เมื่อ 3 มาตรา ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ บั่นทอนความน่าเชื่อถือ 11 วิชาชีพ
การรับรองหลักสูตรหมายถึงการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งคือการคุ้มครองประชาชนที่ส่งบุตรหลานมาศึกษา เพื่อให้มั่นใจสถาบันอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากล แต่หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้จริง ๆ จะทำให้มาตรฐานวิชาชีพตกต่ำ สภาวิชาชีพมีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เป็นเวลาหลายเดือนที่สมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 องค์กร ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาชี้ 'จุดบกพร่อง' ของร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... โดยเฉพาะประเด็นการห้ามมิให้สภาวิชาชีพเข้าไปมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษานั้น
นั่นหมายถึงการที่จะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยได้
11 สภาวิชาชีพ เกิดขึ้นตามกฎหมายของไทย โดยหลักๆ ก็เพื่อควบคุมการประกอบอาชีพ และออกใบอนุญาต ซึ่งตามหลักสากลการประกอบวิชาชีพที่มีผลกระทบกับสังคมจะต้องได้รับใบอนุญาต แต่เมื่อรัฐบาลชุดนี้ยกร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... เพื่อปฏิรูปการศึกษา นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความฯ ชี้ว่า 11 สภาวิชาชีพ เห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษาของชาติ แต่ด้วยมีบางมาตราในนั้น ได้ก้าวล่วงมาในอำนาจสภาวิชาชีพ ประกอบกับบางมาตราจะกระทบกับสังคม โดยตรงที่สุดคือนักศึกษาที่เข้ามาเรียน และจบออกไปสาขาวิชาชีพนั้นๆ อาจมีปัญหาเรื่องการสอบใบอนุญาต จะเห็นว่า 11 สภาวิชาชีพเกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งหมด เป็นองค์รวมประกอบสัมมาชีพที่ต้องควบคุม
นายทัศไนย กล่าวว่า การที่รัฐบาลยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง กรณีไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปตรวจสอบ ดูแล รับรองหลักสูตรการศึกษาของวิชาชีพนั้นๆ ถามว่า การเข้าไปดูแลหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นการก้าวล่วงหรือไม่ เหตุที่สภาวิชาชีพต่างๆ มีกฎหมายให้อำนาจเข้าไปช่วยเหลือรับรองในมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา อย่าลืมว่า การผลิตบัณฑิตมีเอกชนมีส่วนผลิตด้วย ฉะนั้นการเข้าไปควบคุมดูแลเพื่อเป็นหลักประกันว่า บัณฑิตที่เรียนสาขาวิชาชีพนั้นๆ มีองค์ความรู้พอสอบรับใบอนุญาต
“การสอบรับใบอนุญาต ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์โดยสภาวิชาชีพอย่างเดียว แต่ปฏิบัติตามหลักสากล มีมาตรฐาน มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และได้รับความเชื่อถือในระดับสากล”
สำหรับประเด็นที่สมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เป็นห่วงเป็นพิเศษ ได้แก่
1.สภาวิชาชีพไม่อยากให้นักศึกษาเสียเวลาเรียน จบออกมาแล้วไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้ เพราะไม่ได้เรียนหลักสูตรตามที่สภาวิชาชีพกำหนด หรือหลักสูตรที่เป็นสากล
2.ในกฎหมายนี้เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาประกอบวิชาชีพได้ “ในมาตรา 48 ระบุให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพได้ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา” จากเดิมที่ให้บริการทางด้านวิชาการอย่างเดียว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อสถาบันการศึกษากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพ โดยสมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ ขอให้ตัดคำว่า "วิชาชีพ" ที่ระบุในมาตรา 48 แห่งร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ออกทั้งหมด
3.สภาวิชาชีพผลิตผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้มีมาตรฐานตามหลักสากล เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ หากกฎหมายใหม่บังคับใช้ จะทำให้สภาวิชาชีพอ่อนแอลง
ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวานกิจ นายกทันตแพทยสภา มองว่า บางมาตราในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ....อาจสร้างปัญหาให้กับประเทศ และเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวง รวมถึงกระทบกับสภาวิชาชีพทั้งด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ
ก่อนจะยืนยัน “เราไม่เคยไปก้าวก่าย เราไม่เคยเลือกปฏิบัติ สิ่งที่สภาวิชาชีพทำก็คือ การคุ้มครองผู้บริโภค บุตรหลานประชาชนที่จะเข้ารับการศึกษา”
ฉะนั้น การร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร ในมาตรา 64 65 และ 66 นั้น นายกทันตแพทยสภา อธิบายว่า การรับรองหลักสูตรหมายถึงการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งคือการคุ้มครองประชาชนที่ส่งบุตรหลานศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อให้มั่นใจสถาบันอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากล แต่หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้จริง ๆ จะทำให้มาตรฐานวิชาชีพตกต่ำ สภาวิชาชีพมีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“วันนี้คุณเขียนกฎหมายบอกให้สภาวิชาชีพดูแค่ปลายน้ำ ไปสอบเอา ไม่ต้องมาดูเรื่องมาตรฐาน ผมเห็นว่า ทางด้านการแพทย์ ดูแค่ปลายน้ำทำได้ลำบากมาก เพราะทางการแพทย์มีหัตถการทางการแพทย์มากมาย จำเป็นต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กำหนดสอนหลักสูตรอะไรบ้าง วิชาอะไรบ้าง คุณภาพและสัดส่วนของอาจารย์ก็สำคัญ 1ต่อ 4 การไม่ดูตั้งแต่ต้นเราอาจได้คนไม่มีคุณภาพเล็ดลอดออกไป”
ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล ระบุถึงผลกระทบวงกว้างประชาชนอาจได้รับบริการต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ความเชื่อมั่นจะค่อยๆลดลง อีกหน่อยเราเดินไปหาทันตแพทย์อาจเกิดคำถาม ทันตแพทย์มาจากไหน ทำได้หรือเปล่า
“ทุกวันนี้เมดิคัลฮับของไทยเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ การผลิตแพทย์ ทันตแพทย์ได้มาตรฐานสากล ทุกคนยอมรับในมาตรฐาน ต่อไปหากยังมีบางมาตราในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... จะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่เดิมเรามีมหาวิทยาลัยรัฐผลิตทันตแพทย์ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเอกชนเขามาผลิตเยอะ และยังรอเปิดอีกหลายมหาวิทยาลัย ยิ่งไม่มีการรับรองหลักสูตรจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนอย่างไร เรียนทันตแพทย์ 6 ปีแล้วสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้" นี่คือความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล ให้ข้อมูล และเห็นว่า สภาวิชาชีพจำเป็นต้องเข้าไปดูแลหลักสูตรตั้งแต่ต้น มิเช่นนั้น อีกหน่อยหมอเถื่อนจะเต็มเมือง
ทั้งนี้ นายกทันตแพทยสภา ยังได้แสดงความเป็นห่วงหมอเถื่อนที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัย ตอนนี้ก็เริ่มมีหมอเถื่อนที่จบมาจากต่างประเทศ และสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้ เพราะเรียนต่ำกว่ามาตรฐานของไทย พอสอบไม่ได้ก็ไปเป็นหมอเถื่อน ดังนั้น สิ่งที่สภาวิชาชีพทำมาตลอด คือ ทำตามกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองประชาชนเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน
ขณะที่นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ รองเลขาธิการแพทยสภา ชี้ว่า สภาวิชาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกรรม เป็นการกระทำต่อมนุษย์ การทำงานด้านสาธารณสุขเราทำงานกับชีวิตคน การสถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตออกมาไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร อันตรายจะเกิดกับสาธารณะอย่างแน่นนอน
สำหรับสภาการพยาบาล รศ.ดร. อรพรรณ โตสิงห์ ให้ข้อมูลว่า สภาการพยาบาลมีสมาชิก 2.1 แสนคนทั่วประเทศ มีสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล 86 แห่ง ผลิตพยาบาลได้ปีละ 1.1 หมื่นคน ซึ่งผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล ถึงมีสิทธิ์ลงทะเบียนเข้าสอบใบประกอบวิชาชีพได้
“ปัญหาที่เราเจอ สถาบันที่มีคุณภาพสูงอัตราเด็กสอบได้ 80-100% ขณะที่สถาบันการศึกษาที่เปิดใหม่ พบว่า การสอบใบประกอบวิชาชีพสอบผ่านแค่ 10% เข้ามา 100 คน สอบได้ 2 คน”รศ.ดร. อรพรรณ ให้ข้อมูล และว่า วันนี้ที่สภาวิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร ยังเจอปัญหาแบบนี้ หากร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ....ยังไม่มีการปรับแก้ในมาตรา 64 65 และ 66 ที่สภาวิชาชีพกังวลมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สถาบันการศึกษามีอิสระเปิดรับพยาบาลจำนวนมากได้ ก็จะมีกลุ่มหนึ่งสอบไม่ได้ จากค่าเฉลี่ยสอบได้ 60% ก็จะลดต่ำกว่านี้
รศ.ดร. อรพรรณ เห็นว่า การเรียนพยาบาลภาคปฏิบัติคือการกระทำต่อมนุษย์ หากไม่มีการรับรองหลักสูตร หรือไปดูกลางน้ำ ไม่มีอาจารย์ไปคุมการศึกษาภาคปฏิบัติ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้กับคนไข้ ทั้งการฉีดยา การให้น้ำเกลือ การให้ยารับประทานทางปาก หรือการดูดเสมหะ เป็นต้น หากไม่มีการรับรองคุณภาพ ตรงกลางน้ำ นักศึกษาก็สามารถทำให้ประชาชนเกิดอันตรายได้เช่นกัน
ส่วนดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม ระบุถึงการเรียนการสอนที่ต้องปฏิบัติงานจริงในสภาวะมีคนไข้ การทำหัตถการ หรือการซ้อมมือจริงนั้น คำถามแรกคนสอนรู้งานจริงหรือไม่ และสอนแล้วจะรู้ได้อย่างไรผู้เรียนปฏิบัติงานจริงได้ หากตัดไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปช่วยตรงนี้อาจทำให้การเรียนการสอนอ่อนลงได้
“ในวงการเภสัชที่เราดูแลอยู่ อาจต่างจากของวิชาชีพอื่น คือ เราดูแลตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนจบ โดยเฉพาะคณะที่เปิดใหม่เราแทบไปอุ้มกันเลย เมื่อถึงเวลาสอบก็มีเงื่อนไขว่า สอบผ่าน 25% ได้ แต่เราดูแลต่อ เติมเต็มต่อให้ได้ 50% เป้าสุดท้าย80-90% เราถึงสบายใจ แต่ขั้นตอนเหล่านี้จะถูกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ....ห้ามหมดเลย”
นายกสภาเภสัชกรรม ชี้ว่า นี่คือความเสี่ยงที่การศึกษาจะพลาด อย่าลืมว่า สาขาวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข เขาปั้นเด็กไม่ให้ออก ให้มาช่วยดูแลคน ฉะนั้นชีวิตประชาชนไม่ใช่เครื่องเล่น เราไม่อยากให้เกิดกรณีเภสัชกรให้บริการยากับประชาชนอย่างไม่ปลอดภัย
สอดคล้องกับ ทนพ.สมชาย วิริยะยุทธกร กรรมการสภาเทคนิกการแพทย์ ระบุว่า สภาวิชาชีพเป็นที่รวมของผู้ชำนาญการ ด้านต่างๆ ของวิชาชีพทั้งหลาย ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เป็นสังคมแห่งความร่วมมือ แต่เมื่อมี 3-4 มาตรา ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ....นี้ออกมาจะกระทบอย่างแรง ถามว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียน จบแล้วไม่มีงานทำ ใครจะรับผิดชอบ
“10-20 ปีตั้งแต่เกิดสภาวิชาชีพขึ้นมา ระบบก็เดินไปด้วยดี เราสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ....แต่ขอให้ตัด 3-4 มาตราออกไป จะได้จบ กอดคอกันทำงานแบบเดิม เพื่อประชาชนและประเทศชาติ”
นอกจากนี้ มาตรฐานการประกอบวิชาชีพอีกหลายวิชาชีพยังเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น วิชาชีพสัตวแพทย์ ที่ต้องรับรองสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ โดยสัตวแพทย์ผู้มีใบอนุญาต วันนี้ต่างประเทศยอมรับและเชื่อมั่นในมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ไทย
น.สพ.ดร.ธวัชชัย ศักดิ์ภู่มอร่าม นายกสัตวแพทยสภา แสดงความเป็นห่วง อนาคตของนักศึกษาขึ้นอยู่กับ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... โดยขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวนและพิจารณาให้เหมาะสม
“หากสัตวแพทยสภามิได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อดูแลการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษาแล้ว แน่นอนว่า มาตรฐานความรู้ ความสามารถของผู้เข้ารับการศึกษาจะไม่สามารถพัฒนาไปได้ โดยเฉพาะถ้าสถาบันการศึกษามุ่งผลิตบัณฑิตจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของบัณฑิต และสัตวแพทยสภามิได้ให้การรับรอง อนาคตด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ และสภาวะเศรษฐกิจการส่งออกจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ”
และไม่ต่างจากสภาวิชาชีพบัญชี นายประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่า ที่ผ่านมาสภาวิชาชีพบัญชีฯ ไม่เคยไปก้าวก่ายการทำงานของมหาวิทยาลัย แต่กลับไปสร้างความเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้นักบัญชีเป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยสภาวิชาชีพบัญชีได้นำกฎเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศซึ่งมีขอบเขตของเนื้อหาหลักสูตรทางการบัญชีมาพิจารณารับรองหลักสูตรปริญญา ของสถาบันการศึกษาด้วย เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่จะเข้าสู่วิชาชีพบัญชีและเป็นหลักที่ปฏิบัติกันในระดับสากล โดยจะส่งผลให้นานาชาติให้การยอมรับผู้ประกอบวิชาชีพไทย เมื่อสภาวิชาชีพผลิตผู้ประกอบวิชาชีพออกไปปฏิบัติงาน ผลงานก็ได้รับการยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกัน
“หากมหาวิทยาลัยที่แสวงหาผลกำไร ทำหลักสูตรง่าย สอบง่าย ได้ปริญญาง่ายๆ ก็จะเกิดเรื่องจ่ายครบ จบแน่ เราไม่อยากเห็นแบบนั้น ส่วนผลกระทบกับต่างประเทศ จะเห็นว่า งบการเงิน รายงานทางการเงินมีความสำคัญ มีความสลับซับซ้อน นักบัญชีจึงต้องเก่ง และดี มีการสอนเรื่องจรรยาบรรณ เราพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย วันนี้รายงานงบการเงินของไทย ต่างประเทศเชื่อถือ หากมาตรา 64 65 และ 66 ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... เกิดขึ้น ถือเป็นตัดทอนความร่วมมือกันระหว่างสภาวิชาชีพกับมหาวิทยาลัย ผมเสียดายที่วันนี้เรากำลังแยกกันเดิน เดิมที่เรารักกัน ผลที่สุดความเสียหายไม่ได้เกิดกับสภาวิชาชีพ แต่จะเกิดผลกระทบวงกว้างเรื่องความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพจะถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ ” อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ แสดงความเห็นทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
11 สภาวิชาชีพ แถลงย้ำค้าน 4 มาตราในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ เส้นขนานที่ 38 - หนามยอกอก ของสภาวิชาชีพ ?
สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งตบเท้าพบรมต.ศธ.ชี้จุดบกพร่องร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เสนอความเห็นค้าน ม.56 ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา