ฟังเพื่อนลุงตู่ ลูกอันวาร์ แนวร่วมฯ ชาวบ้าน พูดถึงผู้อำนวยความสะดวกฯดับไฟใต้คนใหม่
มีมุมมองที่หลากหลายต่อ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) ที่ได้รับแต่งตั้งจาก ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยคนใหม่
โดยเฉพาะในแง่ของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม...
เพราะภาพของ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ นอกจากจะเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย ในช่วงที่ ดร.มหาธีร์ เคยเรืองอำนาจเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกแล้ว ภาพจำของเขาในสายตาคนทั่วโลกก็คือ การชกหน้า อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ช่วงที่ถูกจับกุมหลังขัดแย้งกับ ดร.มหาธีร์ เมื่อปี 2541
แต่จากหน้าที่ความรับผิดชอบที่ดูแลงานด้านความมั่นคงมานาน ทำให้ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้คนใหม่ มีความรู้จักสนิทสนม และเคยร่วมงานกับอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยหลายๆ คน หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเคยทำงานด้านความมั่นคงชายแดน โดยเฉพาะชายแดนไทย-มาเลเซียมาเนิ่นนาน
พล.อ.อกนิษฐ์ เรียกขานอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลย์รายนี้ว่า "ตัน สรี ราฮิม" เขาเล่าว่ารู้จักกับ "ตัน สรี ราฮิม" เป็นอย่างดี เป็นคนที่เชี่ยวชาญงานความมั่นคงมาก ปฏิบัติการข่าวลับมาโดยตลอด กระทั่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซียในที่สุด
ในมิติการประสานงานร่วมกับไทย "ตัน สรี ราฮิม" ทำงานร่วมกับ พล.อ.อกนิษฐ์ มาตั้งแต่ปี 2529 เพื่อแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม. ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงครั้งใหญ่ของมาเลเซีย เมื่อประสบความสำเร็จ และมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยปะทุขึ้นมา ดร.มหาธีร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงมอบหมายให้ "ตัน สรี ราฮิม" มาช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ของไทยบ้าง และมุ่งมั่นถึงขนาดว่าต้องแก้ให้สำเร็จภายในเวลา 2 ปี
"ตัน สรี ราฮิม เป็นมือขวาของ ดร.มหาธีร์ เมื่อได้ไฟเขียวให้มาช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ ก็เคยบินมาพบผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายครั้ง ช่วงนั้นเป็นยุครัฐบาลคุณชวน หลีกภัย มี พล.ท.กิตติ รัตนฉายา เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 (ยศในขณะนั้น) แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล และเปลี่ยนตัวแม่ทัพ ก็ล้มกระดานความร่วมมือนี้ไป นโยบายการแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 2 ปีก็ยุติลง" พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว
อดีตนายทหารซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อย จปร.กับนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังบอกอีกว่า "ตัน สรี ราฮิม" เป็นคนเอาจริงเอาจัง ตรงไปตรงมา และไม่ค่อยมีเล่ห์เหลี่ยม เมื่อพิจารณาบวกกับ ดร.มหาธีร์ ที่กลับมาเป็นนายกฯอีกหนึ่งสมัย และมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาภาคใต้ของเราให้ได้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ปัญหาภาคใต้จะได้รับความสนใจ และแก้ไขอย่างจริงจังอีกครั้ง
จับตาไทยปรับทีมพูดคุยฯ
ความเห็นของ พล.อ.อกนิษฐ์ สอดคล้องกับแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงของไทย ที่ประเมินว่า การใช้อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลอย่าง "ตัน สรี ราฮิม" มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบานการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีความเหมาะสมมากกว่า ดาโต๊ะซัมซามิน (ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม) ซึ่งเป็นอดึตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง เพราะตำรวจสันติบาลมาเลเซียมีอำนาจเต็มตามกฎหมายความมั่นคงภายใน และรู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากชายแดนภาคใต้ของไทยที่เข้าไปกบดานอยู่ในมาเลเซียเป็นอย่างดี การตั้งอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกจะช่วยให้กระบวนการพูดคุยและการแก้ไขปัญหาไฟใต้ของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาก็คือ คณะพูดคุยฯฝ่ายไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลด้วยหรือไม่ เพราะอาจต้องปรับทีมเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น "ของจริง" ในงานด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันก็มีข่าวกระเซ็นกระสายมาจากฝั่งมาเลย์ว่า อยากให้ไทยหาหัวหน้าคณะพูดคุยฯที่มีอำนาจตัดสินใจบางเรื่องได้ทันที ไม่ต้องคอยกลับมาถามนายกรัฐมนตรีทุกเรื่องเหมือนที่ผ่านมา
แนวร่วมฯเมิน - ชาวบ้านเชื่อพูดคุยคืบหน้า
ด้านแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนรายหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ใน จ.ปัตตานี กล่าวถึงการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ว่า ไม่เคยสนใจตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะเรื่องการพูดคุยเจรจาเป็นแค่ละครฉากหนึ่งแต่ละฝ่ายเล่นกัน
"การพูดคุยจะได้ผลหรือไม่ได้ผล พวกเราไม่สนใจ และยังเชื่อว่าไม่ได้ผลด้วย ส่วนเราก็ทำหน้าที่ของเรา ตราบใดที่ชาวบ้านยังถูกกระทำ เราก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ" แนวร่วมฯซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชน กล่าว
ขณะที่ นายโฮป (นามสมมติ) อดีตแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งหันหลังให้ขบวนการแล้ว กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ น่าจะเป็นเรื่องดี ส่วนคนใหม่จะดีกว่าคนเก่ามากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรอดู คิดว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมือง เมื่อเปลี่ยนผู้นำประเทศ ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนตาม และคิดว่าทุกคนก็เข้าใจเรื่องนี้ดี ส่วนคนที่ถูกเลือกมาทำหน้าที่แทนคนเก่า คิดว่าต้องมีอะไรดีมากพอ จึงได้รับเลือกมาทำหน้าที่นี้ จึงอยากขอให้ทุกคนรอดูและให้โอกาส
ส่วน นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯน่าจะมีผลต่อการพูดคุย แต่อาจจะช้าหน่อย คิดว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งมาใหม่คงต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความชัดเจน และคิดว่ากลุ่มขบวนการต่างๆ ที่ซ่อนตัวหรือเคลื่อนไหวอยู่ในมาเลเซีย น่าจะถูกกดดันให้เข้าร่วมการพูดคุยมากขึ้นด้วย
นายฮาสบูเลาะ ดอเลาะ คนไทยเชื้อสายจีนใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า การพูดคุยฯจะเดินหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวแทนของแต่ละกลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้ง การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจ นโยบายก็เปลี่ยน คนก็ต้องเปลี่ยน
"ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่คิดอะไรมาก แค่ขอให้สถานการณ์สงบ สามารถอยู่ได้เป็นปกติ ไม่มีคนเดือดร้อน ไม่มีคนตาย เราก็เห็นด้วยทุกเรื่องอยู่แล้ว"
"ลูกสาวอันวาร์" ตอกไม่เหมาะงานสันติภาพ
ไปฟังความเห็นฝั่งมาเลเซียบ้าง หนังสือพิมพ์นิวส์ สเตรท ไทม์ รายงานอ้างความเห็นของ นูรุล อิซซา อันวาร์ (Nurul Izzah Anwar) ลูกสาวของ อันวาร์ อิบราฮิม แกนนำรัฐบาล ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียว่า "ตัน สรี ราฮิม" ไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะอดีตผู้บัญชาการตำรวจรายนี้ เคยกักขังหน่วงเหนี่ยว ปกปิดสถานที่คุมขัง ทรมาน และทำร้ายร่างกายบิดาของตน ในระหว่างที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน (ช่วงที่ ดร.มหาธีร์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก) แม้ "ตัน สรี ราฮิ" จะเคยถูกลงโทษปรับและจำคุก 2 เดือนจากกรณีนี้แล้วก็ตาม
สำหรับ นูรุล อิซซา อันวาร์ ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคพีเคอาร์ ซึ่งเป็นอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มี อันวาร์ อิบราฮิม เป็นผู้นำ และชนะเลือกตั้งพลิกกลับมาเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ด้าน "ตัน สรี ราฮิม" แถลงเรื่องนี้ว่า นูรุล อิซซา อันวาร์ มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น แต่เรื่องที่พูดถึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และตนได้รับโทษไปแล้ว ซึ่งตนจะพยายามทำงานนี้ (ผู้อำนวยความสะดวก) ให้ดีที่สุดตามที่รัฐบาลมาเลเซียมอบหมาย
อย่างไรก็ดี ประเด็นความระหองระแหงกับอันวาร์ อิบราฮิม ถูกประเมินจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า มีความอ่อนไหวต่ออนาคตของโต๊ะพูดคุยฯ โดยเฉพาะหาก ดร.มหาธีร์ ยอมลงจากตำแหน่งนายกฯในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อเปิดทางให้ อันวาร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนตามที่เคยประกาศไว้ ก็มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการพูดคุยจะหยุดชะงักอีก เพราะอาจมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯเป็นคนอื่น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (แฟ้มภาพอิศรา)
อ่านประกอบ : "มหาธีร์" ตั้งอดีต ผบ.สันติบาลมาเลย์ นั่งแท่นผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยดับไฟใต้