ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน: เบื้องลึก สภาสถาปนิก คัดเลือกผู้ออกแบบอาคารสุวรรณภูมิ หลังที่ 2
"...เรื่องนี้ทางท.อ.ท.ได้ใช้เกณฑ์คุณภาพในการตัดสินอาคารสุวรรณภูมิหลังที่ 2 โดยพิจารณาคะแนนด้านเทคนิก โดยแจ้งว่าจะไม่ใช้ราคาเป็นส่วนประกอบในการตัดสิน เขามีซองราคา แต่จะไม่ใช้ในการตัดสิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิชาการด้านจรรยาบรรณของวิชาชีพสถาปัตยกรรม คือห้ามไม่ให้แข่งราคา และสอดคล้องกับพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัศดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อันเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2561 สภาสถาปนิก ได้จัดแถลงข่าวกรณีการคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังจากที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการผลการคัดเลือกที่ผู้ได้รับการคัดเลือกไม่ใช่ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดด้านเทคนิค
โดย ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว M.L. Chainimit Navarat แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
น่าเสียดายที่สื่อต่างๆขี้เกียจจดถ้อยแถลงของพลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน (จบสถาปัตย์จุฬาพร้อมกับผม) นายกสภาสถาปนิก ในระหว่างการแถลงข่าวสภาสถาปนิกกรณีคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล่าสุด เมื่อ วันที่ 31 สิงหาคม 2561นี้เอง ซึ่งท่านได้กล่าวนำเป็นอันดับแรก เป็นการสื่อสัญญาณที่ชัดเจนไปยังคุณดวงฤทธิ์ และกรรมการชุดเล็กที่เลือกคุณดวงฤทธิ์ให้ชนะการประกวดแบบ
เนื่องจากตามธรรมเนียมของการแถลงข่าวทั่วไป เจ้าภาพจะมีโพยแจกเนื้อข่าวให้นักข่าวโดยไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องรู้ประเด็นอยู่แล้ว เพียงแต่มาเอาโพยไปลอกออกข่าวก็พอ ดังนั้นความท่อนที่ผมแกะมาจากยูทูปนี้ จึงมิได้ถูกเสนอในสื่อหลักทุกสื่อ น่าเสียดายที่สุด
ลองพิจารณาดูครับ
“ ….ในประเด็นที่สภาเพ่งเล็งก็คือ มีการแข่งขันราคาหรือเปล่า ซึ่งข้อบังคับของสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพนั้น มีข้อ 20 ระบุชัดเจน และกระทำมากว่าห้าสิบปีแล้วคือ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่แสวงหางานด้วยการแข่งขันราคากับผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเราพูดในสาธารณะตลอดเวลาว่า ประกวดแบบขอให้เป็นประกวดแบบ อย่าเอาราคามาแข่งกัน มิฉะนั้นจะไม่ใช่การแข่งขันด้านความคิด มันจะเป็นการแข่งขันด้านราคา สิ่งนี้คือ สภาพยายามจะให้การประกวดแบบทุกครั้ง ไม่มีการประกวดราคา
แต่เรื่องนี้ทางท.อ.ท.ได้ใช้เกณฑ์คุณภาพในการตัดสินอาคารสุวรรณภูมิหลังที่ 2 โดยพิจารณาคะแนนด้านเทคนิก โดยแจ้งว่าจะไม่ใช้ราคาเป็นส่วนประกอบในการตัดสิน เขามีซองราคา แต่จะไม่ใช้ในการตัดสิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิชาการด้านจรรยาบรรณของวิชาชีพสถาปัตยกรรม คือห้ามไม่ให้แข่งราคา และสอดคล้องกับพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัศดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อันเป็นพรบ.ฉบับใหม่…..”
นอกจากนี้ ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ยังได้แชร์บทความของตนเอง ที่เคยเขียนไว้ในเรื่อง "สนามบินหนองงูเห่า เริ่องเก่าเล่าอีกครั้ง" ในเฟซบุ๊กของตนเองด้วย
ระบุเนื้อหาว่า
"ประมาณสิบสี่สิบห้าปีที่แล้ว สมาคมสถาปนิกสยามเคยออกโรงทักท้วงการออกแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิตามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เหตุผลที่ทักท้วงมีหลายประการตั้งแต่แบบนี้ไม่ใช่แบบที่ชนะการประกวด คือเข้ามาที่ 2 เหมือนแบบเทอร์มินัล 2 ของผู้ได้รับการคัดเลือกเวลานี้เลย ทั้งคู่ได้งานจากการลดราคาค่าแบบลงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ชนะที่ 1 ถูกเรียกไปต่อค่าแบบเป็นรายแรก แล้วปากกล้าขาสั่นปฏิเสธไปว่าค่าแบบที่เสนอนั้นก็ต่ำมากแล้วคะร้าบ เลยถูกให้ไปนั่งรอฟังผลข้างนอกห้องแล้วเรียกผู้ชนะที่ 2 เข้าไปเจรจาแล้วทำการเสียบแทน
ทว่านั่นอยู่นอกประเด็นที่สมาคมจะทักท้วง แต่เป็นรูปแบบที่นายเฮล มุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกอเมริกันเชื้อสายดัชท์ นำเอาเอกลักษณ์อาคารกระจกกับผ้าของตนเองมาใช้ทั้งดุ้นโดยมิได้ใส่ใจข้อกำหนดใน TOR แม้น้อยว่าอาคารจะต้องมีเอกลักษณ์ไทยเป็นข้อสำคัญ
สถาปัตย์กรรมของนายยาห์นล้วนสร้างในเมืองหนาว การใช้กระจกและวัสดุหลังคารับแสง เพื่อประหยัดไฟฟ้าสำหรับเครื่องทำความร้อนเพื่อปรับอุณหภูมิ และระบบแสงสว่างในตัวอาคาร เป็นความต้องการที่ตรงกันข้ามกับเมืองไทย หลังคาแบนของอาคารทำด้วยกระจกใส ท้าทายทั้งฝนและแดดที่สถาปนิกไทยเห็นว่าบ้าไปแล้ว แม้จะมีบานเกล็ดขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ก็ใช่ว่าจะกันแดดไม่ให้ส่องผ่านได้ทั้งหมด โครงสร้างเสาและคานก็ใหญ่โตเกินความจำเป็น ล้วนจะทำให้ค่าก่อสร้างบานปลายจากงบประมาณที่กำหนดไว้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด
งบประมาณที่ว่านั้น เดิมตั้งไว้สามหมื่นล้านบาทเศษนิดๆ แต่เพียงสามปีนับจากการดำเนินการคัดเลือกผู้ออกแบบจนถึงการส่งแบบก่อสร้าง รัฐบาลปรับงบประมาณให้ใหม่ตามภาวะเงินเฟ้อเป็นสามหมื่นสี่ ครั้นแบบร่างเสร็จ ค่าก่อสร้างที่ผู้ออกแบบเป็นผู้ประเมินออกมาเป็นห้าหมื่นเจ็ดพันล้านบาท ทำเอาทุกฝ่ายถึงกับพูดไม่ออก ถึงตรงนี้สมาคมจึงออกมาแสดงความเห็นว่า ก่อนทำแบบจริงนั้น ควรจะให้ผู้ออกแบบแก้ไขแบบ เพื่อลดสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลออกอย่างไรบ้าง โดยมีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม
ผมอาจจะเอามาเล่าโดยแยกกันจากบทความนี้อีกทีในภายหลัง
ข้อทักท้วงของสมาคมสถาปนิกสยามทำเป็นเอกสารส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรีและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการออกวารสารอาษาฉบับพิเศษ เพิ่มจำนวนพิมพ์ให้มากพอที่จะส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนทุกคน สิ่งที่สมาคมได้กระทำไปได้รับการตอบสนองบ้าง ไม่ยอมรับฟังบ้าง แต่นายเฮลมุต ยาห์นยังยืนกรานปฏิเสธที่จะแก้ไขแบบร่างของเขา
เมื่อแบบจริงเสร็จ ปัญหาค่าก่อสร้างที่บานปลายมโหฬารทำให้รัฐบาลไม่กล้าฟันธง จะหักดิบกับผู้ออกแบบก็เกรงว่าจะต้องเสียเวลาคัดเลือกกันใหม่ เวลานั้นดอนเมืองใกล้กลียุคเต็มที แต่ก็โอ้เอ้ศาลารายสไตล์นายหัวชวนจนเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เมื่อสถานการณ์นิ่งแล้วไม่นาน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ออกมาเล่นเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ สรุปคือ มีการแก้แบบและปรับเปลี่ยนสเป็กกันยกใหญ่ ทั้งอาคารและรันเวย์ ตอนนั้นผมไม่มีเวลาและความสามารถจะไปล้วงลึกในรายละเอียดแล้ว เอาที่ตรงที่เจ้าตัวสรุปเลยก็แล้วกัน
ท่านผู้อ่านอึ้ง-ทึ่ง-งงไหมครับ จากราคากลางที่ผู้ออกแบบทำในตอนนั้น 57,261 บาท ท่านบอกว่าท่านสั่งแก้แบบใหม่ ออกมาเป็น 36,666 ล้านบาท แล้วยังเพิ่มสามารถในการรองรับผู้โดยสารด้วยจาก 35 เป็น 45 ล้านคนต่อปี ไม่แปลกที่คนจะเห็นว่าผู้ที่ทำอย่างนี้ได้ต้องเป็นเป็นเทวดา แต่ท่านไม่ได้แจงว่าทำได้อย่างไร เช่น ตัวใหญ่เลยที่ทำให้ค่าก่อสร้างลดฉวบฮาบคือการตัดพื้นที่หลังคาคลุมที่จะสร้างขึ้นเผื่อการขยายอาคารออกไปให้ได้เกือบเท่าตัวในอนาคต(ตามระบุในTOR) ซึ่งจะกระทำไม่ได้เลยหากจะไม่สร้างหลังคาไว้ล่วงหน้า
นี่คือการตัดอนาคตที่จะขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารของอาคารหลังนี้ และทำให้การท่าฯต้องทำอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ขึ้นมาใหม่เป็นเอกเทศ แทนที่จะเพียงแต่ขยายออกจากอาคารเดิม ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก เพื่ออยู่ไปได้อีกสักทศวรรษ ก่อนที่จะคิดถึงสุวรรณภูมิ 2 สำหรับโลกธุรกิจการบินที่อาจพลิกโฉมในอนาคต
ยามใดที่ผมเดินทางโดยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ แรกๆเห็นทั้งน้ำฝนใหลโจ๊กลงจากหลังคา และแดดที่บางช่วงเวลาส่องตรงลงไปยัง airline counter จนพนักงานตรวจตั๋วสาวๆต้องเอาร่มกันแดดมากางเหมือนรีสอร์ตชายทะเล นี่ทั้งๆที่หลังคาแบนเป็นโต๊ะถูกแก้แบบกลายเป็นหลังจาจั่วเล็กๆมีรางน้ำฝนแล้วก็ยังไม่วาย ในห้องพักผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องก็ได้สัมผัสสภาพที่กลางวันร้อนกลางคืนหนาวยะเยือก กระจกใสกลายเป็นฝ้าอันเกิดจากความชื้นกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำห้องส้วมไม่พอสำหรับผู้โดยสาร ฯลฯ สารพันปัญหานี้แทบทุกท่านอาจจะเคยประสบพบเห็นด้วยตนเองบ้าง
ผมไม่ทราบว่าผู้แก้แบบสนามบินหนองงูเห่าเป็นใครหลังจากนายยาห์นปฏิเสธไม่ยอมแก้แบบ หรือจะให้ผู้รับเหมารับผิดชอบตรงนี้ไป โดยจะทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าก่อสร้างอยู่ในงบประมาณก็แล้วกัน ดังนั้นหลังคาผ้า Membrane 108,000 ตารางเมตร ถึงถูกเปลี่ยนจากTaflon เป็น PTFE (Polytetrafluoroethylene) และที่จะใช้ 3 ชั้น มีฉยวนใยแก้วแซนด์วิชอยู่ตรงกลาง(ราคาประ มาณการตารางเมตรละสามสี่หมืนบาท)เพื่อกันความร้อนและเสียงเครื่องบินจากภายนอก ก็เหลือเพียงชั้นเดียว แค่รายการนี้ก็ลดค่าติดตั้งจากเดิมประมาณสามพันล้านเศษ เหลือเท่าไหร่ไม่เป็นที่เปิดเผย
หลังจากหนองงูเห่าได้ชื่อพระราชทานว่าสนามบินสุวรรณภูมิ การท่าก็แก้ไขปัญหาต่างๆไปมากแล้วด้วยเงินรวมๆกันคงอักโข หลังคากระจกของอาคารผู้โดยสารมีฟิล์มสีดำไปปิดกั้นแสงไม่ให้ส่งทะลุลงมาได้ ดังที่สมาคมเคยเตือนไว้ ส่วนนายเฮลมุต ยาห์น เมื่อเขาผ่านมาเห็นเข้าในตอนหลังๆนี้แล้วเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง คงไม่มีใครมาเล่าสู่กันฟังได้