ติงป.ป.ช.ทำงานช้า! 'ประมนต์'ยัน ACTเกาะติดคดีใหญ่-ชี้คนรอบข้างอุปสรรคบิ๊กตู่ปราบทุจริต
'ประมนต์' เผย ACT ติดตามตรวจสอบคดีใหญ่ยุคบิ๊กตู่ นาฬิกาหรู 'พล.อ.ประวิตร'-ดาวเทียม 7 พันล. ต่อเนื่อง เชื่อนายกฯ ตั้งใจปราบทุจริต ติดขัดปัญหาคนรอบข้างมีประเด็นไม่โปร่งใสอยู่ ติง ป.ป.ช.ทำงานล่าช้า เชื่อตั้งผู้สังเกตุการณ์ช่วยให้โครงการรัฐโปร่งใส ยกกรณีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้าน ตอกย้ำไทยมีปัญหาประสานความร่วมมือปราบทุจริตกับต่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรารายงาน www.isranews.org รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 ส.ค. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ประเทศไทยหรือ ACT ได้แถลงข่าวผลการดำเนินงานครบรอบ 7 ปี ซึ่งได้มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานได้สอบถามในประเด็นทุจริตต่างๆ
โดยนายประมนต์ สุทธีวงศ์ ประธาน ACT กล่าวถึงประเด็นข้อครหานาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และกรณีข้อครหาการจัดซื้อระบบดาวเทียม THEOS-2 มูลค่า 7,000 ล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กรณีนาฬิกาหรูนั้นทาง ACT ได้มีการทำจดหมายเพื่อทักท้วงการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้เร่งดำเนินการแล้ว ต้องรอดูว่าป.ป.ช.จะดำเนินอย่างไรก่อน
ส่วนกรณีการจัดซื้อดาวเทียมนั้นทางผู้สังเกตุการณ์โครงการนี้จำนวน 5 คนได้ลาออกไป เนื่องจากเป็นการประท้วงเพราะทำข้อสังเกตส่งไปยังผู้ที่รับผิดชอบโครงการและไม่ได้รับการตอบสนองจากกลับมา ทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาขึ้นเพื่อที่จะสรุปข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างผู้สังเกตการณ์โครงการนี้กับผู้ที่ดำเนินการรับผิดชอบในการจัดซื้อว่าเป็นอย่างไร เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ภายในหนึ่งเดือน ว่าจะมีประเด็นเรื่องทุจริตหรือหรือข้อพิรุธในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร
นายประมนต์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเงินกู้ยืมของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ยืมเงิน 300 ล้านบาท จากนายกําพล วิระเทพสุภรณ์ ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ นั้น ทาง ACT นอกจะทำจดหมายทวงถามความคืบหน้าจากทาง ป.ป.ช.แล้ว ก็ยังดำเนินการติดตามในกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องยอมรับว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจ แต่ปรากฏว่ามีความล่าช้าในการดำเนินการเกิดขึ้น
เมื่อถามถึงมุมมองของ ACT ต่อการดำเนินการโครงการใหญ่ๆของรัฐบาลเพื่อจะดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด นายประมนต์ กล่าวว่า ในตอนนี้การให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูในแต่ละโครงการถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้โครงการเกิดความโปร่งใสมากที่สุด โดยคณะกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลในเรื่องเหล่านี้จะกำหนดได้ว่าต้องให้มีผู้สังเกตุการณ์เข้าไปตรวจสอบ ดูแลในโครงการใด โดยเฉพาะในโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นโครงการใหญ่ โครงการที่ประชาชนสนใจ ก็จะมีข้อเสนอว่าต้องให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปสอดส่องในโครงการเหล่านี้ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในตอนนี้ยังขาดบุคคลากรที่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้อยู่
“ผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้ ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินโครงการเกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ ทำให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้น แต่ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ดีกว่านี้ ผมว่าประชาชน เริ่มมีปากมีเสียง เกี่ยวกับเรื่องนั้น อยากจะให้มีการติดตามเรื่องนี้ มีการตั้งสอบถามอะไรต่างๆ ตรงนี้จะเป็นพลังสำคัญ ถ้าสื่อหรือประชาชน ถ้าสามารถจะออกมาพูดว่าเรื่องนี้มันไม่เหมาะสม ตรงนี้ก็จะเป็นข้อกำหนดให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบต้องออกมาติดตามเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง”
เมื่อถามต่อว่าหลังจากการเลือกตั้ง ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะกระทบต่อมาตรการปราบปรามการทุจริตที่อยู่หรือไม่ นายประมนต์กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคต แต่ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ACT ก็ต้องเข้าไปดูว่าการแก้ไขนั้นจะไปกระทบต่อการปราบทุจริตหรือไม่ ถ้ากระทบ ทาง ACT ก็คงต้องออกมาแสดงจุดยืนในสิ่งที่คิดว่าเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามเสียงของประชาชนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่เอาการทุจริต ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ควรจะต้องรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนรัฐบาลนี้นั้นตนเชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความต้องการจะปราบปรามทุจริตเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะติดขัดตรงที่ว่าบุคคลรอบตัวนายกรัฐมนตรียังมีประเด็นในเรื่องความโปร่งใสต่างๆอยู่
เมื่อถามถึงกรณีสินบน 20 ล้านบาท โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช นายประมนต์กล่าวว่า "เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการการปราบทุจริต จนนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดตัวจริงของประเทศไทยนั้นยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเกี่ยวข้องต่างประเทศ ประเทศไทยก็ไม่สามารถจะดำเนินการเป็นฝ่ายรุกได้ ต้องอาศัยทางต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลให้ แต่อย่างไรก็ตามทาง ACT ก็พยายามผลักดันในเรื่องการประสานงานกับต่างประเทศอยู่ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการทำข้อตกลงกับทาง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP และธนาคารโลกหรือ World Bank ว่าถ้าหากพบประเด็นทุจริตที่เกี่ยวกับบุคคลในประเทศไทย เขาต้องส่งข้อมูลให้ทางประเทศไทยดำเนินการด้วย"