แกะรอยงานจ้างตกแต่งตึกสนง.ข่าวกรองแห่งชาติปี54 โครงการไหนถูกสตง.จับทุจริต?
"...ณ ปัจจุบันข้อมูลสำคัญที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อกรณีนี้เป็นทางการ คือ งานจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ในช่วงปี 2554 ที่ถูกสตง.ตรวจสอบพบปัญหาทุจริตคือโครงการไหน? ปัจจุบัน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วบ้าง?..."
"เมื่อปรากฏว่าผลการตรวจสอบของสตง.ได้ระบุถึงพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต และได้ระบุชัดเจนถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทําผิดว่าได้แก่ผู้ใด พร้อมทั้งพยานหลักฐานในเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทําผิดแล้ว สํานักข่าวกรองแห่งชาติก็ย่อมมีหน้าที่ต้องดําเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบ ดังกล่าว โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามผลการตรวจสอบของ สตง.ดังกล่าวแล้ว แต่สํานักข่าวกรองแห่งชาติละเลยข้อเท็จจริงนั้นและไม่ดําเนินการทางวินัยตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ก็อาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญาหรือเป็นการช่วยเหลือผู้กระทําความผิดอันอาจเป็นความผิดทางวินัย ซึ่ง สตง. อาจแจ้งให้ สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป"
คือ ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อกรณี คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรณีการดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังได้รับแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ที่ปรากฏพฤติการณ์น่าเชื่อว่ากระทำการทุจริตในโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยยืนยันว่า เมื่อปรากฏผลการตรวจสอบถึงพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต ระบุชัดเจนถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทําผิด พร้องทั้งพยานหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด สํานักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องดําเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก แต่หากไม่ดำเนินการอาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญาหรือเป็นการช่วยเหลือผู้กระทําความผิดอันอาจเป็นความผิดทางวินัย ซึ่ง สตง.อาจแจ้งให้สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติได้
สำหรับกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ถูกสตง.ชี้ว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการดำเนินงานโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ประกอบไปด้วย กลุ่มคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ จำนวน 6 ราย กลุ่มคณะกรรมการประกวดราคาจ้าง 6 ราย และข้าราชการอื่นอีก 2 ราย (อ่านประกอบ : มีหน้าที่เล่นงานวินัย-ไม่ต้องสอบซ้ำ!กฤษฎีกาชี้คดีทุจริตตกแต่งตึกสนง.ข่าวกรองแห่งชาติ)
ณ ปัจจุบันข้อมูลสำคัญที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อกรณีนี้เป็นทางการ คือ งานจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ในช่วงปี 2554 ที่ถูกสตง.ตรวจสอบพบปัญหาทุจริตคือโครงการไหน? ปัจจุบัน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พยายามติดต่อ นายชูเกียรติ มาลินีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนปัจจุบัน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
โดยเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ แจ้งให้ฝากเรื่องไว้แล้วจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ในช่วงปี 2554 นั้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงเดือน ก.ย. 2554 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เคยประกาศผลการคัดเลือกเอกชนรายหนึ่ง เข้ามาเป็นคู่สัญญาผู้เหมางาน โครงการประกวดราคาจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงาน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ วงเงินว่าจ้างตามสัญญา 74,955,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในประกาศผลการประกวดราคาดังกล่าว พบว่า บุคคลที่ปรากฎชื่อในประกาศ คือ นาย ธ. ในฐานะประธานกรรมการประกวดราคา นาง ล. นักวิชาการพัสดุ ที่ลงนามสำเนาถูกต้อง และนำประกาศขึ้นเว็บไซต์ เป็น 2 ใน 14 รายชื่อ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการดำเนินงานโครงการนี้ด้วย
ทั้งนี้ นาย ธ. ปรากฎชื่อในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ และประธานคณะกรรมการประกวดราคาจ้าง
ขณะที่ นาง ล. ปรากฎชื่อเป็น 1 ใน 6 คณะกรรมการประกวดราคาจ้าง
ส่วนโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักข่าวกรองแห่งชาติ วงเงิน 74 ล้านบาทดังกล่าว จะเป็นโครงการเดียวกับที่ถูก สตง. ตรวจสอบพบปัญหาน่าเชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่
คงต้องรอฟังคำชี้แจงเป็นทางการจาก สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง