ความรู้ทางการเงิน คนไทยอ่อนสุด แบงก์ชาติพบได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย OECD เกือบทุกหัวข้อ
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดผลการสำรวจทักษะทางการเงิน ปี 2559 พบค่าเฉลี่ยทักษะทางการเงินคนไทย อยู่ที่ร้อยละ 61.0 โดยอ่อนที่สุด คือ "ด้านความรู้ทางการเงิน" และกลุ่มเจนเนอเรชั่น Z - Baby Boomer เป็น วัยที่มีคะแนนทักษะทางการเงินต่ำกว่ากลุ่มอื่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลการสำรวจทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ปี 2559 โดยเป็นการสำรวจตามแนวทางของ OECD ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ (1) ความรู้ทางการเงิน (2) พฤติกรรมทางการเงิน และ (3) ทัศนคติทางการเงิน ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยทักษะทางการเงินของคนไทยในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 61.0 โดยคนไทยอ่อน "ด้านความรู้ทางการเงิน" ที่สุด มีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 48.6
สำหรับ "ด้านพฤติกรรมทางการเงิน" มีคะแนนที่ร้อยละ 62.2 และ "ด้านทัศนคติทางการเงิน" มีคะแนนที่ร้อยละ 76.0 ซึ่งในภาพรวม "ทักษะทางการเงิน" ของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2556 และเท่ากับปี 2558 แต่องค์ประกอบในด้านพฤติกรรมทางการเงินมีแนวโน้มลดลงจากปี 2556 และ 2558 เช่น การไม่ตั้งเป้าหมายระยะยาว ขาดการดูแลบริหารเงินของตนเองอย่างใกล้ชิด ไม่ชำระค่าใช้จ่ายตรงตามเวลาเรียกเก็บ และขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนการเลือกซื้อ ส่วนในด้านทัศนคติทางการเงินปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจ 2 ครั้งก่อน
สำหรับช่วงวัยที่มีคะแนนทักษะทางการเงินต่ำกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ กลุ่มเจนเนอเรชั่น Z (อายุต่ำกว่า 16 ปี) กลุ่มเจนเนอเรชั่น Baby Boomer ขึ้นไป (อายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป)
นอกจากนั้น หากพิจารณาทักษะทางการเงินตามภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เป็นภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินต่ำที่สุด ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคใต้ มีคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินสูง
สำหรับจุดอ่อนทักษะทางการเงินในมิติต่าง ๆ นั้น
- ด้านความรู้ทางการเงิน พบว่า คนไทยได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย OECD เกือบทุกหัวข้อ ยกเว้นเรื่องการคำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยเงินฝาก โดยจุดอ่อนของคนไทยที่ยังคงพบต่อเนื่อง เช่น มูลค่าเงินตามกาลเวลา ดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่นเดียวกับการสำรวจครั้งก่อน ๆ
นอกจากนี้ หัวข้อที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย OECD คือ นิยามเงินเฟ้อ ซึ่งความไม่เข้าใจเรื่องภาวะเงินเฟ้ออาจเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยวางแผนการเงินเพื่อยามเกษียณไม่เหมาะสมเนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของเงินที่ลดลงไปตามกาลเวลา
- ด้านพฤติกรรมทางการเงิน พบว่า แม้ในภาพรวมจะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD แต่มีจุดที่ควรพัฒนาต่อไปในด้านการจัดสรรเงินก่อนใช้จ่าย การบริหารจัดการเงินเพื่อมิให้ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ การศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการออมควรได้รับการส่งเสริมให้ดีขึ้น เนื่องจากพบว่ากว่า 1 ใน 3 ของคนไทยไม่มีเงินออม โดยผู้ที่มีเงินออมส่วนใหญ่มักออมเงินเผื่อฉุกเฉิน/เจ็บป่วย และเพื่อใช้จ่ายยามชราหรือเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม พบว่าคนไทยกว่า 1 ใน 3 ยังมีจำนวนเงินออมเผื่อฉุกเฉินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (พอสำหรับค่าใช้จ่าย 3 เดือน) และมีเพียง 14% ที่วางแผนเก็บออมเพื่อยามชราและสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้
และด้านทัศนคติทางการเงิน พบว่า ทัศนคติที่คนไทยควรได้รับการพัฒนาที่สุด คือ นิยมความสุขในการใช้เงินมากกว่าการออมเพื่ออนาคต
หมายเหตุ:จำนวนกลุ่มตัวอย่างเจนเนอเรชั่น Z มีเพียง 0.2% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จึงอาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด
อ่านประกอบ:สรุปผลการสำรวจทักษะทางการเงิน ปี 2559 และแนวทางการดำเนินการของ ธปท.