียวยาทั้งโดยกระบวนการรยุติธรรมหรือกระบวนการอื่นนอกเหนือจากนั้น
10 ปี อุ้ม 59 รายกระจายทั่วประเทศ
สำหรับข้อมูลการบังคับบุคคลให้สูญหายในช่วง 1 ทศวรรษ ระหว่างปี 2545-2554 ทางมูลนิธิฯเก็บรวบรวมได้ 40 กรณี จำนวน 59 คน โดยบางกรณีมีผู้สูญหายมากกว่า 1 คน และมากที่สุดถึง 4 คนในคราวเดียว
จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาทำให้พบว่า ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายมักเป็นผู้ชายที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในสังคมไทย อย่างเช่น ชาวมลายูมุสลิม หรือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยข้อมูลเชิงสถิติชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 94 ของผู้สูญหายเป็นชาย และร้อยละ 86 เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์
นอกจากนั้นยังพบว่า ปัญหาการสูญหายของบุคคลเกิดขึ้นทุกภาคของประเทศไทย แบ่งเป็น ภาคเหนือ 12 คน ภาคตะวันตก 5 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 คน ภาคใต้ 33 คน และกรุงเทพมหานคร 2 คน
นโยบาย"ปราบยา-ไฟใต้"ทำอุ้มฆ่าพุ่ง
นางอังคณา กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐอย่างน้อย 2 ประการที่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย คือ
1.การต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยกำลังทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนถึงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายร้อยละ 55 ของผู้เสียหายทั้งหมด
นอกจากนั้น จำนวนของผู้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2547, 2548 และ 2550 ซึ่งเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนนโยบาย (ปี 2548 เป็นปีที่ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนปี 2550 เป็นช่วงหลังการรัฐประหาร)
2.นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2546 ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องยาวนานต่อการบังคับบุคคลให้สญหายและการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม แม้การประกาศใช้นโยบายจะยุติลงแล้วก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวได้ก่ออคติให้เกิดกับกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการค้าหรือเสพยาเสพติด
4 กลุ่มเสี่ยงถูกอุ้ม
นางอังคณา กล่าวอีกว่า จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า มีกลุ่มบุคคลอย่างน้อย 4 กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย คือ
1.กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง หรือมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมนอกกฎหมาย เช่น ค้าหรือเสพยาเสพติด ค้าหวยเถื่อน หรือเป็นสายข่าวให้กับเจ้าหน้าที่เอง โดยจากการศึกษาพบว่าในบรรดาผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายมีร้อยละ 25 ที่ผู้เสียหายมักมีความสัมพันธ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ก่อนหายตัวไป
2.นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน การเมือง หรือต่อต้านการทุจริต รวมไปถึงนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
3.ประจักษ์พยานในคดีอาชญากรรมหรือคดีละเมิดสิทธิมนุษยชน
4.คนต่างด้าวที่ไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย
3 รูปแบบ"อุ้ม"ยอดฮิต
สำหรับวิธีการที่ทำให้บุคคลสูญหาย มีรูปแบบสำคัญ 3 ประการ คือ
1.เจ้าหน้าที่ซึ่งบางครั้งใส่เครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบจับกุมผู้เสียหายจากกลางถนน และบังคับให้เข้าไปในรถยนต์แล้วขับหลบหนี ซึ่งมักเกิดขึ้นในสถานที่ที่ไม่ใช่ละแวกบ้านหรือที่ทำงานของผู้เสียหาย และมีประจักษ์พยานพบเห็น วิธีนี้แพร่หลายมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68 ของผู้เสียหายทั้งหมด
2.การจับกุมผู้เสียหายจากบ้านหรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ที่ผู้เสียหายไปเป็นประจำ โดยเป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ กลุ่มนี้มีสัดส่วนร้อยละ 22 ของผู้สูญหายทั้งหมด
3.การเชิญตัวผู้เสียหายไปพบเจ้าหน้าที่ในสถานที่บางแห่ง หรือนัดเจออย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มนี้มีสัดส่วนร้อยละ 12
"มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายมักเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วย เช่น การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ไม่มีประวัติการลงโทษผู้กระทำผิดที่บังคับให้บุคคลสูญหายอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่กระทำส่วนใหญ่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น หรือเกี่ยวพันกับอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้เหยื่อหรือญาติของเหยื่อยังคงต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกับผู้กระทำความผิด จึงมักไม่กล้าให้ข้อมูลหรือฟ้องร้องดำเนินคดี" นางอังคณา กล่าว
ชายแดนใต้ 33 ราย – ยะลาหนักสุด
น.ส.ประทับจิต นีละไพจิตร หนึ่งในคณะผู้ศึกษาวิจัย กล่าวว่า กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเก็บข้อมูลมาได้ 22 กรณี 33 คน พบข้อสังเกตคือ เหยื่อทั้งหมดเป็นชาวมลายูมุสลิม และการบังคับสูญหายเกิดขึ้นใน จ.ยะลา มากที่สุด คือ 16 คน โดยเฉพาะที่ อ.บันนังสตา นอกจากนั้น 11 คนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดใน จ.นราธิวาส และ 6 คนที่ จ.ปัตตานี
จากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า ผู้เสียหายเฉพาะกรณีภาคใต้ ร้อยละ 54 เป็นการลักพาตัว ร้อยละ 33 เป็นการจับกุมไปจากบ้าน ที่ทำงาน หรือมัสยิด และร้อยละ 13 หายไประหว่างเดินทางไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยการใช้วิธีบังคับบุคคลให้สูญหายในพื้นที่เป็นการใช้อย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่เหวี่ยงแห เพราะจากการสอบปากคำพยานหรือคนในครอบครัว พบว่าบุคคลที่ไปจับกุมตัวเรียกชื่อเล่นของเหยื่อ หรือชื่อที่คนในชุมชนใช้เรียกเหยื่อ
แนะเพิ่มกฎหมาย-ตั้งกรรมการอิสระ
รายงานเรื่อง "ผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยในรอบทศวรรษ" ยังได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยด้วยว่า รัฐบาลควรให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance)และควรกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา (เป็นฐานความผิดเฉพาะ) มีกลไกสืบสวนสอบสวนที่เหมาะสม โดยให้น้ำหนักไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับผู้ชำนาญการณ์ด้านนิติเวชที่เป็นอิสระ รวมทั้งประกันสิทธิอย่างเต็มที่ให้กับผู้เสียหายและญาติ โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
นอกจากนั้น หากมีความจำเป็นก็ควรจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระสำหรับปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เป็นการเฉพาะด้วย ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดกลไกการชดเชยเยียวยาไปพร้อมกันด้วย
เสนอเอาผิดถึง"ผู้บังคับบัญชา"
ด้าน ผศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่วิจารณ์รายงานผลการศึกษาเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลควรเร่งกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นฐานความผิดเฉพาะในประมวลกฎหมายอาญา ภายหลังได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาฯไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีผลบังคับ เพราะยังไม่ได้บัญญัติหรือปรับปรุงกฎหมายภายใน จึงยังไม่สามารถให้สัตยาบันได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดบังคับบุคคลให้สูญหายจะถูกดำเนินคดีฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง หรือทำให้สูญเสียอิสรภาพ ซึ่งมีโทษสถานเบา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาทเท่านั้น ซึ่งอาจเข้าข่ายได้รับการรอลงอาญา
อย่างไรก็ดี เห็นว่าหากเป็นไปได้น่าจะผลักดันให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระได้ และจะต้องบัญญัติความผิดฐานพิเศษต่อผู้บังคับบัญชาที่รับทราบการกระทำผิดบังคับบุคคลให้สูญหายของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เพิกเฉยปล่อยให้ดำเนินการ หรือไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ปกเอกสารรายงาน "การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย" จัดทำโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ