สภาพัฒน์ฯ เผยคนตกงานแฝงมากถึง 5 แสนราย หนี้ครัวเรือนพุ่งจากนโยบายรัฐ
เลขาฯสภาพัฒน์ฯ เผยตัวเลขว่างงานแฝงมากขึ้นถึง 5 แสนคน ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่ม 2.5% หนี้ครัวเรือนเพิ่มจากนโยบายรัฐ บ้านหลังแรก รถคันแรก หนี้นอกระบบ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.73% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 285,150 คน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 0.83% โดยเป็นผลจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มทยอยเรียกแรงงานกลับเข้ามาทำงานตั้งแต่ ก.พ.ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่สามารถทำการผลิตได้เต็มที่
เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวอีกว่า แม้จำนวนผู้ว่างงานจะลดลง แต่แรงงานแฝงกลับมีมากขึ้น โดยมีกว่า 557,000 คน เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 29.2% แบ่งเป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการทำงานเพิ่ม 111,755 คน และแรงงานรอฤดูกาล 445,785 คน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 15.1% แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4% นอกจากนี้เริ่มมีแนวโน้มผู้ประกอบการย้ายฐานการลงทุนไปจังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดน หรือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รัฐบาลต้องหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 1/55 เพิ่มขึ้น 1.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.5% เนื่องจากผลของน้ำท่วมในช่วงปลายปีก่อน ทำให้เกษตรกรเลื่อนการปลูกข้าวนาปรังมาเป็นไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 0.5% โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากแรงงานในพื้นที่น้ำท่วมได้ทยอยกลับเข้าสู่โรงงาน โดยข้อมูล ณ 1 พ.ค.55 โรงงานใน 7 นิคมอุตสาหกรรมที่หยุดกิจการชั่วคราวจากน้ำท่วมกลับมาผลิตแล้วบางส่วน และเต็มกำลังการผลิต ราว 615 แห่ง จากทั้งหมด 839 แห่ง หรือคิดเป็น 72%
ด้านนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 55 สัดส่วนของหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 54 ที่มีอยู่ 55.8% ของครัวเรือนทั่วประเทศ หรือประมาณ 134,900 บาทต่อครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้จากผลการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากปี 54 ทั้งนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 นโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก และการแปลงหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ
ขณะเดียวกันยังมีการก่อหนี้รายย่อมเพิ่มขึ้นโดยเห็นได้จากยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต เมื่อสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 10.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.4% ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.7% ขณะที่การให้สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ก็ยังสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากประชาชนต้องกู้เงินมาซ่อมแซมและฟื้นฟูที่อยู่อาศัย รวมทั้งรถยนต์หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะประชาชนส่วนหนึ่งได้ใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดซื้อสิ่งของมากขึ้น