ชาวบ้านร้องศาลปกครองยกเลิกค่าปรับโลกร้อน “ยงยุทธ” โบ้ยผู้ว่าฯ ดูแลปัญหาในพื้นที่
ชาวบ้านโดนกรมอุทยานฯฟ้องคดีแพ่งข้อหาทำลายป่า ฟ้องศาลปกครองยกเลิกโมเดลค่าปรับโลกร้อน ร้องนายกฯ ระงับคดี-สานต่อนโยบายโฉนดชุมชนรัฐบาลก่อน “ยงยุทธ” โบ้ยให้ผู้ว่าฯดูแล
วันที่ 28 พ.ค. 55 ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เกษตรกร องค์กรชุมชน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) 23 คนที่ได้รับผลกระทบจากการนำแบบจำลองคดีโลกร้อน ซึ่งนักวิชาการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการฟ้องร้องกับเกษตรกรและชาวบ้านกรณีพื้นที่ทับซ้อนป่าอนุรักษ์ ยื่นศาลปกครองฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองดังกล่าว คิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
จากนั้นเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผ่านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินนโยบายโฉนดชุมชนพร้อมระงับปัญหาคดีโลกร้อน
นางอุลิท วัฒนถิ่นเขาน้อย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ดินทำกิน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ชาวบ้านในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าโค่นต้นยางพาราของชาวบ้านที่รวมตัวตั้งเป็นพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชน ซึ่งยืนยันว่าได้อาศัยในพื้นที่ก่อนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี 37 และมีการประกาศเขตรักษาพันธุ์ฯ ทับซ้อนภายหลัง
“ส่วนหนึ่งจะมีนายทุนต่างจังหวัดเข้าไปโค่นไม้ ชาวบ้านเคยโทรไปแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่กลับได้รับคำตอบว่าให้ชุมชนดูแลกันเอง ชาวบ้านจึงไม่กล้ายุ่งเพราะกลัวอิทธิพล แต่อย่างไรจะขอยืนหยัดเรียกร้องพื้นที่ทำกินของตนที่เคยมีมาแต่เดิม” นางอุลิทกล่าว
ด้านนายเหลือ ซึมดอน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาก ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวบ้านในพื้นที่ถูกดำเนินคดีโลกร้อน 9 ราย ในข้อหาแผ้วถางป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ศาลตัดสินสั่งปรับเป็นเงินไร่ละ 150,000บาท และยังถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ารื้อถอนกระท่อมและตัดโค่นต้นยางพารา พร้อมเรียกค่าเข้ารื้อถอนจากชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรและยากจน
นายสมนึก พุฒนวล เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า แบบจำลองประเมินความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมไม่มีความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน เพราะไม่ผ่านการประเมินจากนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังมีการประเมินค่าเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ฉะนั้นจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66-67
ขณะที่นางสมจิต คงทน จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเครือข่ายเรียกร้องให้นายยงยุทธออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่พิพาท ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนจากรัฐบาลก่อน และชาวบ้านกลับโดนฟ้องคดีโลกร้อน เพื่อให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ช่วยเหลือและระงับการเข้ารื้อถอนพื้นที่ดังกล่าว
โดยรองนายกรัฐมนตรีออกมายืนยันว่ารัฐบาลพร้อมจะสานต่อนโยบายโฉนดชุมชนและจะดูแลชาวบ้านคดีโลกร้อน แต่คงไม่สามารถออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ร้องขอได้ อย่างไรก็ตามจะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ เข้าดูแลเร็วที่สุดและจะนัดตัวแทนชาวบ้านเข้าพูดคุยหาข้อยุติอีกครั้ง
นายยงยุทธยังพูดถึงการอนุมัติงบประมาณ 50,128,000 บาท ของโครงการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 55 เพื่อให้กรมอุทยานฯ เข้าจัดการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่า โดยปฏิเสธว่านายกรัฐมนตรีไม่ใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวกับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ใช้บังคับกับผู้บุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าใหม่เท่านั้น.