UNODC เผยอาชญากรรมไซเบอร์กระทบ ศก.เอเชีย 1.5 แสนล./ปี -หนุนไทยใช้กม.คุมเงินดิจิทัลรุนแรงขึ้น
UNODC เผยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ 6 พันล.ครั้ง/ปี สร้างความเสียหายเศรษฐกิจ 1.5 แสนล. หนุนไทยมี กม.คุมเงินสกุลดิจิทัล ด้าน รมว.ยุติธรรม ชี้ คกก.ไซเบอร์แห่งชาติ ของไทยยังขาดความรู้ ประสบการณ์ ดูแลเซิร์ฟเวอร์
วันที่ 30 ส.ค. 2561 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime:UNODC) จัดสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยและองค์การด้านวิจัยของสหประชาชาติ พบว่า องค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีลักษณะเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ที่จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นสวนหนึ่งในการประกอบอาชญากรรมและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยต้องติดตามให้เท่าทันหรือเร็วกว่าองค์กรอาชญากรรมให้ได้ เพื่อไม่ให้มีการอาศัยเทคโนโลยีไปประกอบอาชญากรรม
“World Economic Forum (WEF) ระบุเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า มีเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมสหประชาชาติ ที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ.2020 ณ ประเทศญี่ปุ่น มีการหยิบยกหัวข้อ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เป็นประเด็นสำคัญด้วย” ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมฯ กล่าว
ขณะที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันแม้จะมีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ยังมีขีดจำกัดเรื่องความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการดูแลเซิร์ฟเวอร์ ดังนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ รวมถึงสร้างเครือข่ายร่วมกัน และเสาะแสวงหาสิ่งที่จะเป็นความเสี่ยง หากเกิดการกระทำผิดทางกฎหมายจะมีมาตรการรองรับอย่างไร
ด้าน Mr.Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก UNODC กล่าวว่า เทคโนโลยีมีส่วนในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคล เราพึ่งพิงอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มหัศจรรย์นี้สร้างผลกระทบที่ดีในด้านเศรษฐกิจ และเป็นโอกาสสร้างนวัตกรรมให้แก่โลกและท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวกลับถูกองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินำสกุลเงินไปใช้เป็นทุนสนับสนุนการทำงานขององค์กรตนเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญต้องป้องกันการนำไปทำกิจกรรมผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้วกว่า 6 พันล้านครั้ง/ปี และสร้างความผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท/ปี ทำให้กลุ่มอาชญากรข้ามชาติมีกำไร 1 แสนล้านบาท เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายและกระทรวงยุติธรรม จึงต้องขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันตระหนักถึงภัยคุกคามของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ พร้อมกันนี้ต้องขัดขวางไม่ให้เกิดอาชญากร และผลักดันให้ไทยมีกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่รุนแรงขึ้น .