ชัด ๆ ปปง.ถาม-กฤษฎีกาตอบ ทวงเงินกองทุนฯ 5 ล. เบิกจ่ายแล้วเอาคืนยังไง?
“…ทั้งหมดคือคำถาม-คำตอบระหว่างฝ่ายสำนักงาน ปปง. และคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 คณะด้วยกัน ท้ายสุดจึงได้ข้อสรุปว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิเบิกจ่ายเงินกองทุนฯส่วนนี้ ตามที่ สตง. ทักท้วงมาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดีประเด็นที่ต้องโฟกัสต่อไปคือ สำนักงาน ปปง. ได้เบิกจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ไปแล้ว จะทวงคืนกันอย่างไร วิธีการไหน…”
กำลังเป็นประเด็นร้อนในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) !
นอกเหนือจากปมเลขาธิการ ปปง. ที่รับหน้าที่อย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนเศษ ก่อนถูกเด้งไปนั้น ยังมีประเด็นที่สำนักงาน ปปง. จัดสรรเงินกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวงเงิน 5 ล้านบาท ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ด้วย
อย่างไรก็ดีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงมาว่า วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯดังกล่าวตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ.ปปง.) เป็นไปเพื่อจ่ายให้กับผู้สนับสนุน หรือผู้ช่วยเหลือที่ทำให้งานของสำนักงาน ปปง. สำเร็จลุล่วง และเกิดประสิทธิภาพไปได้ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อจ่ายเงินแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. แต่อย่างใด
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างน้อย 2 คณะ ได้ตอบข้อหารือดังกล่าวแล้ว คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่สามารถจัดสรรเงินตามกองทุนฯดังกล่าวแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ได้ เนื่องจากเงินกองทุนฯนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายให้กับผู้สนับสนุน หรือผู้ช่วยเหลือแก่สำนักงาน ปปง. เท่านั้น (อ่านประกอบ : ปปง.ต้องคืนเงินกองทุนฯ 5 ล.! กฤษฎีกาชี้ตาม สตง.ท้วง ยันไว้จ่ายคนสนับสนุน)
เหตุผลสำคัญของ สำนักงาน ปปง. ว่า เหตุใดจำเป็นต้องมีการจัดสรรเงินเหล่านี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. คืออะไร และทำไมคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 2 คณะ ถึงชี้ชัดว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีอำนาจจัดสรรเงินเหล่านี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบหนังสือหารือของสำนักงาน ปปง. และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 2 คณะ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
ข้อกฎหมาย
มาตรา 59/1 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. บัญญัติว่า ให้จัดตั้งกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขึ้นในสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังต่อไปนี้
(1) สนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดี การตรวจค้น การยึด หรืออายัด การบริหารจัดการทรัพย์สิน การแจ้งเบาะแส การคุ้มครองพยาน หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งการสนับสนุนหน่วยงานอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการดำเนินการ
(2) ส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเกี่ยวกับการเผยแพร่ และการให้ข้อมูลข่าวสาร การประชุมหรือการจัดการศึกษาอบรม การร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(3) ดำเนินกิจการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้มีวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
ภายใต้บังคับมาตรา 59/6 ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบการใช้จ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. บัญญัติว่า ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดที่จำเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ให้จ่ายจากกองทุน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ปี 2560 สำนักงาน ปปง. ส่งข้อหารือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (ครั้งแรก)
หากพิจารณาจากถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 จะเห็นได้ว่า ผู้มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ได้แก่ (1) หน่วยงาน (2) บุคคลภายนอก (3) พนักงานเจ้าหน้าที่ (4) ข้าราชการ และ (5) เจ้าหน้าที่
ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับเงินจัดสรรจากกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือค่าตอบแทน เพื่อให้การดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. จึงมิได้หมายความถึงเฉพาะ ‘หน่วยงาน’ หรือ ‘บุคคลภายนอก’ ที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ในการดำเนินงานตามกฎหมาย แต่ยังหมายความรวมถึงสำนักงาน ปปง. ที่เป็นหน่วยงานหลัก และ ‘พนักงานเจ้าหน้าที่ ‘ข้าราชการ’ และ ‘เจ้าหน้าที่’ ของสำนักงาน ปปง. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยตรงด้วย และการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวก็มิใช่สิ่งจูงใจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือเกินขอบเขตได้ เนื่องจากการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือเกินขอบเขตดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ผู้นั้นย่อมได้รับโทษเป็นการเฉพาะตัว มิใช่สิ่งที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงาน ปปง. ตามมาตรานี้
หนึ่ง ‘หน่วยงาน’ ที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. มีความหมายครอบคลุมเพียงใด และสำนักงาน ปปง. ถือเป็นหน่วยงานที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนตามบทบัญญัติมาตรานี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
สอง ‘พนักงานเจ้าหน้าที่’ ‘ข้าราชการ’ และ ‘เจ้าหน้าที่’ ที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนฯตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. มีความหมายครอบคลุมเพียงใด และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนฯตามบทบัญญัติมาตรานี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) พิจารณาแล้ว โดยเชิญผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และผู้แทน สตง. เห็นว่า การดำเนินการของสำนักงาน ปปง. หน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. และมีพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว หากมีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ย่อมมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากกองทุนตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง.
อย่างไรก็ดีในส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอื่นใดของกองทุนตามมาตรา 59/6 ดังกล่าว โดยที่สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. โดยตรง และได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนที่เรียกชื่ออื่น เช่น เงินเพิ่มพิเศษ หรือเงินประจำตำแหน่งตามที่มีกฎหมายกำหนดให้จ่ายแล้ว จึงไม่มีค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งต้องจ่ายแก่สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ในการปฏิบัติหน้าที่ หรือช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอีก
ดังนั้นสำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง.
ต่อมาปี 2561 สำนักงาน ปปง. ส่งข้อหารือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง (ครั้งที่สอง)
สำนักงาน ปปง. ในฐานะเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้รับทราบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ครั้งแรก) แล้ว มีความเห็นต่างในประเด็นข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องขอให้ทบทวนความเห็นดังกล่าวอีกครั้ง ดังนี้
หนึ่ง เรื่องเงื่อนไขการจ่ายเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. ที่มีการไปผูกโยงกับการจ่ายเงินกองทุนตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 59/1 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า มาตรา 59/6 บัญญัติให้กองทุนฯ กรณีจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายหรือกรณีจะต้องจ่ายค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่าย ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 59/1
สำนักงาน ปปง. พิจารณาแล้วเห็นว่า การจ่ายเงินจากกองทุนฯ ตามมาตรา 59/6 เป็นคนละกรณีกับการจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 59/1 เนื่องจากมาตรา 59/6 เป็นกฎหมายเปิดช่องให้สามารถนำเงินกองทุนไปจ่ายนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่กำหนดในมาตรา 59/1 และการจ่ายเงินกองทุนตามมาตรา 59/6 ไม่ต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนมาตรา 59/1 เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้บทบัญญัติมาตรา 59/1 ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 59/6 ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า มาตรา 59/6 เป็นบทมาตราที่มีเงื่อนไขบังคับเหนือกว่ามาตรา 59/1 ดังนั้นการที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า มาตรา 59/6 ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับมาตรา 59/1 นั้น สำนักงาน ปปง. ไม่อาจเห็นพ้องด้วย
สอง เรื่อง ‘ผู้มีสิทธิ’ สำนักงาน ปปง. พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 59/6 บัญญัติเกี่ยวกับ ‘ผู้มีสิทธิ’ ได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากเงินกองทุนฯไว้เพียงว่า ได้แก่ ‘หน่วยงาน’ ‘บุคคลภายนอก’ ‘พนักงานเจ้าหน้าที่’ ‘ข้าราชการ’ ‘เจ้าหน้าที่’ ซึ่ง สตง. ได้มีข้อโต้แย้งโดยนัยว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนตามมาตรานี้ ต้องเป็นหน่วยงานภายนอกหรือบุคคลภายนอกเท่านั้น มิใช่สำนักงาน ปปง. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ปปง. จึงได้มีหนังสือขอหารือต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อขอให้มีการตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าว
การที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำประเด็น ‘ผู้มีสิทธิ’ ได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทน ไปผูกโยงกับประเด็นที่ว่า ‘ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนใดเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่าย’ ตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. หรือไม่ และวินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. โดยตรง และได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้จ่ายแล้ว จึงไม่มีค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ในการปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอีก สำนักงาน ปปง. ไม่อาจเห็นพ้องด้วย
สาม หากคณะกรรมการ ปปง. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ปปง. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามนัยมาตรา 59/6 ก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ สำนักงาน ปปง. ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือต้องดำเนินการอย่างไร จึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
สี่ หากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม สำนักงาน ปปง. พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ปปง. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามนัยมาตรา 59/6 สำนักงาน ปปง. จะต้องดำเนินการอย่างไร ต่อกรณีที่ สตง. มีหนังสือแจ้งยืนยันให้กองทุนฯนี้ ที่สำนักงาน ปปง. ได้รับการจัดสรรเงินค่าตอบแทนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ปปง. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ปปง. และกระทรวงการคลังผ่านคณะกรรมการกองทุนกองป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยสุจริต จะต้องส่งคืนเงินดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือสำนักงาน ปปง. โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และผู้แทน สตง. มีความเห็นดังต่อไปนี้
หนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) กล่าวคือ มาตรา 59/6 ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมาตรา 59/1 สำหรับการใช้จ่ายเงินกองทุนนั้น มาตรา 59/1 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการ ปปง. มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ถ้อยคำที่ว่าภายใต้บังคับมาตรา 59/6 นั้น หมายความว่า การออกระเบียบดังกล่าวต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 59/1 วรรคหนึ่ง และต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 59/6
สอง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) กล่าวคือ ในส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอื่นใดให้แก่สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ตามมาตรา 59/6 นั้น โดยที่สำนักงาน ปปง. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. โดยตรง และได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้ที่ในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนที่เรียกอย่างอื่น เช่น เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษหรือเงินประจำตำแหน่งตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. แล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใด ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่สำนักงาน ปปง. และบุคลากรใน ปปง. ในการปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอีก
สาม เห็นว่า การออกระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ปปง. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง หากคณะกรรมการ ปปง. เห็นว่า การออกระเบียบดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่มีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติจึงไม่ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา
สี่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจในประเด็นที่สองแล้วว่า สำนักงาน ปปง. พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ หรือช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใด ตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. จึงต้องคืนเงินดังกล่าว แก่กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยลาภมิควรได้
ทั้งหมดคือคำถาม-คำตอบระหว่างฝ่ายสำนักงาน ปปง. และคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 คณะด้วยกัน ท้ายสุดจึงได้ข้อสรุปว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิเบิกจ่ายเงินกองทุนฯส่วนนี้ ตามที่ สตง. ทักท้วงมาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดีประเด็นที่ต้องโฟกัสต่อไปคือ สำนักงาน ปปง. ได้เบิกจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ไปแล้ว จะทวงคืนกันอย่างไร วิธีการไหน
เป็นอีกเรื่องร้อนที่สำนักงาน ปปง. ต้องมีคำตอบ !