ช่องทางพิเศษ คือ คอร์รัปชัน?
"...ถ้ามี whistleblower รายอื่น (รายที่ 1 รายที่ 2 รายที่ 3 ฯลฯ ) แม้แต่คนที่ทำงานในองค์กรต่อต้านการทุจริตมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือ บุคคลอ้างสิทธิทำคุณงามความดี ชี้เบาะแสการทุจริตของนักการเมือง ข้าราชการ อ้างความจำเป็นของครอบครัว อยากรับราชการในพื้นที่บ้านเกิด อยากรับราชการใน ป.ป.ท. หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐอื่น จะใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณาเข้ารับราชการหรือไม่? ..."
ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ กรณี whistleblower หรือ คนเป่านกหวีด อดีตนักศึกษาฝึกงานผู้ออกมาร้องเรียนความฉ้อฉลงบประมาณแผ่นดิน เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวก่อนหน้านี้ กระทั่งนำไปสู่การตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดหลายสิบคน อดีตนักศึกษาคนดังกล่าวได้รับการเชิดชู คุณงามความดี และมีความประสงค์อยากทำงานราชการในศูนย์คนไร้ที่พึ่ง พื้นที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านเกิด จ.ขอนแก่น หลังสำเร็จการศึกษา
ขณะที่ กระทรวง พม.ชี้แจงว่าต้องทำตามระเบียบราชการคือสอบเข้าให้ได้ก่อนและตอนนี้ยังไม่มีตำแหน่งว่างในจ.ขอนแก่น กระทั่งล่าสุดผู้มีอำนาจในรัฐบาลจัดการแก้ปัญหาโดยให้เข้ารับราชการในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ใช้ช่องทางเดียวกับนักกีฬาหรือทำชื่อเสียงให้ประเทศ ให้สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และขอพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นเกณฑ์หนึ่งในการเสาะแสวงหาบุคคลบางประเภทเข้ามาทำงานราชการ (อ้างอิงhttps://www.thairath.co.th/content/1365905)
ก่อนอื่นไม่ได้ปฏิเสธในคุณค่าความดีหรือใครก็ตามที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการตรวจสอบคอร์รัปชัน เห็นใจ เป็นกำลังใจที่กล้าออกมาเปิดโปงความฉ้อฉล และสังคมควรช่วยกันเป็นเกราะกำบังมิให้ใครมารังแกในทุกกรณี ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นมากๆ ในเด็กคนรุ่นใหม่ แต่มีข้อคิดเห็นบางประการ
1. ถ้ามี whistleblower รายอื่น (รายที่ 1 รายที่ 2 รายที่ 3 ฯลฯ ) แม้แต่คนที่ทำงานในองค์กรต่อต้านการทุจริตมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือ บุคคลอ้างสิทธิทำคุณงามความดี ชี้เบาะแสการทุจริตของนักการเมือง ข้าราชการ อ้างความจำเป็นของครอบครัว อยากรับราชการในพื้นที่บ้านเกิด อยากรับราชการใน ป.ป.ท. หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐอื่น จะใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณาเข้ารับราชการหรือไม่?
2. กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นราชการ ก.พ.มี ระเบียบ หลักเกณฑ์อยู่แล้ว นอกจากสอบแข่งขันตามขั้นตอนปกติ ยังมีช่องทางอื่น ได้แก่ การคัดเลือกบรรจุ ทายาทของเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ,การคัดเลือกทายาทของข้าราชการพลเรือนสามัญที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือ พิการ จนต้องออกจากราชการ อันเนื่องมาจากการเป็นพลเมืองดีเข้ารับราชการ , การบรรจุบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญสูงเข้ารับราชการ
เห็นว่า กรณีการคัดเลือกบรรจุทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการคัดเลือกทายาทของข้าราชการที่เสียชีวิต นั้นเป็นเรื่องน่าเห็นใจและสมควร หลายหน่วยงานก็ทำอยู่โดยเฉพาะทหาร ตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีบางหน่วยงานยังไม่ใช้ช่องทางนี้ เช่น องค์กรด้านปราบโกงแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ระดับ ผู้อำนวยการเสียชีวิตขณะเดินทางโดยรถบัส 2 ชั้น กลับจากสัมมนาในต่างจังหวัด เป็นข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้ลูกของอดีตเจ้าหน้าที่รายนี้สำเร็จการศึกษา อยากเข้าทำงานเป็นข้าราชการในองค์กรเดิมของบิดา หัวหน้าหน่วยงานยังไม่ได้ตัดสินใจรับบรรจุเข้ารับราชการในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจผู้สูญเสียเหมือนกัน
กรณีการบรรจุบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และความชำนาญสูงเข้ารับราชการ ระเบียบ ก.พ. ระบุไว้ชัดว่า ต้องมีประสบการณ์ เทียบโอนตามอายุงาน และกระบวนการพิจารณาทำในรูปคณะกรรมการ และเป็นเรื่องของ ‘ดุลพินิจ’ (สุ่มเสี่ยงอีก?) จึงไม่แน่ใจว่ากรณีอดีตนักศึกษาฝึกงานรายนี้ใช้ช่องทางไหน?
ช่องทางธรรมชาติ หรือ ช่องทางพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ต้องแยกให้ออกระหว่าง หลักของการทำความดี หลักของการตอบแทนคนทำความดี และหลักของการทำให้ถูกขั้นตอน ติดใจตรงที่ว่าทำไมไม่เดินตามขั้นตอนปกติ สอบให้ได้ ใช้ความสามารถของตัวเองก่อน หากทำแล้ว หรือ สอบเข้าได้แล้ว ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ระบบราชการก็มีกลไกภายในถ่วงดุล ตรวจสอบ และมีกลไกภายนอกจากสังคมช่วยกันดูแล ผู้มีอำนาจคนไหนจะดึงตัวไปช่วยงานก็สามารถทำได้ ในระหว่างที่ยังสอบบรรจุไม่ได้ก็อาจเป็นพนักงาน ลูกจ้างชั่วคราวหน่วยงานในภูมิภาค หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพลาง (ในกรณีไม่อยากเป็นลูกจ้างเอกชน)
อย่าลืมว่า การเข้าเป็นข้าราชการโดยช่องทางพิเศษ (คล้ายๆจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ) กับ เป็นได้เพราะสอบบรรจุเข้าเอง ระดับเดียวกัน เงินเดือนอาจเท่าๆกัน ความภาคภูมิใจ (ศักดิ์ศรี?) ก็ต่างกัน (เป็นคนละเรื่องกับการเปิดโปง) จะถูกบ่อนแซะ ดูแคลนไปเรื่อยๆ จากคนในระบบราชการเองนั่นแหละ
ความจริง ‘ช่องทางพิเศษ’ ดูจะเป็นเรื่องคุ้นชินในระบบราชการ ดังจะเห็นจาก ผู้มีอำนาจ หรือ ข้าราชการระดับสูงบางคนฝากลูกเข้าเป็นพนักงาน รับราชการ ในหน่วยงานที่ตนเองมีอำนาจ หรือไม่ก็ในรัฐวิสาหกิจเกรด A บางแห่ง (ลองสุ่มเปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการระดับสูงบางคนดูได้ ลูก 3 คนเพิ่งจบการศึกษา ทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจใหญ่ 2 แห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นข้อสังเกต)
ในเชิงวิชาการ‘ช่องทางพิเศษ’ มีรากเหง้ามาจากระบบอุปถัมภ์ซึ่งก็เป็นต้นเหตุของปัญหาคอร์รัปชันทั้งปวงในอดีตจนถึงปัจจุบัน ถูกจัดเป็นคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่งเหมือนกับผลประโยชน์ทับซ้อนนั่นแหละ
ยิ่งเป็นข้าราชการในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตให้คุณให้โทษด้วยแล้ว ต้องท่องให้ขึ้นใจ “หากจะจับคนแหกกฎ จงอย่าแหกกฎเสียเอง”
จะบวชเป็นพระ แต่เดินเข้าประตูหลังโบสถ์
ด้วยความเป็นห่วงจริงๆ ครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://www.compiko.info/pages/r/reprisal-definition/