เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองฯ จี้ รบ.คลอดยุทธศาสตร์ ‘ค้าแผงลอย’ ยึดหลักสร้างเมืองทั่วถึง
เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองฯ เรียกร้องรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ ‘ค้าแผงลอย’ ชัดเจน ภายใต้หลักสร้างเมืองทั่วถึง ระยะเฉพาะหน้า จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ค้าที่มีโอกาสน้อยก่อน หนุนรวมกลุ่ม มอบหมายหน่วยงานเหมาะสมดูแล
วันที่ 5 ก.ย. 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน จัดประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง แผงลอยกับเมือง:การจัดการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีแถลงการณ์เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้กำหนดยุทธศาสตร์การค้าแผงลอยที่กำหนดสถานะของการค้าแผงลอยในด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และผู้ประกอบการ โดยอาจศึกษาการจัดการการค้าแผงลอยในบางประเทศและนำมาปรับใช้ในบริบทประเทศไทย หากมีการทำความเข้าใจอย่างชัดเจนต่อการจัดการเชิงบูรณาการที่ครอบคลุมทั้งการใช้พื้นที่ คุณลักษณะของผู้ค้า การเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลไกที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการ โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในลักษณะ phasing เช่น แผนระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5-10 ปี
นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์การค้าแผงลอยควรให้ความสำคัญต่อการสร้างเมืองอย่างทั่วถึงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ส่วนในระยะเฉพาะหน้า ควรศึกษาสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้ค้าที่ยังมีอยู่ เพื่อการตัดสินใจจัดสรรพื้นที่ ผู้ค้าที่มีโอกาสน้อยสมควรได้รับการสนับสนุนมากกว่า พร้อมกับการสนับสนุนให้ผู้ค้ารวมกลุ่ม และมีผู้แทนที่ชัดเจน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าในการบริหารจัดการบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม จัดตั้งหรือมอบหมายหน่วยงานที่เหมาะสมทำหน้าที่ดูแลการค้าแผงลอยแบบองค์รวมและบูรณาการ มีแนวคิดให้ความสำคัญกับการพัฒนาแผงลอยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดระเบียบ โดยคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สุดท้าย ควรพิจารณาความคุ้มค่าและประโยชน์ที่รัฐบาลและชุมชนพึงได้รับทั้งในเรื่องภาษีและค่าธรรมเนียมจากการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ค้าแผงลอย
รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประเด็น หาบเร่ แผงลอย มีอะไรมากกว่าเรื่องทางเท้า อุปสรรคการสัญจร ไม่ทันสมัย แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงาน อาชีพ การมีรายได้ ดังนั้นเมื่อมองในมุมเหล่านี้เชื่อว่า จะช่วยลดภาระของภาครัฐและความสุ่มเสี่ยงทางสังคม ขณะเดียวกัน เกี่ยวข้องกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ คนสูงอายุมีอาชีพและที่ยืนในสังคม
ทั้งนี้ การตั้งหาบเร่แผงลอย มีทั้งประโยชน์ ผลกระทบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก รวมถึงมือที่มองไม่เห็น เข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบกับที่ผ่านมานโยบายในระดับรัฐกับท้องถิ่นย้อนแย้งกัน รัฐบาลสนใจเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ท้องถิ่นกลับไม่สนใจการแก้ไขปัญหา จึงเป็นอีกหนึ่งช่องว่างทางนโยบาย และนโยบายไม่ถูกนำไปปฏิบัติ
ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เครือข่ายต้องรวมตัวกันให้ชัดเจนผลักดันมาตรการสอดส่องกันเอง เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่า จัดการกันเองได้ ถ้ายังมีคนฝ่าฝืนตั้งแผงลอยกีดขวางทางเท้าจะต้องจัดการ เชื่อว่า วิธีนี้จะสามารถกลับมาตั้งแผงลอย หาบเร่ ได้ ซึ่งจะต้องเริ่มพูดคุยกันแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันหรือรับฟังระหว่างกัน ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการยินดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแล เพื่อการันตีกับสังคมให้เกิดความเชื่อมั่น และหวังว่าโดยนิยามของนักวิชาการจะมีความเป็นกลาง คำนึงถึงทุกภาคส่วน ไม่ได้เข้าข้างเฉพาะผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวทียังได้มีการยกตัวอย่างการจัดการในบางพื้นที่ของบางประเทศ เช่น อินเดีย มีกฎหมายการประกอบอาชีพการค้าข้างทาง Street Vendors Bill 2014 (The Street Vendors (Protection of Livelihood and Regulation of Street Vending Act), 2014 กฎหมายยอมรับว่า การค้าข้างทางเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ขายและผู้บริโภค มีการศึกษาผู้ค้าอย่างรอบด้าน ขณะที่เวียดนาม มีการบริหารจัดการตลาดชั่วคราวที่มีผู้ค้าเพิ่ม มีการวางแผนอย่างระมัดระวัง ตั้งแต่การหารือกับประชาชนและผู้นำชุมชน รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการการค้า ข้างทาง ราคาย่อมเยากว่าที่ขายในซุปเปอร์มาเก็ต รวมถึงสิงคโปร์ เปลี่ยนแปลงจากการไล่รื้อ เป็นยอมรับ สร้างการมีส่วนร่วม และพัฒนาเป็นธุรกิจ โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญ .