นักวิชาการทีดีอาร์ไอ หนุนปรับเพดานจ่ายสมทบประกันสังคม จาก 750 เป็น 1 พันบาท
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ระบุ เพดานฐานเงินเดือน 15,000 บาท ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งกองทุนประกันสังคมเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ชี้หากปรับตามอัตราเงินเฟ้อก็คงเกิน 30,000 บาท ไปมากแล้ว
จากกรณีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาระบุถึงการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท หรือเก็บจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาทนั้น ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่าจะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การจะปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบนั้น จะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกันตนด้วย โดยเฉพาะการปรับเพิ่มแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรมากขึ้นแก่ผู้ประกันตน เช่น ได้เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ เป็นต้น ทั้งนี้หากยังมีความเห็นต่างกันอยู่ หรือยังมีคนรู้สึกว่า เดือดร้อนกับเรื่องนี้ จะยังไม่ดำเนินการหรือยังไม่เสนอรัฐบาล
ในประเด็นดังกล่าว ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โพสต์เฟชบุค โดยระบุว่า " จริงๆ ภาษีประกันสังคมของไทยเป็นภาษีที่ถดถอยอย่างชัดเจนมาตลอด (เรียก "ภาษี" เพราะเป็นเงินที่เรียกเก็บโดยใช้อำนาจรัฐ โดยที่ "ผู้ประกันตน" ไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเหมือนการประกันทั่วไป) เนื่องจากมีเพดานเงินสมทบทำให้อัตราที่จ่ายเมือเทียบกับเงินเดือนลดลงเมื่อเงินเดือนสูงขึ้น การปรับเพดานเงินเดือนสำหรับคำนวณอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท (หรือสูงกว่านั้น เช่น 25,000) เป็นเรื่องที่ควรต้องทำมานานแล้ว และไม่ได้ทำให้ภาระของคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
"เพดานฐานเงินเดือน 15,000 บาทนี้ ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งกองทุนประกันสังคมเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าปรับตามอัตราเงินเฟ้อก็คงเกิน 30,000 บาท ไปมากแล้ว"