รวมศูนย์คดีทุจริต!ป.ป.ช.ต้องรู้ทุกเรื่องก่อนกระจายงาน ยัน ป.ป.ท.ทำงานได้ตาม ม.62
เลขาฯ ป.ป.ช. ยัน ม.62 พ.ร.บ.ป.ป.ช.ใหม่ เปิดช่องให้ ป.ป.ท. ไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนทุจริตได้ ตั้งแต่ระดับ ผอ.ระดับสูงลงมา เหตุปัจจุบันราชการไม่นับระบบซีกันแล้ว ปรับโฉมใหม่รวมศูนย์ข้อมูลกลาง ทุกเรื่อง ป.ป.ช. ต้องรู้ เป็นคนจ่ายงาน
จากกรณีแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งรัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ท. รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก แต่ทำได้แค่เพียงรับเลขที่ตามทะเบียนเท่านั้น ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริง หรือตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ไม่มีการระบุถึงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐว่า ระดับไหนถึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ มาตรา 62 ระบุไว้ชัดเจนว่า สำนักงาน ป.ป.ท. สามารถไต่สวนข้อเท็จจริงตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงลงไป หรือเทียบเท่ากับข้าราชการระดับ 9 (ซี 9) แต่ปัจจุบันระบบราชการได้ยกเลิกระดับ หรือซีไปแล้ว ดังนั้นสำนักงาน ป.ป.ท. สามารถรับเรื่องร้องเรียน แล้วดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือไต่สวนข้อเท็จจริงเองได้ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยไม่มีปัญหาทางข้อกฎหมายแต่อย่างใด
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันภายหลังการออก พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ มีแนวคิดรวมศูนย์กลางคดีทุจริตทั้งหมด จากเดิมสำนักงาน ป.ป.ท. รับเรื่องร้องเรียนข้าราชการระดับต่ำกว่าซี 9 ลงมา ก็ไต่สวนไปเอง โดยที่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ทราบรายละเอียด แต่คราวนี้เรื่องร้องเรียนทุจริตทั้งหมดจะต้องนำมารวมศูนย์เข้าระบบกลาง เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบด้วย ก่อนที่จะสำนักงาน ป.ป.ช. จะสั่งกระจายงานออกไปว่า เรื่องไหนอยู่ในอำนาจขอบข่ายของสำนักงาน ป.ป.ท. หรือพนักงานสอบสวน
“ระบบนี้ ป.ป.ช. จะเป็นคนรวบรวมข้อมูลส่วนกลางทั้งหมด ป.ป.ช. จะต้องรู้หมดว่าเรื่องร้องเรียนกล่าวหาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ตั้งแต่ระดับซี 1-ซี 9 ก่อนจะกระจายเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ไต่สวน เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่เคยรู้เลยว่า ป.ป.ท. ไต่สวนข้าราชการใครบ้าง แต่คราวนี้ ป.ป.ช. ต้องรู้ และการร้องเรียนข้าราชการยังทำได้ทุกหน่วยงาน เพื่อให้เข้าตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.” นายวรวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2560 ระบุว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมามีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งนี้ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานดำเนินการส่งเรื่องที่ได้รับไว้ให้สำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
การเทียบตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่นี่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ฐานเศรษฐกิจออนไลน์