เสียงค้านหนัก! ‘รศ.จิราพร’ แนะอย.ถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยา -ปัดฝุ่นฉบับก่อนหน้าแทน
‘จิราพร ลิ้มปานานนท์’ แนะ อย.ถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยา หลังเจอเสียงค้านหนัก หากจำเป็นให้ปัดฝุ่นร่างฉบับก่อนหน้ามาใช้
กรณีองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. ... ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากไม่ได้นำข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นหลายครั้งมาแก้ไข อนุญาตให้วิชาชีพอื่นขายยาได้ ไม่แบ่งประเภทยาตามหลักสากล ขาดความรอบคอบในการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยเห็นด้วยที่จะมีการยกร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เพราะ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ที่บังคับใช้ในปัจจุบันโบราณมากแล้ว แต่การแก้ไขกฎหมายต้องแก้ปัญหาเรื่องยาของประเทศได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ มองว่า การจัดแบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากลเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าการอนุญาตให้วิชาชีพอื่นขายยาได้
“พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 อนุญาตให้วิชาชีพอื่นขายยาได้อยู่แล้ว แต่มีข้อกำหนดจะต้องปฏิบัติภายใต้สถานพยาบาลของรัฐ เพราะสถานพยาบาลมีบุคลากรที่คอยกำกับดูแล ดังนั้นจึงจ่ายยาได้” รศ.ดร.จิราพร กล่าว และว่า ประเด็นจึงมองเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องการกีดกันวิชาชีพ เพราะปัจจุบันใช้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลของรัฐ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงมีความละเอียดอ่อนและความสลับซับซ้อนค่อนข้างเยอะ
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า ความจริงมีการพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ยา มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฉบับก่อนหน้านี้ได้มีการแก้ไขตั้งอยู่บนหลักการที่ดีและทุกวิชาชีพเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งหน้าที่ ประเภทยา การจัดการปัญหา แต่ฉบับนั้นขาดเรื่องการขายยาผ่านทางอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ยา ปัจจุบันก็ไม่มีเช่นกัน และยังลดความเข้มข้นในการโฆษณายาอีกด้วย เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจะได้รับความปลอดภัยได้อย่างไร
“กลุ่มเภสัชกรออกมาคัดค้านมีหลายประเด็นมาก ประเด็นหลัก ๆ คือความปลอดภัยในการใช้ยา ทั้งนี้ ยาเป็นธุรกิจใหญ่ สามารถสร้างกำไรได้มหาศาล เพราะฉะนั้นกฎหมายต้องเป็นเครื่องมือที่ดี ถ้าออกมาไม่ดี ก็อย่าออกมา ให้นำร่างกฎหมายฉบับก่อนหน้านี้มาใช้ก่อน”
ส่วนเบื้องหลังมีกลุ่มนายทุนหรือการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องต่อการเร่งรีบแก้ไขหรือไม่ รศ.ดร.จิราพร ระบุไม่ทราบว่ามีเบื้องหลังทางธุรกิจหรือการเมืองหรือไม่ หรืออาจมีทั้งสองอย่าง เพราะว่ามีความพยายามในการทำธุรกิจด้านนี้มากขึ้น ประกอบกับยาเป็นเหมือนธุรกิจที่หอมหวาน
“ควรจะถอนร่าง พ.ร.บ.ยา ออกมาก่อน เพราะมีเสียงคัดค้านมากขนาดนี้ ผิดหลักการขนาดนี้ ถ้าส่งไปยังไงก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นอยากให้มาฟังกัน พูดคุยกัน ให้ตกผลึก จริง ๆแล้ว ถ้าหยิบฉบับก่อนหน้านี้ที่ผ่านกฤษฎีกามาแล้ว ผ่านความตกลงประชาพิจารณ์มาแล้ว มีข้อเสนอสภาเภสัชกรรมแก้ไขกันเรียบร้อย แต่ถ้าจะรีบจริง ๆ แนะนำให้นำฉบับก่อนหน้านี้มาใช้” รศ.ดร.จิราพร กล่าว
ขณะที่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 โดยระบุให้ทุกฝ่ายคลายความวิตกกังวล อย.ย้ำว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงใย ตลอดจนข้อสังเกตอื่น ๆ เพิ่มเติมจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกความเห็นได้รับการพิจารณาอย่างแท้จริงครบทุกด้าน
ทั้งนี้ อย.ยินดีจะพบปะหารือเพื่อชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และยังคงรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นมาดำเนินการแก้ไขในขั้นตอนต่อไปทางกฎหมาย ที่สำคัญ ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และมีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะคุ้มครองประชาชนให้ได้รับประโยชน์ เข้าถึงยาและความปลอดภัยจากการใช้ยา .